xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลือปฏิวัติ : สะท้อนความเบื่อนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

จากปี พ.ศ. 2475 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จนถึงวันนี้กาลเวลาได้ผ่านพ้นไป 78 ปีกว่า ขาดอีกเดือนกว่าๆ ก็จะครบ 79 ปีแล้ว แต่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎรได้หยิบยื่นให้ผ่านแถลงการณ์ และสุนทรพจน์อันสวยหรูยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่คาดหวังไว้แต่อย่างใด ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศที่ปกครองตามระบอบนี้ในโลกตะวันตก เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น จึงทำให้ผู้คนในประเทศค่อนข้างจะผิดหวัง และเป็นเหตุให้เกิดความเบื่อหน่ายต่อการเลือกตั้ง อันเป็นรูปแบบพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถึงแม้ว่าผู้คนในสังคมจะผิดหวัง และเบื่อหน่ายการเลือกตั้งขนาดไหน การเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยก็คงจะดำเนินต่อไป เพียงแต่จะต้องมีการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงเพื่อให้การปกครองตามระบอบนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นเท่านั้น

อันที่จริงการเมืองไทยในรอบ 70 กว่าปีได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้ง ภายใต้แนวคิด 3 ประการตามชื่อของคณะผู้นำการเปลี่ยนแปลงดังนี้

1. การปฏิวัติ

2. การทำรัฐประหาร

3. การปฏิรูป

โดยนัยแห่งความหมายของแนวคิด 3 ประการข้างต้น พอจะนิยามความหมายทั้งโดยพยัญชนะ และอรรถได้ดังนี้

1. คำว่า การปฏิวัติ โดยพยัญชนะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางตรงกันข้ามทั้งรูปแบบและเนื้อหา โดยไม่เหลือรูปแบบและเนื้อหาเดิมไว้ และอรรถหมายถึงการเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง

2. การปฏิรูป โดยพยัญชนะหมายถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ผิดแผกไปจากเดิม โดยเพิ่มบางส่วนเข้าไป แต่ยังคงรูปแบบเดิมในส่วนที่เป็นหลักหรือส่วนสำคัญไว้ และโดยอรรถหมายถึง การเสริมสิ่งอันเป็นส่วนเข้าไปเพื่อให้ภาพรวมดีขึ้นและสมบูรณ์ขึ้น

3. การทำรัฐประหาร โดยพยัญชนะหมายถึงการฆ่าหรือการโค่นล้มรัฐ โดยอรรถหมายถึงการใช้กำลังขับไล่ผู้มีอำนาจปกครองรัฐ หรือรัฐบาลออกไปจากตำแหน่ง และตั้งตนเองหรือพรรคพวกเข้าทำการแทน

จากคำนิยามดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทยที่เข้าข่ายการปฏิวัติจะมีอยู่เพียงครั้งเดียว คือ การทำการปฏิวัติของคณะราษฎรในปี 2475

ส่วนในครั้งต่อมาที่เกือบจะเรียกได้ว่าเข้าข่ายการปฏิวัติประชาชน 2 ครั้ง คือ 14 ตุลาคม 2516 และ 19 กันยายน 2549 แต่เมื่อดูลึกลงไปถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติโดยประชาชน จะพูดได้เพียงว่าประชาชนเป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ประชาชนไม่พอใจ และลุกขึ้นขับไล่เท่านั้น เพราะหลังจากรัฐบาลถูกโค่นล้มไปแล้ว ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการปกครองประเทศแต่อย่างใด

สำหรับการปฏิรูปนั้น แทบจะเรียกได้ว่า มิได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควรจะเป็นในแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 ด้านหลัก คือ ด้านการเมือง ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ แต่คงปล่อยไปในรูปแบบเดิมทุกประการ จึงไม่น่าจะเรียกได้ว่ามีการปฏิรูป แต่จะเรียกได้เพียงว่า รัฐประหารภายใต้ชื่อของการปฏิรูปเท่านั้น

ด้วยเหตุที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะภายใต้ชื่อคณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงจะเป็นปฏิวัติ ปฏิรูป หรือรัฐประหาร ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการปกครองรัฐในลักษณะระดมสมองเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาระบบการปกครอง จึงเท่ากับเป็นการเปลี่ยนมือผู้ปกครองประเทศจากประชาธิปไตยเป็นคณาธิปไตยที่มีคนกลุ่มเดียวเข้ามาปกครองประเทศในรูปของเผด็จการ ระบบการปกครองจึงไม่พัฒนาในทิศทางตามที่คนส่วนใหญ่ต้องการให้เป็น

ดังนั้น เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปได้ระยะหนึ่ง คนก็เริ่มเบื่อเผด็จการ และลุกขึ้นมาเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง และในทำนองเดียวกัน เมื่อนักเลือกตั้งปกครองประเทศไม่แก้ปัญหาใดๆ ให้แก่ส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาปากท้อง และความไม่เป็นธรรม คนก็ลุกฮือเรียกร้องให้มีการปฏิวัติ รัฐประหารอีกครั้ง เป็นอยู่อย่างนี้เรื่อยมา และครั้งสุดท้ายคือ 19 กันยายน 2549 และมีการเลือกตั้งในปี 2551 จากปี 2551 มาถึงปัจจุบัน 3 ปีกว่า และมีการประกาศว่าจะยุบสภาเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม ระหว่างรอการยุบสภา ได้มีข่าวลือออกมาว่าไม่มีการเลือกตั้ง และลือถึงกับว่าจะมีการปฏิวัติเงียบ โดยการทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง และจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาเป็นพิเศษ ปกครองประเทศระยะหนึ่ง อาจเป็น 3 ปีหรือ 5 ปีแล้วค่อยจัดการเลือกตั้งอีกครั้ง

ทั้งหมดคือข่าวลือ ส่วนว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือว่าเป็นเพียงความเบื่อการเลือกตั้ง เบื่อนักการเมือง และมีความอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น ไม่มีใครคาดเดาได้

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าข่าวลือที่ว่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นจริง แต่ส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนคือ ความเบื่อนักการเมือง ด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ประการดังต่อไปนี้

1. ไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศโดยตรง

2. แสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และพรรคพวก ทั้งตามน้ำและทวนน้ำ

3. ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งต่างใช้เงินซื้อเสียงเข้ามา และมีการถอนทุนคืน


ทั้ง 3 ประการที่กล่าวมา คือเหตุอ้างในการทำให้เกิดความเบื่อ และเรียกหาการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น