xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

จากแผ่นดินไหวพม่า ถึง'รอยเลื่อนนครนายก' กทม. สุดเสียวจับตา 12 ตึกสูง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตึกเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวจากทั้งหมด 12 อาคาร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังเหตุสึนามิและแผ่นไหวร้ายแรงในญี่ปุ่นที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหมื่นรายแต่ดูเหมือนมหันตภัยธรรมชาติจะมิได้หยุดอยู่แค่นั้น แต่กลับคืบคลานกล้ำกรายใกล้ประเทศไทยเข้ามาทุกที ล่าสุดเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมาได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศพม่าติดต่อกันถึง 6 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดมีความแรงถึง 7.2 ริกเตอร์ และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาถึง 40 ครั้ง ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ก่อให้เกิดภัยพิบัติแผ่นดินถล่มในเขตรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศพม่า ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่บ้านเรือน วัดวาอาราม กว่า 400 แห่ง มีแผ่นดินแยกทำให้ถนนแตกในหลายพื้นที่ มีชาวพม่าต้องสังเวยชีวิตไปแล้วถึง 75 ราย บาดเจ็บกว่า 125 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 15,000 ราย

อีกทั้งแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ยังส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนกินบริเวณกว้าง ในรัศมีถึง 800 กิโลเมตรจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของไทย ลาว จีน รวมถึงประเทศเวียดนามโดยเฉพาะหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือของไทยได้รับผลกระทบไม่น้อย วัดวาอารารามและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย เกิดแผ่นดินแยกในหลายพื้นที่ ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแม้แต่อาคารสูงในกรุงเทพฯ ก็ยังรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากเหตุแผ่นดินไหวในพม่าครั้งนี้นั้น ทำให้มีคนไทยเสียชีวิต 1 ราย คือ นางหงษ์ คำปิง อายุ 55 ปี อยู่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 10 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สายจ.เชียงราย ซึ่งเสียชีวิตคาที่เนื่องจากจากแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือนทำให้ผนังบ้านพังลงมาทับ ขณะนอนอยู่ในห้องบ้านคอนกรีตชั้นเดียว

ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ ข้อมูลล่าสุดที่เดิมคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดจากอาฟเตอร์ช็อกแต่เอาเข้าจริงแล้วกลายเป็นแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางในประเทศไทยเอง ได้แก่ แผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนปัว อ.เวียงสา จ.น่าน ขนาด 4 ริคเตอร์ รอยเลื่อนแม่จัน ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ขนาด 3 ริคเตอร์ และรอยเลื่อนแม่จัน ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขนาด 3.4 ริคเตอร์

ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการถกเถียงครั้งสำคัญในแวดวงธรณีวิทยาของไทย เมื่อมีนักวิชาการออกมาเปิดเผยถึงรอยเลื่อนมีพลังรอยใหม่ใหม่คือ "รอยเลื่อนนครนายก" ซึ่งสร้างความหวั่นวิตกให้กับประชาชนในกรุงเทพฯ เป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นรอยเลื่อนที่ถือว่าอยู่ใกล้ที่สุด

'ดร.ปัญญา จารุศิริ' หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศไทยที่รอยเลื่อนปัว และรอยเลื่อนแม่จัน ว่า ขณะนี้ประเทศไทยควรจับตารอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งอยู่ห่างจากรอยเลื่อนน้ำเมาต้นเหตุเหตุแผ่นดินไหวในพม่าประมาณ 50 กิโลเมตร และหากรอยเลื่อนแม่จันเกิดแผ่นดินไหวจะกระทบต่อจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนความรุนแรงขึ้นอยู่กับความตื้นลึกของแรงสั่นสะเทือนในแผ่นดิน นอกจากนี้ ยังต้องจับตารอยเลื่อนศรีสวัสด์ จ.กาญจนบุรี และรอยเลื่อนปัว จ.น่าน ทั้งนี้ จากการดูภาพถ่ายดาวเทียมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ พบว่ารอยเลื่อนดังกล่าว มีความคมชัด ไม่น่าไว้วางใจ และจากข้อมูลพบว่า ที่ผ่านมารอยเลื่อนปัว ใน จ.น่าน เคยเกิดแผ่นดินไหวในระดับ 7 ริกเตอร์มาแล้ว

