ภัยพิบัติในสมัยโบราณได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารโบราณหลายเรื่อง โดยเฉพาะทางลานนา เวลาเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรงประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก นักบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถอธิบายเหตุผลได้ จึงมักกล่าวว่าภัยพิบัติที่เกิดขึ้น เพราะผู้คนทำความชั่ว ผู้ปกครองไม่อยู่ในศีลธรรม ทำให้บ้านเมืองเกิดอาเพช และล่มสลายในที่สุด เมืองต่างๆ จึงพังทลายเพราะแผ่นดินไหว น้ำท่วม ผู้คนล้มตาย เช่น เรื่องเวียงหนองล่ม เป็นต้น
สำหรับในภาคกลางนั้น ไม่มีเรื่องภัยพิบัติเพราะแผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมเมือง แต่อาเพชเกิดขึ้นเพราะโรคภัยระบาด ซึ่งเรียกว่า “โรคห่า” ห่าดังกล่าวมิใช่โรคอหิวาต์เท่านั้น แต่หมายถึงโรคระบาดทั่วไป เช่น ไข้รากสาด กาฬโรค “ห่า” สมัยโบราณหมายถึง ห่าฝนที่ตกลงมา ทำให้เปียกปอนกันอย่างรวดเร็วเหมือนกับโรคระบาด ดังเมืองอโยธยาเกิดร้างลา เพราะโรคห่าระบาด
แต่ในกรณีที่เกิดภาวะอดอยาก เพราะฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ปลูกข้าวและปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า เรียกกันในเอกสารโบราณว่า “ข้าวยากหมากแพง”
ข้าวยากหมากแพง ความหมายที่แท้จริง คืออะไร
ข้าวเห็นจะไม่ต้องแปล แต่อธิบายว่า คือข้าว คืออาหารที่ใช้เลี้ยงประชากรในโลกมากกว่าครึ่ง ข้าวเป็นทั้งแหล่งพลังงานที่สำคัญของร่างกาย แล้วยังเป็นทั้งยาและนำมาแปรรูปทำเป็นอาหารอย่างมากมาย โดยเฉพาะในสังคมไทย ข้าวคือวัฒนธรรม และเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
คุณประโยชน์หลักๆ ของข้าวคือประกอบด้วยสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญ คือ คาร์โบไฮเดรต 70-80 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นโปรตีน ไขมัน ใยอาหาร และส่วนอื่นๆ เช่น วิตามินและแร่ธาตุ แต่การผลิตในปัจจุบันมีการขัดสี ทำให้เกิดความสูญเสีย เช่น รำข้าว จมูกข้าว
ในทางการแพทย์ข้าวเป็นยารักษาโรคทางธรรมชาติ เช่น การบำบัดอาการผิดปกติของระบบย่อยอาหาร การบรรเทาอาการท้องร่วงและท้องผูก ช่วยการควบคุมน้ำตาลกลูโคสสู่กระแสเลือด เป็นต้น
ข้าวในสมัยโบราณของไทยเป็นทั้งยุทธปัจจัย คือ การค้าขายจะต้องอยู่ในความดูแลของพระคลังสินค้า ซึ่งพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแลการค้าโดยเฉพาะ ดังนั้น การอยู่ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติหรืออยู่ในภาวะสงคราม ข้าวจะไม่นำไปขายในต่างแดนเป็นอันขาด
ข้อความในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยที่จำกันได้ดี คือ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” อันแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ซึ่งนิยมใช้กันเรื่อยๆ มา
คำว่า ข้าว นอกจากจะใช้หมายถึง ต้นข้าวยังมีคำอื่นๆ ในศิลาจารึก เช่น คำว่า “เยียข้าว” หมายถึงยุ้งฉางข้าว บางครั้งมีความหมายกว้างออกไป เช่น “กูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าข้าว” ข้าวในที่นี่หมายถึง ขวบปีของอายุ หรือ “เห็นข้าวท่านบ่ใคร่พิน เห็นสินท่านบ่ ใคร่เดือด” ข้าว หมายถึงสิ่งของที่มีค่า
ส่วนคำว่า “หมาก” นั้น ความหมายที่แท้จริงนั้นคืออะไร
