xs
xsm
sm
md
lg

การลุกขึ้นสู้ของชุมชน (4)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

การลุกขึ้นสู้ของพี่น้องชาวประมงชายฝั่งในพื้นที่อำเภอสทิงพระ สิงหนคร ระโนดและในเขตอำเภอเมืองสงขลาบางส่วน ต่อกรณีได้รับผลกระทบจากการขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล ซึ่งได้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแปลง G5/43 ซึ่งเป็นการขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งมากที่สุดในการขุดเจาะทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่ทะเลฝั่งอ่าวไทย ผลจากการกันเขตห้ามเข้าใกล้แท่นขุดเจาะ ผลกระทบจากตะกอนหลุมเจาะและคราบน้ำมัน ทำให้ชาวประมงชายฝั่งได้รับผลกระทบและต้องลุกขึ้นสู้ แต่ไม่น่าเชื่อว่าการต่อสู้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของพี่น้อง อะไรคือคำตอบของความพ่ายแพ้เป็นเรื่องที่สังคมไทยควรได้รับรู้และเรียนรู้ร่วมกัน

     แหล่งพลังงานในอ่าวไทย ที่มีการจัดสรรให้สัมปทานแก่บริษัทต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาจับจองหาผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานมาช้านาน ซึ่งวันนี้มีการพูดถึงการเมืองใหม่ การเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นเราไม่ควรมองแค่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองถึงการจัดสรรทรัพยากรของชาติเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาความอดอยากยากจนของสังคมเราให้หมดไป ทรัพยากรในทะเลอันประกอบด้วยก๊าซและน้ำมันคือเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญ ที่จะนำมาปฏิรูปตรวจสอบกันใหม่ ว่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นอยู่อย่างไร ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร?       

        วันนี้สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดสงขลากำลังคุกรุ่นด้วยสาเหตุที่บริษัท นิวคอสตอล ซึ่งได้รับสัมปทานในการขุดเจาะและผลิตน้ำมันในแหล่งบัวบาน 1-4 ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับอาชีพประมงชายฝั่งในพื้นที่ 4 อำเภอ และพวกเขาได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ ต่อรองกับผลประโยชน์ของเขาที่จะเสียไปจากการประกอบอาชีพของพวกเขา ทั้งการยื่นหนังสือให้ ผวจ.นำเรือมาปิดร่องน้ำ ขอค่าชดเชย การต่อสู้เป็นไปอย่างโดดเดี่ยวและประสบความพ่ายแพ้ในที่สุด

กล่าวคือบริษัทสามารถเดินหน้าดำเนินการขุดเจาะน้ำมันได้ปกติ ในขณะที่นักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ตลอดถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างได้รับผลประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของพี่น้องแล้วนำไปกดดันเอาผลประโยชน์จากบริษัทเข้าตัวเอง เข้าหน่วยงานอย่างหน้าด้านๆ

แต่ในแง่ของสังคมไทยโดยรวมเราคงมองไปให้ไกลกว่านั้น วันนี้อยากให้ผู้อ่านได้มาทำความรู้จักกับความเป็นมาเป็นไปของบริษัทนี้กัน ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร จากการหาข้อมูลจาก www.coastalenergy.com เราจะพบความเป็นมาของบริษัทนี้ดังนี้       

        Coastal Energy is an international exploration and production company focused on Southeast Asia.The Company's current operations are based in Thailand where it has production from the onshore Phu Horm gas field and development opportunities in the Gulf of Thailand.       

        Coastal Energy Company, formerly PetroWorld Corp.,was incorporated in the Cayman Islands in May, 2004.The Company began trading on the London AIM market in January, 2005 and on the Toronto TSX-V in September of the same year.In early 2006 the Company announced a merger with NuCoastal Thailand Limited, a privately owned company with assets in Thailand.The merger was completed in September 2006 and the name of the company changed to Coastal Energy Company.        

