ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ มรภ.สงขลา เผยผลสำเร็จในการที่ทีมวิจัยทำผลิตภัณฑ์ไม้อัดจากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตร ทดแทนไม้จริงจากป่า ที่ได้จากเส้นใยจากผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์ม ขี้เลื่อยไม้ยางพารา จากการแปรรูปไม้ยางพารา และ เศษใบเตยหนามที่เหลือจากการจักสาน
จากปัญหาไม้จริงจากป่า มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว ทีมวิจัยจากโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ประกอบด้วย ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ, ดำหริ กองหาด, เกษม บิลก่อเด็ม, อนุชา อำรัน, ฟารีด ทักษิณาวาณิชย์ และ อกนิษฐ์ ข้งอุ่น จึงคิดค้นนำวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่นภาคใต้ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไม้อัด เพื่อใช้ทดแทนไม้จากป่าที่นับวันจะลดลงจนไม่สามารถตอบสนองความต้องการใช้งานได้ในปัจจุบัน
ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตด้านพลังงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยตรง ที่ผ่านมาจึงมีการรณรงค์ใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนวัสดุสังเคราะห์มากขึ้น ตนและทีมวิจัยจึงร่วมกันนำวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรในท้องถิ่นภาคใต้ 3 ชนิด ได้แก่ เส้นใยของผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัสดุเศษเหลือจากการสกัดน้ำมันปาล์ม ขี้เลื่อยไม้ยางพารา จากการแปรรูปไม้ยางพารา และ เศษใบเตยหนาม ที่เหลือจากการจักสาน มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไม้อัด เพื่อใช้ทดแทนไม้จริงจากป่าไม้ที่มีปริมาณลดน้อยลงอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันความต้องการใช้ประโยชน์จากไม้อัดที่ผลิตขึ้นนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“หากความต้องการใช้ไม้อัดมีสูงมากดังที่ได้กล่าวข้างต้น คาดว่าการใช้ประโยชน์จากวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรเพื่อแปรรูปเป็นไม้อัด นอกจากจะช่วยลดการทำลายทรัพยากรป่าไม้แล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ซึ่งหาวัตถุดิบได้ง่าย ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในระดับรากหญ้า และช่วยยกระดับรายได้ของชุมชนให้สูงขึ้น” ดร.พลพัฒน์ กล่าวและว่า
สำหรับกรรมวิธีในการผลิต เริ่มจากการผสมเส้นใยที่คัดขนาดแล้วกับวัสดุประสาน จากนั้นอัดให้เป็นแผ่นในแม่พิมพ์ และขึ้นรูปด้วยความร้อนและความดัน จนได้ผลิตภัณฑ์ไม้อัด ซึ่งเศษใบเตยหนามอันเป็นพืชที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำวัสดุปิดผิว โดยตัดใบเตยหนามเป็นท่อนขนาดเล็ก แล้วปิดลงบนผิวของไม้อัดเพื่อความสวยงาม
ผลิตภัณฑ์จากแผ่นใยไม้อัด เป็นวัสดุที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและตกแต่ง เช่น แผ่นผนังห้อง แผ่นพื้นไม้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์ในชุมชน เช่น ของที่ระลึก เป็นต้น โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผ
งใยปาล์มมีลักษณะสีเข้ม ผิวมัน ขี้เลื่อยไม้ยางพาราและเตยหนามมีสีอ่อน ผิวด้าน มีสีสันงดงามและมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใคร