xs
xsm
sm
md
lg

ม.อุบลฯพบมะเขือเทศพันธุ์ใหม่ทนต่อโรคให้ผลใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ หัวหน้าทีมคณะวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ค้นพบมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่
อุบลราชธานี-ม.อุบลราชธานี วิจัยพบมะเขือเทศสายพันธุ์ไทยแท้ มีลักษณะเด่นทนต่อโรคใบหงิกเหลือง และโรคเหี่ยวเขียว ที่เป็นศัตรูตัวร้ายของเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศในประเทศ มะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่ที่พบครั้งนี้ ยังให้ผลใหญ่ได้น้ำหนักมากขึ้น รวมทั้งมีผลแดงเข้ม เนื้อหนา ตรงสเปกโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำมะเขือเทศและซอสมะเขือเทศของไทย

ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งร่วมกับศูนย์วิจัยพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ค้นพบมะเขือเทศพันธุ์ใหม่ที่มีการพัฒนาสายพันธุ์ทนต่อโรคใบหงิกเหลือง และโรคเหี่ยวเขียว ซึ่งเป็นโรคที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปลูกมะเขือเทศของเกษตรกรเชิงพาณิชย์ ที่ส่งผลผลิตขายให้โรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย นำไปแปรรูปทำเป็นน้ำมะเขือเทศดื่มสด รวมทั้งทำเป็นซอสมะเขือเทศใช้ผสมในอาหาร

ผศ.ดร.บุญส่ง เอกพงษ์ หัวหน้าทีมคณะวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ค้นพบมะเขือเทศสายพันธุ์ใหม่กล่าวว่า ได้นำสายพันธุ์มะเขือเทศของต่างประเทศที่นิยมให้เกษตรกรนำมาปลูกในประเทศไทยจำนวนกว่า 27 สายพันธุ์มาทำการวิจัย เนื่องจากพบว่ามะเขือเทศที่เป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ ไม่เหมาะสมต่อการปลูกในประเทศไทย เพราะอยู่ในเขตร้อน ไม่ทนต่อโรค และมะเขือเทศให้น้ำหนักน้อย

สำหรับโรคที่เป็นปัญหาแก่การปลูกมะเขือเทศคือ โรคใบหงิกเหลือง ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสมีแมลงหวี่ขาวเป็นตัวพาหนะนำโรค สามารถทำความเสียหายให้แก่มะเขือเทศทั้งในระยะกล้าและระยะเก็บเกี่ยว ส่วนการระบาดรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณแมลงหวี่ขาวเป็นตัวพาหนะนำโรคในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีโรคเหี่ยวเขียวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียราลสโตเนีย โซลานาซิเอรัม (Ralstonia solanacearum) โดยต้นมะเขือเทศที่ติดโรคจะมีอาการเหี่ยวขณะที่ใบยังเขียว และตายในที่สุด ทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ รวมทั้งการป้องกันยังทำได้ยาก เพราะเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ มีความทนต่อยาฆ่าโรค

การค้นพบมะเขือเทศที่มีชื่อเรียกในแปลงทดลองว่า T54 T58 และ T59 โดยทั้ง 3 สายพันธุ์มีลักษณะแยกย่อยคือ ทนต่อโรคระยะปานกลาง ทนต่อโรคสูง ทนร้อนมาก ทนร้อนปานกลาง แต่ทั้ง 3 สายพันธุ์มีลักษณะเหมือนกันคือ ผลใหญ่ให้น้ำหนักมากกว่ามะเขือเทศพันธุ์เดิม เฉลี่ย 3 กิโลกรัมต่อต้น มีเนื้อหนา และผลมีสีแดงเข้ม ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศเชิงพาณิชย์ และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้มะเขือเทศเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า

ผศ.ดร.บุญส่ง กล่าวต่อว่า การค้นพบมะเขือเทศที่ทนต่อโรค นอกจากส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกคือ ลดความเสี่ยงต่อผลผลิตที่จะเสียหายในอนาคต ยังลดต้นทุนการใช้ยาปราบศัตรูพืช และดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

สำหรับการต่อยอดหลังการค้นพบครั้งนี้ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้เชิญตัวแทนบริษัทผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศรายใหญ่ของประเทศหลายบริษัทเข้ามาดูผลงานวิจัย และอยู่ระหว่างเสนอให้มหาวิทยาลัยตั้งชื่อพันธุ์มะเขือเทศที่ค้นพบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น