ที่สำคัญคือยังได้พบรอยเลื่อนใหม่ คือ รอยเลื่อนนครนายก ซึ่งมีความน่ากลัวและอยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยจากภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า รอยเลื่อนนครนายก มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนแม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร ในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ โดยแนวดังกล่าวมีความยาว 50-100 กิโลเมตร โดยรอยเลื่อนแม่ปิง เคยเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2518 ขนาด 5.6 ริคเตอร์ ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ถ้ารอยเลื่อนนครนายก เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา จะกระทบกับภาคกลางทั้งหมด อาทิ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อุทัยธานี ลพบุรี เป็นต้น โดย “ผมจะนำข้อมูลรอยเลื่อนนครนายกเสนอกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อให้เข้าไปสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทย เป็น 14 จุด จากเดิมมี 13 จุด”ดร.ปัญญาให้ข้อมูล

อย่างไรก็ดี ทางด้าน 'นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์' ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีภัยพิบัติ ได้ออกมาแย้งว่า รอยเลื่อนนครนายกนั้นไม่ใช่รอยเลื่อนใหม่ แต่มีปรากฏในแผนที่ธรณีมานานแล้ว และยังไม่มีข้อมูล หรือหลักฐานใดที่ระบุได้ว่า เป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง นอกจากนี้ ยังไม่มีความเกี่ยวโยงกับรอยเลื่อนในพม่า หรือทางเหนือของไทย แต่ยอมรับว่า จำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพราะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ หากเกิดขึ้นจริงจะมีความเสียหายมาก ส่วนรอยเลื่อนองครักษ์ ซึ่งเป็นรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานครมากที่สุดนั้นก็มีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่าเป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง

ทั้งนี้ นอกจากผลกระทบในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีหลายจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่รอยเลื่อนซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวแล้ว จุดหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงอย่างมากคือพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีลักษณะชั้นดินอ่อนและมีอาคารสูงเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนั้นเป็นตัวเสริมให้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่ส่งมาจากจากจุดกำเนิดในพม่าขยายตัว และสร้างความเสียหายให้แก่อาคารสูงต่างๆ โดยเฉพาะอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปี 2540 ซึ่งมีการออกกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารเพื่อป้องกันผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวมาบังคับใช้

จากการตรวจสอบอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ พบว่า เฉพาะ กทม.มีอาคารสูงกว่า 15 เมตรขึ้นไปจำนวน 2,718 อาคาร โดยอยู่ฝั่งพระนคร 2,448 อาคาร และอยู่ในฝั่งธนบุรี 270 อาคาร และจำนวนนี้มี 12 อาคารเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ประกอบด้วย 1.อาคารเสริมมิตรทาวเวอร์ ตึก 30 ชั้น 2.อาคารชุดเฟิร์สทาวเวอร์ ตึก 22 ชั้น 3.ศูนย์การค้ามาบุญครอง ตึก 29 ชั้น 4.ออลซีซั่นส์ พร็อพเพอร์ตี้ ตึก 53 ชั้น จำนวน 1 หลัง 5.อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ 58 ชั้น 6.อาคารชัยทาวเวอร์ ตึก 30 ชั้น 7.อาคารเบญจจินดา 36 ชั้น 8.อาคารชินวัฒน์ 3 ตึก 32 ชั้น 9.อาคารไอทาวเวอร์ ตึก 32 ชั้น 10.อาคารธนาคารทหารไทย ตึก 34 ชั้น 11.อาคารซันทาวเวอร์ ตึก 40 ชั้น 1 หลัง และ 12.จำนวน 34 ชั้น 1 หลัง เนื่องจากอาคารดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ใกล้ชุมชน ย่านธุรกิจ และที่สาธารณะ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าอาคารทั้ง 12 แห่งจะไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้บริหารของกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (กทม.) ระบุว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกเพราะว่า อาคารสูงของ กทม.ถึงแม้ว่าจะเพิ่งมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ.2550 แต่ก่อนหน้านั้นก็มีกฎกระทรวงฉบับที่ 49 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่บังคับให้ผู้ก่อสร้างอาคารสูงสร้างอาคารที่รองรับกับปัญหาลมแรงอยู่แล้ว

" กทม.จะพิจารณาร่างข้อบัญญัติ กทม.สร้างอาคารสูงให้มีความปลอดภัยจากภัยแผ่นดินไหวมากขึ้น เพื่อเสนอต่อสภา กทม.พิจารณา พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักการโยธาจัดเสวนาเรื่องแผ่นดินไหว โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนา เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนอีกด้วย "ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

อย่างไรก็ดี เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องนี้ก็จะเป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟางเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา กล่าวคือเมื่อเกิดเหตุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ออกมาเต้นแรงเต้นกา และเมื่อเวลาผ่านไป ก็มิได้ใส่ใจที่จะบังคับใช้กฎหมายให้จริงจัง




กำลังโหลดความคิดเห็น