xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภากลับมาใหม่ : หาความชอบธรรมให้คนเก่า

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในทันทีที่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจสิ้นสุดลง ทุกก๊วนการเมืองทั้งที่อยู่ในพรรคเดียวกัน แต่คนละพวกก็จัดเข้าในประเภทต่างก๊วนการเมืองกัน ต่างก็มีความกระตือรือร้นในการเตรียมตัวเพื่อลงเลือกตั้ง และพรรคที่แสดงความกระตือรือร้นที่สุด ก็เห็นจะได้แก่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านอยู่ในขณะนี้

ส่วนพรรคการเมืองที่อยู่ในฟากรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคร่วมฯ 2 พรรคการเมือง คือ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ถ้าดูพฤติกรรมทางการเมือง ทั้งพฤติกรรมโดยรวมทั้งพรรค และพฤติกรรมแต่ละบุคคลอันเป็นปัจเจกแล้ว จะเห็นได้ว่าไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วนัก แต่อยากให้มีการตั้งงบประมาณปี พ.ศ. 2555 ก่อนจึงค่อยยุบสภาแล้วจัดการเลือกตั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการยุบสภา ได้ประกาศค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม 2554 และจะมีการเลือกตั้งประมาณปลายเดือนมิถุนายน ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นความแตกต่างกันอยู่ ทั้งนี้น่าจะด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา ยังไม่มีความพร้อมในการเลือกตั้งเท่ากับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านบุคลากรทางการเมือง และอาจรวมไปถึงทุนเงินและทุนทางสังคมที่มีอยู่น้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งทางการเมืองเช่น พรรคเพื่อไทยซึ่งมีความพร้อมในด้านทุนมากกว่า แต่ต้องสู้กันในทางการเมืองในเขตเลือกตั้งเดียวกัน และเป็นที่ที่ทั้งสองพรรคเลือกไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้ โดยเฉพาะในภาคอีสาน

นอกจากนี้ ถ้ามองในแง่การต่อรองกับพรรคที่เป็นแกนนำ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย ทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นรองทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่ว่าจะมองในแง่ตัวบุคลากร หรือในแง่ของทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุนทางสังคมที่พรรคประชาธิปัตย์มีเหนือกว่าทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จึงน่าจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทั้งพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนาไม่อยากให้ยุบสภาในขณะนี้ แต่ต้องการจะอยู่เป็นรัฐบาล และสร้างโอกาสทางการเมืองให้มากกว่านี้แล้วค่อยยุบสภา

2. แต่ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากจะมีโอกาสทางการเมืองสูงกว่า ด้วยมีทุนทางสังคม และอาจมีทุนเงินมากกว่าด้วยต้องการจะยุบสภาเพื่อกลับมาใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะถ้าขืนอยู่ไปนานอาจทำให้โอกาสทางการเมืองลดน้อยลง และในขณะเดียวกันคู่ต่อสู้ทางการเมืองคือพรรคเพื่อไทยอาจตีตื้นทำคะแนนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้ ถ้ามองจากปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

2.1 ม็อบพันธมิตรฯ กำลังไล่ต้อนรัฐบาลในเรื่องเสียหรือไม่เสียดินแดนให้แก่เขมร และมีแนวโน้มว่าเรื่องนี้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ประเทศมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำแก่เขมร และถ้าเป็นเช่นนั้นดินแดนที่เขมรเข้ามายึดครองถือได้ว่าได้สูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนส่วนนี้ไปให้เขมรแล้ว โดยพฤตินัย จะเสียไปเป็นการถาวร หรือเสียโดยนิตินัยถ้าเขมรสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้โดยฝ่ายเดียว และถือครองพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ปราสาทพระวิหารผนวกเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน และใช้เป็นพื้นที่ที่ทางมรดกโลกเขาพระวิหารโดยสมบูรณ์ จึงต้องยุบสภาก่อนมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในเดือนมิถุนายน

2.2 ถ้ามีการอยู่เป็นรัฐบาลผสมกับพรรคร่วมฯ ที่มีพฤติกรรมการแสวงหาประโยชน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการแสวงหาที่ว่านี้สวนทางกับความศรัทธา และความรู้สึกในทางการเมืองที่ควรจะเป็นในสายตาของประชาชนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ก็จะสูญเสียทุนทางสังคมที่กำลังสูญเสียอยู่ในขณะนี้เพิ่มมากขึ้น และมากขึ้นก็จะทำให้โอกาสที่จะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลน้อยลง นี่ก็เป็นอีกประการหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องการยุบสภาเร็ว

3. จากการเป็นรัฐบาลมา 2 ปีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยการชี้นำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อันเป็นเหมือนอำนาจแฝงที่ครอบงำผู้นำรัฐบาลอีกทอดหนึ่ง ได้ทำให้ภาพอันเป็นบวกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ลดลงเรื่อยๆ จนเกือบจะติดลบอยู่แล้วในขณะนี้

ดังนั้น ถ้าต้องการจะกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลที่มีพรรคร่วมรัฐบาลที่มีภาพเป็นบวกกว่า 2 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์จะต้องรีบยุบสภา และหาพันธมิตรทางการเมืองใหม่ๆ มาต่อรองกับพรรคร่วมรัฐบาลเก่าๆ ที่ถือไพ่เหนือผู้นำพรรคประชาธิปัตย์มาตลอดโดยเร็วที่สุด นี่คือเหตุผลอีกประการหนึ่ง และน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุดในบรรดา 3 ข้อที่ยกมาอ้าง

อย่างไรก็ตาม การยุบสภามิใช่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถึงแม้จะเป็นอำนาจนายกฯ และนายกฯ อยากจะยุบสภา แต่จะต้องไม่ลืมว่ายังมีบุคคลบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ที่มองเห็นการสูญเสียอำนาจการต่อรองกับผู้นำพรรคถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมากพอที่ไม่ต้องพึ่งพรรคอื่นในการจัดตั้งรัฐบาล หรือต้องพึ่งแต่ไม่ถือเป็นหนี้บุญคุณทางการเมืองให้เขาตามทวงเหมือนกับที่ผ่านมา ก็คงจะทำให้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น ไม่ต้องถูกครอบงำด้วยลูกพรรคที่คอยบงการหัวหน้าพรรคด้วยอ้างไม่มีเขา เราไม่ได้เป็นรัฐบาลอีกต่อไป

ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยุบสภาด้วยเหตุผลว่าต้องการจะกลับมาใหม่ และมีความชอบธรรมมากกว่าเดิม ก็น่าจะรีบยุบสภา ทั้งนี้มิใช่เพื่อตัวบุคคลอันเป็นปัจเจก แต่เพื่อพรรคอันเป็นส่วนรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น