xs
xsm
sm
md
lg

การจัดสรรคลื่นวิทยุเพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืน (1)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เมื่อสองวันก่อนได้มีโอกาสพบกับ จ.ส.อ.มานะ แสงบุญเรือง สังกัดมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ พบว่าเป็นบุคคลหนึ่งที่ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนคนห้วยแก้ว ความถี่ FM 98.50 ที่แพร่คลื่นวิทยุบริเวณ ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ด้วยความคาดหวังที่จะให้เป็นสื่อกลางเชื่อมความรัก ความผูกพัน และดำรงไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดย จ.ส.อ.มานะ เน้นว่าเป็นสถานีวิทยุชุมชนที่เทิดทูนพระมหากษัตริย์ และดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ

เขาบอกว่าที่หน้าสถานีจะปิดประกาศคำกล่าวสาบานทหารต่อหน้าธงไชยเฉลิมพล ที่ว่าจะ “ปกป้องรักษาและดำรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า” ทั้งยังทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสร้างสัมพันธ์ชุมชน เพื่อการอยู่ดีกินดีทุกมิติ รู้จักประชาธิปไตยที่ถูกต้อง รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประเทศชาติ รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม

สถานีวิทยุแห่งนี้เป็นสถานีวิทยุปลอดโฆษณา ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิวิทยุคริสเตียนเพื่อชีวิต เป็นทุนจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลีใต้ ซึ่งทำเช่นนี้เพราะว่าคนเกาหลีใต้ยังสำนึกในบุญคุณคนไทยและทหารไทย ที่ไปช่วยรบกับเกาหลีเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2495 จ.ส.อ.มานะ ได้รับการชี้นำและสนับสนุนจาก พล.ท.สุรพล เจียมสมบูรณ์ อดีต ผบ.มทบ. 32 ค่ายสุรศักดิ์มนตรี จ.ลำปาง และ พ.อ.สุรศักดิ์ บรรจุแก้ว อดีตอาจารย์วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ซึ่งเห็นว่าวิทยุชุมชนเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติ สามารถสร้างพลังสังคมจิตวิทยาในการดำรงความเป็นชาติไทย อย่างที่เคยเป็นมาแล้วกว่า 800 ปี และท่านทั้งสองต้องการคนมีอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตย ดำเนินการวิทยุชุมชนลักษณะที่ จ.ส.อ.มานะ กำลังทำอยู่

ขณะนี้กำลังเป็นช่วงเวลาของการคัดเลือกคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งมีผู้สมัคร 90 คน แต่จะได้รับเลือกเพียง 11 คน ให้เป็นกรรมการนี้ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีความสำคัญมากที่สุดประเภทหนึ่ง เพราะว่าคลื่นวิทยุเป็นทรัพยากรของชาติที่มีจำกัด และมีความสำคัญยิ่งในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าคลื่นวิทยุเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง ในรูปคลื่นรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าและเดินทางเป็นเส้นตรง วิ่งผ่านมัชฉิมได้ทุกสภาพการณ์แม้ในอวกาศ โดยมีย่านความถี่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตั้งแต่ความถี่ย่าน 3 กิโลเฮิรตซ์ กำลังต่ำสุด จนถึง 300 กิกะเฮิรตซ์ หรือ 1 พันล้านรอบต่อวินาที และธรรมชาติของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีอยู่เพียงเท่านี้เอง

คลื่นวิทยุถูกค้นพบโดย เฮนริช เฮิรตซ์ ชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1886 และถูกแบ่งออกเป็นย่านความถี่ต่างๆ ตั้งแต่น้อยกว่า 3 เฮิรตซ์ ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นมาตรฐานโดยสหพันธ์การสื่อสารคมนาคมสากลแห่งสหประชาชาติ (International Telecommunication Union- ITU) จนถึงย่านความถี่ 300-3,000 กิกะเฮิรตซ์ อันเป็นย่านสุดท้ายและแบ่งเป็น 12 ย่านความถี่

ใน 12 ย่านความถี่ของ ITU นั้น มีตัวอย่างการใช้งาน เช่น ย่านความถี่ 3-30 เฮิรตซ์ หรือคลื่นความถี่ต่ำ (Low Frequency - LF) เป็นช่วงคลื่นของการสื่อสารระหว่างเรือดำน้ำกับเรือดำน้ำ หรือกับเรือผิวพื้น เพราะว่าคลื่นวิทยุไม่ชอบเดินทางผ่านสื่อที่มีความเข้มข้นโดยเฉพาะน้ำเค็มหรือย่านความถี่ 30-300 กิโลเฮิรตซ์ หรือคลื่นความถี่สูงมาก (Very High Frequency - VHF) เป็นช่วงความถี่ของสถานีวิทยุ FM วิทยุโทรทัศน์ คลื่นวิทยุจากสถานีพื้นดินสู่เครื่องบิน และเครื่องบินกับเครื่องบิน

