xs
xsm
sm
md
lg

จีนวางไทยฐานผลิตรับอาเซียน ชี้รัฐเร่งรับมือสินค้านำเข้าทะลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาเปิดเขตเสรีการค้าอาเซียนปี 2558 จีนยักษ์ใหญ่แดนมังกร เร่งสร้างรากฐานการผลิตอิเลคทรอนิกส์ในไทย หวังขยายอาเซียน แนะผู้ประกอบการไทยปรับตัวเร่งสร้างโอกาสเจาะประชากรในภูมิภาค 600 ล้านคน พร้อมรับมือสินค้าแห่ตีตลาด ระบุภาครัฐต้องเร่งกำหนดมาตรการกีดกันสินค้านำเข้าทะลัก ด้านส.การตลาด ชี้ยุคต้นทุนพุ่งสินค้าแห่ปรับราคา ต้องปรับภาพลักษณ์ แพกเกจจิ้ง สกัดยอดขายล่วง ระบุสินค้า 8 เดือน โอกาสปรับราคาขึ้นมีน้อย มั่นใจจีดีพีปีนี้โต 5%

วานนี้(27เม.ย. 2554) สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “โอกาสและผลกระทบของธุรกิจไทยในAEC” หรือการเปิดเขตเสรีการค้าอาฟต้า ซึ่งจะมีผลทำให้ภาษีเหลือ 0% ในปี 2558 หรือในอีก 4ปีข้างหน้านี้ โดยนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มมีหลายประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจและมีความได้เปรียบต้นทุนการผลิตสินค้าที่ต่ำกว่า และยังมีการทุ่มงบการวิจัยและพัฒนาสินค้าเป็นอันดับ 2ของโลก รองจากอเมริกา เริ่มเข้ามาสร้างรากฐานการผลิตสินค้าอิเลคทรอนิกส์ โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อได้รับสิทธิ์ภาษี 0% ในการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าไฮเออร์เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแล้ว

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีการซื้อที่ดินหลายแห่ง เพื่อเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยและใช้เป็นฐานการส่งออกเช่นกัน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวล คือ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์แม้ว่าประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่ง แต่หากจีนเข้ามาตีตลาดในไทย โดยเร่งพัฒนาสินค้าและวิจัยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า ไทยอาจจะโดนจีนเข้ามาช่วงชิงตลาดอุตฯชิ้นส่วนรถยนต์ก็เป็นได้ ดังนั้นอุตสาหกรรมไทยและผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับโลกการค้าที่ไร้พรมแดน โดยเฉพาะการมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดไปยังภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีประชากรร่วม 600 ล้านคน และขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการทำตลาดในประเทศด้วยเช่นกัน

นายสันติ กล่าวว่า การขยายตลาดต่างประเทศ ผู้ประกอบการต้องมีการหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ ทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภค จุดแข็งของสินค้าและความต้องการของผู้บริโภค เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่แม่นยำในการทำตลาด ซึ่งอาจใช้การทำอิเลคทรอนิกส์ มาร์เก็ตติ้ง หรือผ่านทางเฟซบุค เพื่อเป็นการสำรวจไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค รวมถึงวิธีการลงทุนซึ่งจะเป็นลักษณะการจับมือร่วมกับพาร์ทเนอร์ในท้องถิ่น และขณะเดียวกันต้องพิจารณาถึงการต่อยอดการขยายตลาดจากอาเซียนไปสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือกระทั่งออสเตรเลีย รวมถึงการศึกษาระบบลอจิสติกส์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการควรบริหารต้นทุนการผลิตให้ถูกลง เพื่อให้ราคาสินค้าสามารถแข่งขันได้
โดยเฉพาะในอนาคตสินค้าในอาเซียนถูกลง วัตถุดิบประเภทใดที่นำเข้าแล้วถูกลงก็ควรนำเข้ามากกว่า

“ภาครัฐต้องมีมาตรการกำหนดสินค้าที่จะนำเข้ามา เพื่อเป็นการป้องกันสินค้าทะลักเข้าประเทศ และควรบังคับใช้อย่างจริงจัง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ผ่านมามีการกำหนดเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องผ่านมาตรฐาน มอก. ฯลฯ”

ด้านรศ.ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา ผู้อำนวยการส่วนเจรจาการค้าบริการทวิภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการท่ามกลางภาษีที่ลดลงเหลือ 0% ในปี 2558 คือ การมีมาตรการอื่นๆ ขึ้นมาเพื่อกีดกันหรือป้องกันสินค้าที่จะทะลักเข้ามาในประเทศ อาทิ การใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures-SPS) คือ

มาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ควบคุมสินค้าเกษตรและอาหาร ไม่ให้เกิดโทษต่อชีวิต และ/หรือผลเสียต่อสุขภาพของชีวิตมนุษย์ พืช และสัตว์ เพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย หรือกระทั่งการกำหนดการนำเข้าสินค้าจะต้องมีไลเซนส์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามันพืช ประเทศไทยเองก็ต้องมั่นใจเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าเช่นเดียวกัน สำหรับอุตสาหกรรม

***ส.การตลาดชี้กลยุทธ์สินค้าปรับราคา***
นายตุลย์ วงศ์ศุภสวัสดิ์ นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วง 8 เดือน มองว่า ไม่มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นแล้ว หรืออาจจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยในกลุ่มสินค้าอาหาร เนื่องจาก ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคบริโภค ได้ทยอยปรับขึ้นราคา 10% ตามต้นทุนหลักจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นถึง 110เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ทั้งนี้การปรับราคาสินค้าขึ้นหรือไม่จากนั้นต้องขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันโลกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่ผู้ประกอบการปรับราคาสินค้าขึ้น ควรจะเน้นกลยุทธ์ การเพิ่มมูลค่าสินค้าให้มากที่สุด เพื่อให้ชดเชยการขึ้นราคาสินค้ากับผู้บริโภค พร้อมกับออกแคมเปญการตลาดใหม่ ,มุ่งออกสินค้าใหม่ หรือปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่สู่ผู้บริโภค เพราะหากผู้ประกอบการรายใดปรับขึ้นราคาสินค้า โดยไม่มีการบอกให้ผู้บริโภคทราบ ว่าได้ปรับสูตรสินค้าใหม่ ก็อาจจะได้รับผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อสินค้าดังกล่าวลดลง และทำให้มีส่วนแบ่งการตลาดลดลงไปด้วย

“นโยบายการดูแลราคาสินค้าของภาครัฐ อยากปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และไม่ควรบิดเบือนราคาสินค้า เพราะในขณะนี้ผู้บริโภคเข้าใจดีกว่า สินค้าต้องปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น และที่ผ่านมาหลังจากการปรับขึ้นราคาสินค้าไปแล้ว ผู้บริโภคยังไม่ได้เกิดความรู้สึกตื่นตะหนกจนชะลอการจับจ่ายใช้สอยแต่อย่างใด”

ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคของในประเทศช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 10% ในทุกกลุ่มสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม กลุ่มเครื่องดื่ม และสินค้าระดับบน เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่กลับมาฟื้นตัวตามภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้คาดว่า ภายในสิ้นปีนี้ หากไม่เกิดปัญหาวุ่นวายทางการเมือง และราคาน้ำมันไม่สูงขึ้นไปมากกว่านี้ ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะเติบโตสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ที่คาดว่าจะเติบโต 5%
กำลังโหลดความคิดเห็น