xs
xsm
sm
md
lg

มองการเมืองและสังคมรอบบ้าน สู่การออกแบบรูปแบบการปกครองสำหรับสังคมไทย (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

จากการพิจารณาการพัฒนาประเทศของประเทศต่างๆ รอบบ้านเราโดยสังเขปดังที่ได้เขียนก่อนหน้านี้ ยังมีประเทศที่มีรูปแบบการปกครองอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงคือ รูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมหรือบางที่เรียกกันทั่วไปว่าคอมมิวนิสต์

รูปแบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เริ่มต้นในประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซียและขยายไปสู่ประเทศอื่นๆทั่วโลกอีกหลายประเทศ ในปัจจุบันรูปแบบการปกครองแบบนี้ในทวีปยุโรปได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ในทวีปเอเชียยังคงมีประเทศสำคัญบางประเทศที่ใช้ระบอบนี้อยู่คือ ประเทศจีน เวียดนาม และเกาหลีเหนือ

องค์ประกอบเชิงสถาบันของการปกครองของระบอบนี้มีสองประการที่สำคัญคือ สภาประชาชนแห่งชาติ และพรรคคอมมิวนิสต์


สภาประชาชนแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งของตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น แรงงานและเกษตรกร นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พรรคการเมือง และกองทัพ สภาประชาชนแห่งชาติมีหน้าที่สำคัญคือ การตรากฎหมาย การแต่งตั้งและถอดถอน เลือกตั้ง กำหนดและปลดบุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศ เช่น ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี เป็นต้น การตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการตรวจสอบปัญหาการปฏิบัติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

พรรคคอมมิวนิสต์เป็นพรรคการเมืองพรรคหลักที่ทำหน้าที่ในการชี้นำทางอุดมการณ์ กำหนดนโยบาย เข็มมุ่งและมาตรการการบริหารประเทศ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือ อื่นๆ ล้วนแล้วแต่เป็นสมาชิกระดับนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น

ในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ ประเทศจีนเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างมีประสิทธิผล จนกลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลกในปัจจุบัน และกำลังจะก้าวไปสู่อันดับหนึ่งในอนาคต รองลงมาคือประเทศเวียดนามที่กำลังทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็วแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นในการพัฒนาอย่างจริงจังประมาณ 30 ปี ที่ผ่านมา ส่วนประเทศที่ล้มเหลวในการพัฒนาและมีประชาชนอดอยากยากจนมากที่สุดคือประเทศเกาหลีเหนือ

ปัจจัยสำคัญในทัศนะของผมที่ทำให้ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนามี สี่ประการ คือ ประการแรก การมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความกล้าหาญ เสียสละ และซื่อสัตย์ และการมีระบบการสรรหาคัดเลือกผู้นำที่มีประสิทธิผล กลุ่มผู้นำของจีนและเวียดนามมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความราบรื่นในการสืบทอดอำนาจและให้ได้คนที่มีคุณภาพและมีคุณธรรมมาบริหารประเทศ กรณีจีนแม้ว่าในระยะแรกของการใช้ระบอบนี้มีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงอยู่บ้าง แต่เมื่อเติ้ง เสี่ยว ผิง ขึ้นมามีอำนาจก็ได้วางระบบในการคัดเลือกและสรรหาคนขึ้นมาโดยใช้คุณสมบัติหลักคือ การยืนหยัดในอุดมการณ์ที่เสียสละต่อประเทศชาติและประชาชน ความสามารถในการปฏิบัติงานและการบริหาร และความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้ประเทศจีนได้ผู้นำทางการเมืองในรุ่นถัดมามีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ประการที่สอง การมีระบบการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐและพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเฉียบขาด และเป็นธรรม ไม่ว่าผู้กระทำการทุจริตจะเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งยิ่งใหญ่อย่างไร หากมีการทุจริตก็ได้รับโทษจำคุกหรือบางคนถึงกับถูกประหารชีวิต สำหรับแนวทางการปราบปรามการทุจริตของจีนในปัจจุบันซึ่ง นายกาน อี่ เซิ่ง รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้แถลงเมื่อปี 2552 ว่า มีเข็มมุ่ง 5 ประเด็น คือ หนึ่งดำเนินการกับผู้กระทำผิดวินัยและผิดกฎหมายระหว่างการปฏิบัติตามนโยบายสำคัญๆ ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเฉียบขาด สอง ดำเนินการกับข้าราชการระดับแกนนำที่ทุจริตคอรัปชันอย่างเด็ดขาด สาม ดำเนินการกับผู้รับสินบนจากแวดวงธุรกิจและกรณีทำลายผลประโยชน์มวลชนอย่างร้ายแรง สี่ ดำเนินการกับผู้ทุจริตคอรัปชันอันเป็นชนวนให้เกิดเหตุชุมนุมประท้วงและอุบัติเหตุร้ายแรง และห้า ดำเนินการกับผู้กระทำผิดวินัยและผิดกฎหมายในแวดวงสำคัญๆ อย่างเด็ดขาด