คลื่นวิทยุภาคพื้นดินและผิวน้ำ หรือสถานีวิทยุทั่วๆ ไป ซึ่งการนี้องค์การการบินพลเรือนสากลกำหนดให้ VHF เป็นย่านคลื่นของการบินพลเรือนสากล โดยเป็นการจัดสรรและแยกย่านคลื่นความถี่อย่างชัดเจนเพื่อขจัดความสับสน ไม่ปะปนกับคลื่นวิทยุของเครื่องบินทหาร ซึ่งใช้ย่านความถี่ 300-3,000 เมกะเฮิรตซ์ แต่ก็ยังต้องมีผู้ร่วมใช้ เช่น สถานีวิทยุโทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ Local Area Network แบบไร้สาย บลูทูธ ซิกบี จีพีเอส วิทยุสื่อสาร วิทยุครอบครัว (FRS - Family Radio Service) หรือ GMRS - General Mobile Radio Service

ด้วยความก้าวหน้าของนวัตกรรมการสื่อสาร ทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากย่านความถี่เพิ่มเติมจากอดีตถึงย่านความถี่สุดท้าย คือ 300-3,000 กิกะเฮิรตซ์ โดยมีนวัตกรรม Terrahertz Imaging เป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพ ที่จะเข้ามาแทนที่ X-Ray ทางการแพทย์

ดังนั้น ด้วยอุปกรณ์การสื่อสารยุคศตวรรษที่ 21 ทำให้มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากทุกย่านความถี่ จึงเกิดการแย่งชิงคลื่นความถี่เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งในอดีตนั้นกรมไปรษณีย์โทรเลข กระทรวงคมนาคม ถูกยุบไปแล้วเมื่อ พ.ศ. 2545 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุทุกภาคส่วน แต่มีข้อสังเกตว่าใน พ.ศ. 2429 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหม และในปัจจุบันเป็นหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งได้อำนาจมาจากคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ความสำคัญของการจัดสรรคลื่นวิทยุ อยู่ที่มุมมองของกรรมการฯ ซึ่งมีอยู่เพียง 11 คน แต่มีภาระหน้าที่จัดแบ่งทรัพยากรที่สำคัญ และมีมูลค่ามหาศาล ทั้งยังใช้ไม่หมดซึ่งต่างกับทรัพยากรอื่นที่อยู่ในโลกใช้แล้วหมดไป

หากจะพิจารณาแล้วจะต้องเพ่งเล็งถึงผลประโยชน์ของชาติที่ได้จากคลื่นความถี่วิทยุในส่วนต่างๆ ของพลังอำนาจของชาติ โดยเฉพาะสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคงของชาติ

ประชาชนจะได้ประโยชน์จากคลื่นวิทยุโดยตรง ก็คงจะเป็นคลื่นวิทยุชุมชนด้านเศรษฐกิจคงได้แก่สถานีวิทยุและโทรทัศน์เชิงพาณิชย์ต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน ที่ขายความบันเทิงให้สังคมโดยมีโฆษณา และคลื่นวิทยุทางเทคนิค เช่น วิทยุการบิน ด้านการเมืองนั้นของรัฐในการกระจายข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และวัฒนธรรมผ่านสถานีวิทยุของรัฐโดยไม่มีโฆษณา ส่วนความมั่นคงนั้นต้องเป็นย่านความถี่ทางการรบของกองทัพแห่งชาติ ซึ่งต้องได้รับการจัดสรรให้เหมาะสม และใช้เพื่อการฝึกและการยุทธ์เท่านั้น ต้องมีจำนวนเพียงพอในการปฏิบัติการทางทหาร

แต่กองทัพก็ยังคงรักษาสถานีวิทยุออกอากาศเพื่อการประชาสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชนในเชิงพัฒนา และเงินโฆษณาก็ไม่ได้มากมายจนทำให้กองทัพร่ำรวยเป็นอาชีพ แต่เป็นการดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเป็นการบริการประชาชน จงอย่ามองว่าคลื่นวิทยุของสามเหล่าทัพเป็นแหล่งเงินแหล่งทองของทหารเลย แต่ให้มองว่าสถานีวิทยุทหารเป็นเพียงกลไกในการปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อความมั่นคงและสันติสุข และต้องให้กองทัพมีคลื่นความถี่วิทยุเพื่อปฏิบัติการรบ การฝึก และการส่งกำลังบำรุงที่แยกจากคลื่นความถี่วิทยุของภาคส่วนอื่นสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น