xs
xsm
sm
md
lg

แผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติ โชว์รากฐานเศรษฐกิจไทยในอนาคต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยได้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนมาถึงวันนี้อยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และกำลังจัดทำแผนฉบับที่ 11 (2555-2559) โดยการจัดทำแผนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในระดับมหภาค ไม่ค่อยได้ลงรายละเอียดในระดับจุลภาค หรือในระดับสาขาธุรกิจ
แต่ในปัจจุบันนี้ ทิศทางของโลกได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลากหลายมิติ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศต่างๆ บทบาทของหลายประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจีน เอเชียตะวันออก และอาเซียน ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์?
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้ผลักดันให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติขึ้นมา มีคณะกรรมการจากภาครัฐ เอกชน สถาบันทางการค้า สมาคมการค้า และสถานบันการศึกษา รวม 59 คน มีนายพงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบต่อธุรกิจทั้งในระดับกิจการและระดับสาขา กลุ่มธุรกิจ ให้เป็นฝ่ายเลขานุการในเรื่องนี้
หน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ จะเป็นผู้กำหนดทิศทางการเติบโตของธุรกิจในแต่ละสาขา ซึ่งในที่นี้กำหนดไว้ 10 สาขา โดยจะมีเป้าหมายว่าธุรกิจจะเดินหน้าและเติบโตไปในทิศทางใด จะต้องมีความร่วมมือกันอย่างไร ภัยคุกคามจากที่ต้องแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติเป็นอย่างไร กลยุทธ์ในระดับกิจการเป็นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเห็นถึงทิศทางและปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเข้มแข็งและเติบโต
ที่สำคัญ แผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติฉบับนี้ จะเน้นในเรื่องของความเป็นจริงและความเป็นไปได้ที่จะนำแผนมาใช้ในการดำเนินงาน หรือการจัดทำเป็นโครงการสนับสนุนธุรกิจและประชาชนให้ได้รับประโยชน์อย่างดีที่สุด
ทั้ง 10 สาขาธุรกิจที่ได้คัดเลือกให้มาอยู่ในแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาตินี้ 2 สาขาแรกจะเป็นเรื่องของการพัฒนาปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาธุรกิจ คือ เรื่องของทุนมนุษย์ และเรื่องของการพัฒนาระบบราชการเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจ ส่วนอีก 8 สาขาธุรกิจที่เหลือ เป็นสาขาที่เกิดจากการวิเคราะห์และประเมินความสำคัญโดยรวมของแต่ละสาขาธุรกิจที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ตัวแทนการค้าและจัดจำหน่าย ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจสมัยใหม่ ก่อสร้าง การท่องเที่ยว โลจิสติสก์ อาหารและแปรรูปการเกษตร แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ อัญมณีและเครื่องประดับ
นางสาวพิกุล ทักษิณวราจาร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ การพัฒนาทุนมนุษย์ จะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะธุรกิจทุกวันนี้จะดำเนินไปได้ก็เพราะมนุษย์ การวัดหรือเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจหรือความสามารถในการสร้างสรรค์ของธุรกิจ ที่จริงก็คือการวัดความสามารถของคนที่ทำธุรกิจนั้นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมีแผนในการพัฒนาคนให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ
“เราต้องพัฒนาคนให้เติบโตสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ ซึ่งในที่นี้ มี 8 สาขาธุรกิจที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เราก็ต้องร่วมมือกับสถาบันการศึกษา พัฒนาคน ฝึกคน ให้ตรงกับที่ธุรกิจต้องการ จึงต้องมีการวางแผนในเรื่องนี้ให้ชัดเจน รัดกุม”นางสาวพิกุลกล่าว
ส่วนในเรื่องการพัฒนาระบบราชการเพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจ จะเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของภาคธุรกิจ เพราะธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและรวดเร็ว กฎระเบียบและวิธีในการบริการของภาครัฐก็ควรจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันและสอดคล้อง รวมทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของเจ้าหน้าที่ในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนไปเป็นผู้ให้บริการ และเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินธุรกิจ
ขณะนี้ แผนการพัฒนาธุรกิจในแต่ละสาขา กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน โดยในแต่ละสาขาธุรกิจเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และกำลังจะขอนัดเวลานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอแผนหลังจากพ้นเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ความเห็นชอบ รับฟังข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ก่อนที่จะมาจัดทำเป็นแผนพัฒนาธุรกิจแห่งชาติ เสนอให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำไปพิจารณาบรรจุไว้ในแผนฉบับที่ 11 ต่อไป
เป็นการปรับโฉมนโยบายการพัฒนาธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ของไทยอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น