ในปีเดียวกันนั้นเอง คณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนแถลงผลการปราบปรามการทุจริตคอรัปชันประจำปี 2552 ระบุว่า ช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2552 ได้ดำเนินคดีกับข้าราชการที่กระทำผิดวินัยกว่า 115,000 คดี ตัดสินคดีไปแล้วกว่า 100,000 คดี ผู้กระทำผิดวินัยที่ถูกลงโทษมีกว่า 106,600 คน ในจำนวนผู้ที่ถูกลงโทษเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนกว่า 85,000 คน หรือร้อยละ 0.11 ของจำนวนสมาชิกพรรคฯ ทั้งหมด ในจำนวนดังกล่าว มีกว่า 2,200 คนถูกขับออกจากพรรคฯ และถูกส่งตัวไปยังหน่วยงานยุติธรรมเพื่อดำเนินคดีอันเนื่องจากมีพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือ โกงกินบ้านเมืองและรับสินบน ด้วยการดำเนินคดี ได้กอบกู้ผลเสียหายทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติกว่า 4,440 ล้านหยวน

ประการที่สาม รัฐให้ความสำคัญกับการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของคน ระบบการศึกษาในประเทศจีนนั้นมีครูเพียงพอสำหรับนักเรียนตามอัตราส่วนที่ได้มาตรฐาน ครูระดับชั้นประถมวัยในโรงเรียนรัฐบาลสามารถรับเด็กเตรียมความพร้อมได้ตั้งแต่ 2 ปีครึ่งและใน 1 ห้องก็มีครูดูแลถึง 3 คน ส่วนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาครูที่จบตรงตามสาขาวิชาที่สอนก็มีเพียงพอ สำหรับในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยของประเทศจีนก็เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในลำดับต้นๆของโลก เช่น มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

ประการที่สี่ ประชาชนมีวัฒนธรรมในการแสวงหาความรู้ รักการเรียนรู้ เอาจริงเอาจัง มีความอดทนมุ่งมั่นในการเรียน การทำงาน และมีวินัยสูง ประชาชนมีความตระหนักในหน้าที่ต่อประเทศชาติ และมีความรักชาติสูง การมีวัฒนธรรมเช่นนี้หล่อมหลอมให้ประชาชนชาวจีนเป็นประชาชนที่มีคุณภาพสูง และมีโอกาสจะกลายเป็นผู้นำในประชาคมโลกในอนาคต

ส่วนประเทศเวียดนามก็มีแบบแผนการพัฒนาที่คล้ายคลึงกับประเทศจีน ทั้งในเรื่อง การสร้างผู้นำและระบบในการคัดสรรผู้นำ และการปราบปรามการทุจริต โดยรัฐบาลมีความพยายามในการปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง เช่น ใน พ.ศ. 2553 มีการตัดสินจำคุกตลอดชีวิต นายหวี่ยงหง็อกสี อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานโยธาธิการและขนส่งนครโฮจิมินห์ ที่เป็นผู้ต้องหาในคดีรับสินบนจากบริษัทญี่ปุ่น ในโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายหนึ่ง ที่มีมูลค่ากว่า 600 ล้านดอลลาร์ เป็นต้น