หมาก ในภาษาไทยนั้น พจนานุกรมให้ความหมายถึงต้นปาล์มหลายชนิด โดยเฉพาะชนิดหนึ่งที่มีรสฝาด ใช้เคี้ยวกับปูนและพลู รวมเรียกว่า “กินหมาก” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในสังคมไทย ถูกยกเลิกเรื่องการกินหมากไปในสมัยท่านผู้ปกครองนำมาลาไปสู่อำนาจ และในความหมายหนึ่งใช้เรียกสิ่งของที่เป็นหน่วยเป็นลูก เช่น หมากเก็บ หมากรุก หมากฮอส สมัยหนึ่งเราเรียกการเตะฟุตบอลว่า “หมากเตะ” แต่ไม่เป็นที่นิยมกันเพราะเป็นภาษาไทยมากเกินไป ทั้งที่ไพเราะเพราะพริ้ง
อีกความหมายหนึ่ง อธิบายว่า หมาก คือ ผลไม้ เช่น หมากขาม แต่ต่อมาเสียงกร่อนเป็นมะขาม ดังนั้น แต่เดิมคำว่าหมาก คือ ผลไม้มีทั้งรสเปรี้ยวและรสหวาน ดังคำในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยมีคำว่า หมาก คือผลไม้หลายคำ เช่น “มีหมากพร้าวมากกลาง” “กูได้หมากส้ม หมากหวาน อันใดอร่อยกินดีกูเอามาแก่พ่อกู”
มีข้อความในศิลาจารึก กล่าวถึงการจัดพุ่มในงานกฐินที่กล่าวว่า “มีพนมเบี้ย พนมหมาก มีพนมดอกไม้” คือการจัดพุ่มเงินทอง พุ่มผลไม้ และพุ่มดอกไม้ อันเป็นการแสดงถึงการจัดพุ่มในการทำบุญกฐินในสมัยสุโขทัย
ดังนั้น จึงน่ายุติกันได้ว่า “ข้าวยากหมากแพง” นั้น อธิบายว่า เป็นสมัยที่อดอยากเพราะข้าวหาได้ยากลำบาก และผลไม้นั้นยังแสนแพงซื้อหาลำบาก
มีคำถามว่า ทำไมต้องดึงผลไม้มากล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอย่างไร
ในบันทึกของชาวตะวันตกที่เข้ามาในสมัยอยุธยาโดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่าคนสยามชอบกินผลไม้มาก วันหนึ่งจะนั่งกินได้ทั้งวัน กล่าวได้ว่ากินแทนอาหารเลยทีเดียว
ดังนั้น ตามปกติถึงแม้ว่าคนไทยจะไม่มีข้าวกิน แต่ก็ยังมีผลไม้เป็นอาหาร เรียกว่า เป็นสิ่งแทนกันได้ แต่เมื่อข้าวก็ยากหมาก (ผลไม้) ก็ยังแพงอีก เรียกได้ว่าคนไทยอยู่ในยุคแสนเข็ญ เพราะไม่มีอะไรจะกิน
กล่าวถึงเรื่อง “หมาก” แล้วก็จะกล่าวคำว่า “พลู” เพราะมิได้หมายถึงเพียงใบพลูที่เขาใช้กินกับหมากเท่านั้น เพราะในปัจจุบันคำว่า พลูนั้นมีความหมายถึงไม้เลื้อย ที่มักนำมาเป็นพืชประดับและพืชสมุนไพร เช่น พลูด่าง พลูจีน พลูเหลือง
คำว่า พลู มีปรากฏในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย มีคำว่าพลูที่บอกอะไรได้หลายอย่าง ดังเช่นมีว่า “สร้างป่าหมากป่าพลู” และ “มีป่าหมากป่าพลู มีไร่ มีนา”
เห็นได้ว่า คำว่า “พลู” น่าจะมีความหมายที่กว้างกว่า คนปัจจุบันเข้าใจกัน เพราะคำว่า “สร้างป่าหมากป่าพลู” นั้น หมายถึง ปลูกสวนผลไม้และพืชผัก และคำว่า “มีป่าหมากป่าพลู มีไร่ มีนา” อธิบายว่า ในเมืองสุโขทัยมีสวนผลไม้ สวนพืชผัก ไร่ในจารึกหมายถึง ต้นไม้ทั่วไปที่นำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้านเรือน และต้นไม้ทำผลประโยชน์อื่นๆ ส่วนนา คือ ที่สำหรับปลูกข้าว
ดังนั้น เมืองสุโขทัยจึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไม้ผล พืชผัก และไร่นา อันเขียวชอุ่ม เพราะพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นผู้ส่งเสริมให้ปลูกต้นไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหารหลายประเภทในเมืองสุโขทัย เมืองที่เคยแห้งแล้ง ก็กลับอุดมสมบูรณ์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน