xs
xsm
sm
md
lg

รบ.ตอกฝาโลงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทบทวนแผนพีดีพีหลังวิกฤติญี่ปุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “วรรณรัตน์”ยอมรับจะไม่มีการตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ภายในรัฐบาลชุดปัจจุบันแน่นอน หลังกรณีญี่ปุ่นทำให้ต้องทบทวนแผนพีดีพีใหม่โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเสร็จให้ทันรัฐบาลนี้ นักวิชาการชี้ไทยไม่มีนิวเคลียร์ก็ไม่วิกฤต

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการเสวนาเรื่อง วิกฤตนิวเคลียร์ …ประเทศไทย? ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วานนี้(23 มี.ค.) ว่า กระทรวงพลังงานจะไม่มีการนำเสนอแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำหนดไว้ในผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2010 (ปี2553-2573)ต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในรัฐบาลชุดปัจจุบันเนื่องจากขณะนี้ไทยยังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาแผนการก่อสร้างจากทบวงพลังงานปรมณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) นอกจากนี้กรณีวิกฤตินิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นทำให้ไทยจำเป็นต้องทบทวนแผนพีดีพีซึ่งได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนพีดีพีไปพิจารณาว่าจะทบทวนอย่างไร

“ผมตอบไม่ได้หรอกว่าการทบทวนจะออกมาอย่างไรแน่เพราะจะต้องดูรายละเอียด เพราะส่วนหนึ่งที่ต้องไปดูคือในปี 2557 ที่มีโรงไฟฟ้าของภาคเอกชนอิสระรายใหญ่หรือไอพีพีบางแห่งไม่สามารถทำตามแผนได้จะต้องไปดูว่าจะนำโรงไฟฟ้าใดมาทดแทนไม่เช่นนั้นสำรองไฟจะต่ำกว่า 10% ซึ่งปกติจะต้องไม่ต่ำกว่า 15%ซึ่งเรื่องเวลาในการทบทวนไม่ใช่ปัญหาว่าจะเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่เพราะผมเองก็ไม่รู้จะไปเมื่อไร”รมว.พลังงานกล่าว

สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องพิจารณา 3 ประเด็นได้แก่ 1.ความคุ้มค่าในการลงทุน 2.ความปลอดภัย และ 3.การยอมรับจากประชาชน ขณะที่การปรับปรุงแผนพีดีพีจะต้องคำนึงถึงเชื้อเพลิงที่จะทดแทนนิวเคลียร์ซึ่งตามแผนเดิมกำหนดนิวเคลียร์เข้าระบบรวม 5 แห่งแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ และโรงแรกจะเข้าระบบปี’63

ซึ่งท้ายสุดนิวเคลียรืเกิดไม่ได้เชื้อเพลิงที่จะเข้ามาแทนจะมีเพียง พลังงานทดแทน ถ่านหินสะอาดและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพลังงานทดแทนนั้นมีข้อจำกัดและไทยก็มีแผนดำเนินงานชัดเจนแล้ว ขณะที่ก๊าซฯสำรองลดต่ำไทยจึงต้องมองในเรื่องนำเข้าแอลเอ็นจีแทน

นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เลขาธิการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติกล่าวว่า กรณีญี่ปุ่นเชื่อว่าจะส่งผลให้คนไม่ยอมรับนิวเคลียร์มากขึ้นและแน่นอนว่าต้นทุนที่จะดูแลความปลอดภัยก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น และจะทำให้เทคโนโลยีอื่นๆพัฒนาขึ้นมากเพราะความหวังจากนิวเคลียร์จะลดลงไป

อย่างไรก็ตามการเกิดนิวเคลียร์ในไทยหากไม่มีก็ไม่วิกฤตอะไรเพราะไม่ใช่ทุกประเทศในโลกนี้จะต้องมีนิวเคลียร์ ประกอบกับแผนพีดีพีที่กำหนดมีการผลิตไฟฟ้าที่เกินจริงอยู่มากเพราะมีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาข้องเกี่ยวโดยตลอดเวลา 10กว่าปีที่ผ่านมาพบว่าสำรองไฟฟ้าสูงเกิน 15% มาอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น