xs
xsm
sm
md
lg

เขมร...“เกเร!”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

คนไทยทุกคนต่างตระหนักถึงปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา ช่วงระยะหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะล่าสุด เมื่อประมาณ 10 กว่าวันที่สถานการณ์ปะทะกันตามแนวตะเข็บชายแดนยังดีๆ หายๆ ปากบอกว่าจบ แต่ยังมีการปะทะกันจนทหารไทยเสียชีวิตไปเกือบ 10 รายแล้ว

แต่เป็นกรณีประหลาดอย่างมาก ที่สถานการณ์ไทย-กัมพูชาช่วงที่บ้านเรามีนายกรัฐมนตรีชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ที่นายกษิต ค่อนข้างออกอาการมากไปหน่อยกับการเรียกขาน สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาว่า “กุ๊ย!”

ในช่วงของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย เริ่มตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร มาต่อยอดในสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และตามด้วย นายสมัคร สุนทรเวช กับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั้น สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา น่าจะอยู่ในสภาวะปกติที่ไม่มีอะไรหวือหวามากมายนัก

แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ น่าจะออกมาดีด้วยซ้ำไป ด้วยการค้าขายระหว่างกัน ที่มีมูลค่าเม็ดเงินตกวันละประมาณ 100 กว่าล้านบาททุกวัน แถมบรรดาบ่อนการพนันฝั่งปอยเปต นักพนันเดินทางเข้าออกกันเป็นว่าเล่น ซึ่งน่าจะส่งเสริมรายได้ประเทศกัมพูชา เฉพาะบ่อนการพนันวันละประมาณหลายร้อยล้านบาททีเดียว

พอมาถึงยุคของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งอาจไม่ให้ความสำคัญอะไรมากมายนักกับความสัมพันธ์กับกัมพูชา จะมีเพียงแต่นายกษิต ภิรมย์ ที่มีภาษาการทูตแบบ “ไม่ใช่การทูต” เรียกว่า “ตรงไปตรงมา” มากเกินไป จนทำให้ความสัมพันธ์ช่วงก้าวแรกออกอาการปั่นป่วน

ว่ากันตามเป็นจริงแล้ว นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรียกว่านับครั้งได้ที่ออกมาพูดจาแสดงท่าทีในเชิงไม่สร้างสรรค์กับผู้นำกัมพูชา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะมีก็แต่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยเท่านั้น เพียงแต่ประเด็นสำคัญเกิดจากสาเหตุ 2-3 ประการดังนี้

หนึ่ง กรณีคณะกรรมการมรดกโลกประกาศตัวปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาเมื่อปี 2551 ที่ยังมีบริเวณรอบๆ ปราสาท 4.6 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 3,000 ไร่) ที่ยังหาข้อยุติใดๆ ไม่ได้ จากคณะกรรมการหลากหลายฝ่าย

สอง กรณีที่นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสมเด็จฮุนเซน เซ็นแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนตาม “มารยาทสากล” คงไม่มีใครกล้าทำกัน และ

สาม กรณีอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเดินทางเข้าเยี่ยมนายกรัฐมนตรีฮุนเซนอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งข้อสงสัยของคนไทยที่ว่า คุณทักษิณนั้น น่าจะมี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” กับรัฐบาลกัมพูชา ทั้งในกรณีอ่าวไทย และเกาะเล็กแถบแนวตะเข็บตราด-กัมพูชา ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบชัดเจน

แต่ทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดจาก “ความไม่พอใจ” ของรัฐบาลกัมพูชาจากกรณีต้องการบริหารพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร จนเลยเถิดมาถึงกรณีพิพาทดินแดนระหว่างไทย-กัมพูชากับ “ปราสาทตาควาย” และ “ปราสาทตาเมือนธม” นอกเหนือจากหลายพื้นที่ที่ไม่มีเขตแดนปักปันอย่างชัดเจนระหว่างไทย-กัมพูชา

เป็นกรณีที่แปลกอย่างมาก ที่ในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับกลุ่มการเมืองของเขานั้น ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ต้องเรียกว่า “ราบรื่นมาก!” แต่พอมาในช่วงของนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เริ่มขึ้นช่วงต้นปี 2551 นั้น ความสัมพันธ์เกือบขาดสะบั้น เมื่อฮุนเซนแต่งตั้งคุณทักษิณ เป็นทั้งที่ปรึกษารัฐบาลด้านเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาส่วนตัว

ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา” นั้น เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2493 หรือประมาณ 61 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ต้องเรียกว่า “ลุ่มๆ ดอนๆ!” มาโดยตลอด เนื่องด้วย เหตุการณ์และสถานการณ์ทั้งของบ้านเมืองกัมพูชาและบ้านเมืองไทย โดยเฉพาะปัญหาปราสาทพระวิหารและเขตพรมแดน

“ความผันผวนความสัมพันธ์” นั้น ต้องเรียกว่า “เขมรเกเร!” มากกว่าในช่วงปี 2502-2504 และช่วงที่สำคัญที่สุด ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยถูกประชาชนชาวเขมรเผา เหตุผลสำคัญเกิดจากนางเอกสาวสุวนันท์ คงยิ่ง กล่าวดูหมิ่นชาวเขมร ซึ่งเป็นยุคของคุณทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกือบเกิด “โกลาหล” ในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ล่าสุดนั้นที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่า “ผู้อยู่เบื้องหลัง” จริงๆ แล้วคือ ฮุนเซน และคณะ และน่าจะบวกเอาคุณทักษิณ ที่แนะนำอะไรบ้างสำหรับสร้างสถานการณ์เพื่อก่อให้เกิดการยั่วยุให้ “กองทัพ” และ/หรือ “ตัวแทน” จาก “ประธานอาเซียน” หรือเลยเถิดไปจนถึง “กองทัพสหประชาชาติ” ที่นำกำลังเข้ามาเป็น “กรรมการ” ไม่ให้มีการกระจายการปะทะกันไปจนการสู้รบระดับ “สงครามภูมิภาค”

ทั้งนี้ สถานการณ์ไม่น่าจะนำพาไปสู่จุดสงครามอย่างแน่นอน เพราะนานาอารยประเทศต่างตระหนักดีว่า “การปะทะ” กันระหว่างกองทัพไทย-กัมพูชาตามแนวตะเข็บชายแดนนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และที่สำคัญที่สุดคือ “เขมรเริ่มก่อน!”

ดังนั้น ต้องเรียนตามตรงว่า สมเด็จฮุนเซน นั้น เป็นผู้มีอำนาจมหาศาลกับกระบวนการตัดสินใจในทุกกรณี และ “การเลือกตั้ง” จะเกิดขึ้นภายในปี 2555 ที่ฮุนเซนต้องการปลุก “กระแสชาตินิยม” ให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดทิศทางทางการเมืองแก่ พล.ท.ฮุน มาเนต ในการเดินเข้าสู่อำนาจการเมืองอนาคต

งานนี้ ดีไม่ดี น่าเชื่อว่า ทุกฝ่ายตระหนักดีหมด และอาจจะนำพาสู่ “ความโกลาหล” และอาจถึงขั้น “โค่นล้มอำนาจ” ของฮุนเซนที่ยึดครองเขมรมาประมาณ 20 ปี ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับ “ชาติอาหรับตะวันออกกลาง!”
กำลังโหลดความคิดเห็น