xs
xsm
sm
md
lg

มั่นใจ”ศูนย์ประชุมฯภูเก็ต”เสร็จทันกำหนดปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

1 ใน 3 รูปแบบที่มีการนำเสนอในการประชุม ซึ่งแบบนี้เป็นการออกแบบที่อาศัยความเป็นธรรมชาติหลังคาเป็นกระดองเต่าทะเล
ศูนย์ข่าวภูเก็ต -รมว.คลังมั่นใจศูนย์ประชุมฯภูเก็ตเสร้จทันกำหนดการในปี 2557 แน่ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนนำเสนอรูปแบบโครงการเบื้องต้น ด้านผู้ประกอบการในภูเก็ตค้านสร้างโรงแรมที่พักในโครงการ ระบุภูเก็ตมีห้องพักจำนวนมากอยู่แล้ว รวมทั้งปัญหาที่จอดรถ การจราจรที่อาจมีปัญหาในอนาคจ

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมเมโทรโพล จ.ภูเก็ต ได้มีการประชุมชี้แจงความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต โดยมี นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางอัญชลี วาณิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมธนารักษ์ ผู้บริหารจากหน่วยงานราชการต่างๆ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด สมาคมโรงแรม และประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมรับฟังมากกว่า 500 คน

การประชุมครั้งนี้ เป็ยการนำเสนอความคืบหน้าโครงการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการไปแล้วหลายขึ้นตอน ทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารโครงการและศึกษาแผนธุรกิจด้านการตลาดเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาไปกำหนดรูปแบบของโครงการ รวมทั้งได้มีการคัดเลือกผู้ออกแบบอาคารและควบคุมงาน โดยครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอแนวความคิดในการออกแบบเบื้องต้น 3 กลุ่ม

ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 KAED103 จุดเด่นของอาคารเป็นรูปกระดองเต่า กลุ่มที่ 2 SPAN&FED จุดเด่นของอาคารเป็นรูปหอยสังข์ และกลุ่มที่ 3 ASD จุดเด่นของอาคารเป็นรูปหอยมุก ส่วนรายละเอียดอื่นๆ เป็นไปตามที่กรมธนารักษ์กำหนดไว้ เช่น สถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงความเป็นภูเก็ต การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบความปลอดภัย พื้นที่จัดประชุมและแสดงนิทรรศการ ที่พักสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน การอนุรักษ์พลังงาน ความเป็นสากล สิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น และขั้นตอนสุดท้ายที่จะดำเนินการคือการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการซึ่งคาดว่าดำเนินการได้ภายในปี 2554

อย่างไรก็ตาม หลังจากการนำเสนอของทั้ง3กลุ่มแล้ว นายวัชรินทร์ ดุมลักษณ์ หนึ่งในประชาชนที่รับฟังการนำเสนข้อมูล กล่าวว่า อยากให้การออกแบบของสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยภาคใต้ ไม่ใช่เน้นแต่ความเป็นต่างชาติ รวมถึงเรื่องระบบความปลอดภัยซึ่งเกิดจากธรรมชาติ

ขณะที่นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการศูนย์ประชุมฯ จะเกิดประโยชน์กับภูเก็ตและฝั่งอันดามันเป็นอย่างมาก เพราะจะทำให้ขยายกลุ่มนักท่องเที่ยวให้ได้กว้างมากยิ่งขึ้น และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ตลอดทั้งปี แต่อยากฝากในเรื่องของการจัดพื้นที่สำหรับจอดรถบัส เนื่องจากการเข้าถึงพื้นที่มีเพียงการใช้รถยนต์เท่านั้น และไม่ควรที่จะมีการสร้างโรงแรมที่พักมาแข่งขันกับทางภาคเอกชน เนื่องจากปัจจุบันห้องพักทุกประเภทในภูเก็ตมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 60,000 ห้อง ในขณะที่เขาหลัก จ.พังงา ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีจำนวนห้องพักรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000-7,000 ห้อง ซึ่งเพียงพอในการรองรับผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ส่วนความกังวลว่าเมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยวแล้วจะมีห้องพักไม่เพียงพอนั้น คิดว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดีก็ไม่น่าจะมีปัญหา

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่กังวลเรื่องของการคมนาคมขนส่งจากตัวเมืองไปยังสถานที่ตั้งศูนย์ประชุมฯ ด้วยเกรงว่าจะไม่มีความคล่องตัว และจะเกิดความแออัด รวมถึงการตัดสินใจเลือกรูปแบบของศูนย์ประชุมฯ โดยอยากให้คนภูเก็ตได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย

ด้านนายกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า วันนี้เป็นการนำเสนอการออกแบบของผู้ออกแบบ ที่ได้คัดมา 3 ราย เพื่อให้ชาวภูเก็ต ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะมีการตัดสินใจคัดเลือกรูปแบบ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าของโครงการศูนย์ประชุมและนิทรรศการนานาชาติ ตามความตั้งใจของรัฐบาล ในโครงการไทยเข้มแข็งและมั่นใจว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จตามกำหนดเวลาที่ได้มีการตกลงกันไว้ ในช่วงต้นปี 2557

สำหรับโครงการศูนย์ประชุมฯดังกล่าว จะยกระดับการท่องเที่ยวของภูเก็ตให้ไปสู่ระดับมาตรฐานสากลได้ และตอนนี้นอกเหนือจากศูนย์ประชุมฯ รัฐบาลยังได้อนุมัติโครงการการขยายสนามบินภูเก็ตเพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 12 ล้านคนต่อปี และขั้นตอนต่อไปคือการพัฒนาระบบการคมนาคมของภูเก็ตให้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะรวมไปถึงระบบรถไฟฟ้ามารองรับเพื่อเชื่อมโยงไปยังศูนย์ประชุมฯ สนามบิน และตัวเมืองภูเก็ต

นายกรณ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีการนำเสนอรูปแบบแล้วภายในสัปดาห์หน้าก็จะมีการตัดสินคัดเลือกให้เหลือเพียง 1 บริษัทมาการออกแบบในรายละเอียด หลังจากนั้นก็จะมีการดำเนินการต่อไปจนถึงขั้นตอนสุดท้าย

ส่วนเรื่องคมนาคมตอนนี้มีเส้นทางเข้าออกศูนย์ประชุมฯเพียงเส้นทางเดียวคิดว่าคงยังต้องมีการพัฒนา เพื่อที่จะให้การเดินทางในตัวเมืองภูเก็ต มาสู่ศูนย์ประชุมฯมีความสะดวกและต้องมีการแก้ไขปัญหาในแต่ละแยกซึ่งมีอยู่สามแยกด้วยกัน ซึ่งอาจจะทำเป็นอุโมงค์ สะพานลอยข้ามแยก หรือระบบรถไฟฟ้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องดำเนินการต่อไป

นายกรณ์ ยังได้กล่าวถึงผลทางเศรษฐกิจของศูนย์ประชุมฯ ว่า ปัจจุบันจำนวนห้องพักในภูเก็ตมีค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นตัวดึงดูดทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวคุณภาพ นักท่องเที่ยวที่มีความพร้อมในการใช้จ่ายสูง เดินทางในพื้นที่ของเรามายิ่งขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราขาดตลาดกลุ่มไมซ์ เชื่อว่าเมื่อมีศูนย์ประชุมเกิดขึ้นก็จะทำให้เจาะกลุ่มตลาดไมซ์เข้ามาเพิ่มมากขึ้นซึ่งตลาดดังกล่าวเป็นตลาดระดับสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น