นี่คือหลักฐานที่สังคมไทยควรได้รับรู้ร่วมกันว่า ทรัพยากรในทะเลของเรานั้น (ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ทับซ้อนใดๆ) มีมากมายขนาดไหน และข้อมูลเหล่านี้สังคมไทยไม่ค่อยมีโอกาสได้รับรู้ ทำให้นักการเมืองนำเอาไปหาผลประโยชน์เข้าพรรคเข้ากลุ่มของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม กระทรวงพลังงานโดยนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รัฐมนตรีว่าการฯ ในสมัยนั้น ได้อนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมให้กับบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ตามสัมปทานเลขที่ 7/2546/64

สิทธิประโยชน์และพันธะตามสัญญาปิโตรเลียมที่ 7/2546/64 ซึ่งเริ่มแรกออกให้แก่บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด (ในขณะที่บริษัทแม่จริงๆ ตั้งอยู่บนเกาะเคแมน ตามหลักฐานในเอกสารภาษาอังกฤษข้างต้น) ซึ่งวันนี้สังคมไทยไม่รู้เลยว่า ประเทศชาติได้รับผลตอบแทนเท่าไหร่ ในช่วงเวลาสัมปทาน 15 ปีที่บริษัทนี้มาหาประโยชน์จากทรัพยากรของเรา แหล่งบัวบานคือแหล่งน้ำมันจำนวนมหาศาล ที่วันนี้กำลังตกไปอยู่ในเงื้อมมือของต่างชาติ ที่ไม่มีการเปิดเผยผลประโยชน์ว่าประเทศชาติได้อะไรแค่ไหน?       

        การที่แหล่งเจาะน้ำมันอยู่ห่างฝั่งจังหวัดสงขลาไม่เกิน 30 กิโลเมตร ย่อมส่งผลกระทบทั้งต่ออาชีพของประชาชน โดยเฉพาะอาชีพประมงชายฝั่งที่มีอยู่จำนวนมาก ในช่วงขุดเจาะเวลา 3 ปีพวกเขาถูกห้ามทำการประมง พวกเขาจะไปทำอาชีพอะไร หลังจากนั้นอีก 12 ปีช่วงผลิตระยะห่างจากแท่นเจาะ 500 เมตรรัศมี 4 แท่นเจาะกับ 1 แท่นฐาน มีการห้ามทำการประมง

นอกจากนั้นมลพิษที่จะเกิดจากการขุดเจาะสามารถเข้าถึงชายฝั่งอย่างรวดเร็ว จังหวัดสงขลาโดยเฉพาะชายหาดสมิหรา ซึ่งในช่วงมรสุมที่ผ่านมา กระแสน้ำจะพัดเข้าฝั่งตั้งแต่อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอสิงหนคร และอำเภอเมืองสงขลา เกิดคราบน้ำมันจากการขุดเจาะ ท่อน้ำมันรั่วหรือสาเหตุใดก็แล้วแต่ ซึ่งปรากฏเป็นข่าวให้เรารับรู้อยู่ทั่วไป ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นนี้ มีการระบุความรับผิดชอบของบริษัทไว้แค่ไหนอย่างไร ในขณะที่บริษัทแจ้งว่ามีทุนจดทะเบียนแค่ 100 ล้านบาท เงินแค่นี้จะเพียงพอต่อความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นหรือ การไม่ระบุความรับผิดชอบไว้ในสัญญาหรือให้สังคมได้รับรู้ร่วมตรวจสอบทำให้การลุกขึ้นสู้ของชาวประมงจึงไร้หลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น

ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้รวมตัวกันลุกขึ้นสู้ แต่เหล่านักการเมืองท้องถิ่น ระดับชาติรวมไปถึงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ต่างดาหน้ากันเข้ามายืนข้างบริษัทอย่างเหนียวแน่น บั่นทอนการต่อสู้ของพี่น้อง ต่อรองให้ผลประโยชน์ สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในขบวนการต่อสู้ รับผลประโยชน์จากบริษัทเพียงเล็กน้อยมาแบ่งปันกันอย่างหน้าด้านๆ

การลุกขึ้นสู้อย่างโดดเดี่ยวของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านของจังหวัดสงขลาในขณะนี้กำลังถูกละเลยจากสังคมโดยรวม ทั้งๆ ที่การต่อสู้ของพวกเขายึดโยงกับผลประโยชน์อันมหาศาลของประเทศชาติที่ผู้คนในสังคมควรที่จะได้เข้ามาหนุนช่วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะนักวิชาการที่มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงหาความรู้มาบอก เหล่านักการเมือง ข้าราชการทุกหน่วยจะได้ขยับมายืนเคียงข้างประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศชาติกันเสียที ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น