xs
xsm
sm
md
lg

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เล่าเรื่องการยึดอำนาจและทหารกับการเมืองไทย 40 ปีที่แล้ว

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

                                    (1)

5 พ.ค. 2554

อาจารย์ ที่เคารพ

จดหมายจากลอนดอนทั้ง 2 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2514 เกือบ 40 ปีพอดี ผมตอบไปแล้วนะครับ

ที่ตอบมาวันนี้ แก้ไขเพิ่มเติม เพราะกาลเวลาที่ผ่านไป การเมืองไทยมันเลวลง การเลือกตั้งเลวลงอย่างอาจารย์ไม่มีทางคิดถึง การทหารก็เลวลง มันอาศัยเงินผูกขาดอำนาจซื้อบ้านซื้อเมือง ซื้อทหาร ซื้อข้าราชการ ซื้อกฎหมาย และซื้อประชาชนได้ทุกอย่าง มันอ้างว่าการเลือกตั้งเท่านั้นคือประชาธิปไตย

ขณะนี้เมืองไทยกำลังขัดแย้งกับเขมร มันโจมตีเราอยู่หมัดทุกสนามรบ ทั้งในหน้าอินเทอร์เน็ต หนังสือพิมพ์ทุกประเทศ และองค์การระหว่างประเทศทุกองค์การ ฟังทหารเก่าคร่ำครวญแล้วให้สุดสงสาร

โชคดีนะครับที่อาจารย์พ้นไปเสียได้ หาไม่แล้วจะพบไทยอพยพสี่ห้าหมื่นหนีกระสุนเขมรกระเจิดกระเจิงทิ้งบ้านทิ้งช่อง เพราะรัฐบาลและกองทัพไม่สามารถปกป้องคุ้มครองเขาได้ ถ้าผมเป็นหนึ่งในหมู่ชาวไทยอพยพ ผมจะฟ้องแม่ทัพนายกอง รมว.กลาโหมและนายกรัฐมนตรีให้ติดคุกหัวโต เพราะบกพร่องและละเลยการปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงในชีวิตและทรัพยสินของราษฎร

อาจารย์ครับ ชาติหน้าถ้าอาจารย์จะเกิดใหม่ ผมเลือกแล้ว ไปเกิดเป็นลาวกับผมเถิด จะได้มีโอกาสเกื้อกูลพี่น้องคนไทยบ้างก็ยังดี

                                                 เคารพคิดถึง

                                                  ปราโมทย์

                                    (2)

จดหมายจากอาจารย์ป๋วย 20 พ.ย. 2514

3 Barton Close, Cambridge, England
20 พฤศจิกายน 2514

คุณปราโมทย์ที่รัก

ผมได้รับ จม. 24 ต.ค. ของคุณแล้ว (วันนี้) มาถึงช้าเพราะคุณจ่าหน้าซอง UK แล้วคงไปษณีย์ที่ฝรั่งเศสงง เพราะไม่รู้ภาษาอังกฤษ เลยมีใครเขียนเติมว่า England

เรื่องที่คุณมาถึงอังกฤษช้านั้นผม anxious อยู่ แต่ก็เกรงว่าจะเป็นอันตรายเท่านั้น ไม่ได้วิตกเรื่องอื่น และที่พิรุณมาอยู่กับผมนั้น ไม่ได้ทำความลำบากอันใด ตรงกันข้ามแกทำอาหารเก่งให้รับประทานและยังช่วยผมทำ Catalogue เอกสารเรื่องเมืองไทยในห้องสมุดของผมด้วย เป็นประโยชน์มาก อยากให้คุณทั้งสองอยู่นานๆ ด้วยซ้ำ

คำว่า People’s Democracy (ประชาธิปไตยประชาชน) กับ Western Democracy (เสรีประชาธิปไตยตะวันตก) นั้น ค่อนข้างจะ misleading (ทำให้ไขว้เขว) โดยเฉพาะถ้าเอามาเปรียบเทียบกัน ถ้าจะพิจารณาเฉพาะก่อน ผมก็ว่ามี 2 นัย คือ (1) ทุกคนมีเสรีภาพ (2) เสรีภาพนั้นมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ถ้าอย่างนี้ ผมว่าทุกคนจะเห็นด้วยกัน ถ้า People’s Democracy หย่อนทางเสรีภาพ และ Western (capitalistic) Democracy (เสรีประชาธิปไตยตะวันตกหรือนายทุน) หย่อนทางสาธารณประโยชน์ (Social Justice) ก็บกพร่องทั้งคู่ ผมไม่เห็นด้วยทั้งสองอย่าง แต่ถ้าจะให้เลือกจริงๆ แล้ว ผมเลือกข้างเสรีภาพก่อน เพราะเชื่อว่าถ้าคนเราพูดกันได้ตามใจมีสิทธิถกเถียงกันได้จริงๆ ผลสุดท้ายก็ต้องได้สาธารณประโยชน์ ถ้าตัดเสรีภาพไปเสียไม่ว่าจะเป็น Fascist (ฟาสซิสต์) หรือ communist (คอมมิวนิสต์) ผลสุดท้ายจะตัดสาธารณประโยชน์ไปด้วย เพราะ dictatorship by definition (เผด็จการโดยเนื้อแท้) เป็นการตัดสินนโยบายด้วยคนส่วนน้อย