ประเทศเวียดนามก็มีนโยบายส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาคุณภาพประชาชนอย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับประเทศจีน อย่างไรก็ตามเนื่องจากประเทศเวียดนามก่อนมีการรวมประเทศนั้นในส่วนภาคใต้ของประเทศเคยตกอยู่ภายใต้การจัดการของสหรัฐอเมริกา ทำให้ค่านิยมแบบตะวันตก คือ ค่านิยมบริโภคนิยมและรักความสะดวกสบาย ดำรงอยู่ในส่วนนี้ไม่น้อย และอาจมีความเป็นไปได้สูงว่าค่านิยมเช่นนี้จะสร้างปัญหาแก่ประเทศเวียดนาม พอๆกับที่สร้างปัญหาให้กับประเทศไทย

สำหรับประเทศเกาหลีเหนือมีความล้มเหลวมากที่สุด เนื่องจากผู้นำของประเทศได้สร้างระบอบการสืบทอดอำนาจแบบสายเลือดขึ้นมา คล้ายๆกับนักการเมืองไทยที่สร้างระบอบการสืบอำนาจแบบสายเลือดในจังหวัดต่างๆ ขึ้นมา วิธีการแบบนี้ทำให้อำนาจเกิดการผูกขาดและผลประโยชน์ของชาติได้รับการจัดสรรในแวดวงที่จำกัดเฉพาะวงศ์วานว่านเครือของตนเอง รวมทั้งในการบริหารประเทศมีการทุจริตแพร่ระบาดซึ่งก็คล้ายกับประเทศไทยอีกเหมือนกัน กลุ่มผู้นำประเทศเกาหลีเหนือยังจำกัดและปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน และประชาชนก็ขาดแรงกระตุ้นในการประกอบอาชีพ รวมทั้งขาดแคลนทรัพยากรต่างๆที่ใช้ในการลงทุนทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาชีวิตของประชาชน สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเหนือดำเนินการเป็นหลักคือการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหาร ท่ามกลางความอดอยากของประชาชน

ภาพการเปรียบเทียบของประเทศทั้งสามย่อมเป็นการยืนยันได้ว่า ไม่ว่าจะใช้ระบอบใดก็ตามในการปกครองประเทศ ก็ไม่ใช่หลักประกันความสำเร็จและความอยู่ดีกินดีของประชาชนเสมอไป เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆที่มีความสำคัญยิ่งกว่าตัวระบอบการเมืองในการสร้างความสำเร็จในการพัฒนาของประเทศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

สำหรับรูปแบบการปกครองแบบใดที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยนั้น ขณะนี้ยังเป็นคำถามปลายเปิด แต่ก็เป็นที่ชัดเจนว่าระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่มีพรรคการเมืองเป็นแกนนำในการควบคุมจัดการบริหารประเทศนั้น ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นระบอบที่มีปัญหา สร้างการทุจริตคอร์รัปชั่น การผูกขาดอำนาจในกลุ่มนักการเมือง นายทุน และเครือญาติของพวกเขา ทำลายคุณธรรมทางสังคมและคุณภาพของการศึกษาทำให้ “มวลรวมภูมิปัญญาประชาชาติ” (Gross National Wisdom- GNW) ของสังคมไทยตกต่ำลง ผู้คนโง่เขลาเบาปัญญามีมากขึ้น ความสามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายและการตัดสินใจในการกระทำเรื่องต่างๆต่ำลงอย่างน่ใจหาย รวมทั้งนำไปสู่การสร้างความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง

การระดมภูมิปัญญา จากประชาชนทั่วทุกสารทิศ แสวงหาแนวทางร่วมกันอย่างรอบคอบ อาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากวัฎจักรชั่วร้ายของการครอบงำจากนักการเมืองทั้งหลายลงไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น