People’s Democracy (ประชาธิปไตยประชาชน) เวลานี้ในเมืองจีน เขาทำดีพอสมควร มีการปกป้องผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยและยกย่อง underdogs (ผู้ที่เสียเปรียบเป็นเบี้ยล่าง) ในอังกฤษและอเมริกาเขาเน้นเสรีภาพกัน แต่ก็รังแก underdogs (ผู้ที่เสียเปรียบเป็นเบี้ยล่าง) ตามวิสัย capitalism (นายทุน) อยู่ แต่ถ้าดู Scandinavia (สแกนดิเนเวีย) ซึ่งเป็น Socialist (สังคมนิยม) มาหลายปีแล้ว รู้สึกว่าจะทำประโยชน์ดีกว่าทั้งสองระบบ อย่างไรก็ตามใน Western World (โลกตะวันตก) มี Dimension (แง่มุม) อีก 1 ซึ่งเรามักจะลืมกันไป คือ Civilised Behaviour (พฤติกรรมที่มีอารยธรรม) บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีความเมตตากรุณากัน ไม่ยิงเป้ากัน (หมายถึงรัฐบาล) ไม่เหมือนเมืองไทย

ผมเขียนมาข้างต้น ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าสอนหนังสือสังฆราช แต่คงรับฟัง Economist (นักเศรษฐศาสตร์) ตามวิสัยของ Political Scientist (นักรัฐศาสตร์)ไม่ใช่หรือ

หวังว่าคงข้ามมาคุยกันอีกในไม่ช้า

                                                 รักและคิดถึง

                                                     ป๋วย

                                     (3)

จดหมายจากอาจารย์ป๋วย 30 พ.ย. 2514

3 Barton Close, Cambridge, England
30 พฤศจิกายน 2514

คุณปราโมทย์ ที่รัก

คุณคงได้รับ จม. ของผม 20/11 ซึ่งรีบตอบ จม.ของคุณแล้วเกี่ยวกับการ “ปฏิวัติ” นั้น คำว่าปฏิวัติ ทั้งคราวก่อนและคราวนี้ เป็นการหมิ่นประมาทพวก Revolutionaries จริงๆ ตั้งแต่ French Revolution มาจนถึง Che Quevera เพราะเป็นเรื่องที่คนมีอำนาจแล้ว รวบอำนาจหมดเอาเอง ไม่เห็นต้องผจญภัยกับอะไรเลย มองอีกแง่หนึ่ง ก็มหาโจรบ่นว่าโจรเล็กๆ น้อยๆ กวนใจเลยทำเสียให้เข็ด

ข่าวเคลื่อนไหวก็มีแต่นิสิตจุฬาฯ บางคนอยากประท้วงแต่ถูกห้าม และประธานสโมสรนิสิตเลยพูดสนับสนุนคณะปฏิวัติไปเสีย ทางธรรมศาสตร์เรา สโมสรนักศึกษามีประธานกับผู้แทนคณะทุกคนออก “แถลงการณ์ฉบับที่ 1” ประท้วงและชวนนักศึกษาไปวางพวงหรีดที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขาทำเข้าทีดีผมชอบ ปรากฏว่ามีผู้คนถูกตำรวจจับ (และมีลูกชายคุณอภัย จันทวิมล ซึ่งเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับไมตรีที่สาธิตจุฬาฯ และเป็นผู้แทนคณะนิติศาสตร์ด้วย 1 คน) ทางนักศึกษาทั้งหลายก็บอกกล่าวว่า ถ้าตำรวจไม่ปล่อยจะเดินทางไปกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ปรากฏว่าตำรวจปล่อยออกมาในไม่ช้า ผมได้ข่าวเท่านี้ ที่ มธ.ก็มีติด posters คัดค้าน แต่ถูกเก็บหมด

สังเกตดูแล้ว เหตุผลเป็นเรื่องภายในมากกว่าปัญหาระหว่างประเทศ กล่าวง่ายๆ คือ หัวหน้าพรรค สปท.คุมพรรคไม่ได้ งบประมาณก็มีหวังจะไม่ผ่านสภา ร่างกฎหมายก็ไปค้างอยู่หลายฉบับที่พรรค นั่นอย่างหนึ่ง อีกเหตุหนึ่ง คือเกิดทะเลาะกันใหญ่ในคณะรัฐมนตรีเรื่องบันทึกของบุญชนะ ในวันเดียวกันที่ ครม.ประชุมเรื่องบุญชนะนั้น อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ก็ลาออกจาก รมต.ศึกษาฯ และว่า กฤษณ์ สีวะรา ก็ลาออกด้วย ที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือมีทหารชั้นพลตรีพลโท 5 คนเขียนบันทึกถึงจอมพลถนอมในเดือนกันยายน 2 ฉบับ หรือ 3 ฉบับ ขอให้ชำระการทุจริต และปกครองด้วยความเข้มแข็ง ผมไม่ได้เห็นบันทึกนี้ เข้าใจว่า เป็นการขู่ว่า ถ้าทหารเก่าปกครองไม่ได้ คณะทหารหนุ่มจะยึดอำนาจ พวกทหารเก่าคงจะต้องการ forstall พวกทหารหนุ่มกระมัง? และเรื่องบันทึก “ทหารหนุ่ม” นี้ไม่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์

มีผู้ให้ความเห็นว่า coup คราวนี้เป็นกลลึกซึ้งของประภาสใช้ถนอมเป็นตัวเชิด แต่ประภาสได้เปรียบทุกทาง โดยสามารถกำจัดสง่าและแสวงไม่ให้มีอำนาจต่อไป เพราะสง่าและแสวงเป็นผู้ขัดคอประภาส ทั้งสองคนไม่มีชื่อในคณะปฏิวัติ 25 คน

ส่วนถนัด คอมันตร์ เมื่อ 2 วันก่อนยังมีชื่อไปประชุม ASEAN Foreign Ministers Meeting ที่ Kuala Lumpur แต่เรียกชื่อตำแหน่งว่า Special Envoy

พวกเราจะคิดอ่านอย่างไร ผมเองคิดว่า จะต้องรักษาไว้ (1) สิทธิเสรีภาพในการเขียน ฯลฯ และ (2) หลักประชาธิปไตยโดยพยายามเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด แต่ไม่ช้ากว่า 6 เดือน จะทำอย่างไร 2 ข้อนี้ ขอผมดูก่อน

ผมจะไปกรุงเทพฯ 7-10 ธ.ค. ก่อนไปสัมมนาเรื่อง rural development ที่ Manila จะไปดูลาดเลา ถ้ามีโอกาสก็จะพูดอย่างเปิดเผย (ถ้าถูกจับคงมีพวกหนุนบ้าง) วันที่ 22 ธ.ค. ผมจะกลับมาลอนดอน และจะอยู่ลอนดอน 41 Lavenham Road London SW 18 จนถึง 3 ม.ค. จึงกลับมา Cambridge ผมจะลา Cambridge ทั้งเดือน โดยไปอยู่ลอนดอนพรุ่งนี้จะเดินทาง

หวังว่าจะคุยกันมาอีก ถ้าจะเขียนถึงผมระหว่างที่ผมอยู่กรุงเทพฯ ก็เขียนไปที่คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.หรือมิฉะนั้นรอจนผมกลับลอนดอน

หวังว่าคงสบายดี ไม่กลุ้มนัก

                                                รักและคิดถึง

                                                    ป๋วย

หมายเหตุ

ขณะนั้น ผมลา มธ. 6 เดือน ไปอยู่มหาวิทยาลัยปารีส เพื่อศึกษารัฐธรรมนูญและนายปรีดี พนมยงค์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ข้อคิดและกรณีกิจของอ.ป๋วยขณะนั้นขึ้นกับมิติของกาลเวลา และโครงสร้างการเมืองตอนนั้น ซึ่งยังไม่มีการซื้อเลือกตั้งอย่างเป็นระบบ ที่เริ่มเกิดในยุคพลเอกเปรมติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมจะไม่อธิบายอะไรในตอนนี้เอาไว้เขียนต่อฉบับหน้า

กำลังโหลดความคิดเห็น