xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติราคาอาหารโลก : ที่มาและแนวโน้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฉบับนี้ผมขอเปลี่ยนจากที่ส่วนใหญ่เคยเขียนเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและตัวแปรเศรษฐกิจมหภาค เช่น เงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย มาเป็นเรื่องที่ผมไม่ค่อยได้เขียนถึงบ่อยนักคือ เรื่องราคาอาหาร ตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และดัชนีราคาอาหาร (Food Prices Index) ได้ปรับเพิ่มสูงกว่าระดับสูงสุดในอดีตในปี 2551 ไปแล้ว การเพิ่มขึ้นของราคาดังกล่าวเกิดจากปัจจัยหลายประการ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้และปี 2555 สถานการณ์อาจจะดีขึ้น แต่ในระยะยาวแนวโน้มราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นในระดับสูงได้อีกในอนาคตที่ไม่ไกลนี้

สาเหตุที่ราคาอาหารเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2553 มาจากปัจจัยหลายประการ ซึ่งผมขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม เป็นปัจจัยระยะสั้นและระยะยาว ปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ สภาวะแห้งแล้ง โดยเฉพาะในประเทศแถบทะเลดำ (รวมส่วนหนึ่งของรัสเซียด้วย) ขณะที่ ปัจจัยระยะยาว ได้แก่ อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทาน และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น

ปัจจัยระยะสั้นหรือสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวสาลีลดลงเป็นหลัก โดยผลผลิตข้าวสาลีลดลงอย่างมากทำให้ราคาพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 80 แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวสาลีต่อไทยจะต่ำมากเพราะเราไม่ได้บริโภคธัญพืชชนิดนี้ แต่ก็มีผลกับประเทศยากจนหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวสาลีเป็นหลัก การพุ่งขึ้นของราคาข้าวสาลีมีผลกระทบต่อประชาชนที่ยากจนอย่างรุนแรง และเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤติการเมืองของกลุ่มประเทศดังกล่าวในปัจจุบัน

ปัจจัยระยะยาวหรือการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ที่มีต่ออาหาร การที่ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจีนและอินเดียได้เร่งการพัฒนาประเทศและประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ทำให้นอกจากจะบริโภคอาหารโดยเฉพาะธัญพืชและผลผลิตเกษตรอื่นๆ มากขึ้นแล้ว ยังนำธัญพืชและผลผลิตเกษตรดังกล่าวไปเลี้ยงสัตว์เพื่อบริโภคเนื้อ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอาหารที่มีความสิ้นเปลืองสูงกว่าการบริโภคโดยตรงอย่างมาก ทำให้อุปสงค์ที่มีต่อธัญพืชและผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ไทยส่งออกมันไปจีนส่วนใหญ่ก็นำไปผสมกับปลาป่นเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์อย่างรวดเร็วเช่นนี้ทำให้การผลิตเพิ่มตามไม่ทัน ประกอบกับภาวะแห้งแล้ง ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทาน ราคาจึงพุ่งขึ้นในปลายปี 2553 จนทำให้ดัชนีราคาอาหารของโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24 และทำลายสถิติสูงสุดในปี 2551

ปัจจัยระยะยาวอีกตัวหนึ่ง คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลต่อราคาอาหารอย่างมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดสามารถนำไปทำพลังงานได้ เช่น ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมาข้าวโพดร้อยละ 40 ของสหรัฐฯ นำไปผลิต Ethanol เพื่อนำไปผสมน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ กรณีของไทย ร้อยละ 30 ของผลผลิตปาล์มน้ำมันนำไปทำไบโอดีเซล และเนื่องจากราคาต้นทุนน้ำมันปาลม์สูงกว่าน้ำมันดีเซลรัฐบาลจึงชดเชยส่วนต่างให้ผู้ผลิต และจำกัดให้ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตไบโอดีเซลได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของการผลิต สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ประมาณว่า ถ้าราคาน้ำมันดิบสูงกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไบโอดีเซลที่ผลิตด้วยปาล์มน้ำมันจะสามารถทดแทนน้ำมันดีเซลได้ โดยรัฐบาลไม่ต้องชดเชยส่วนต่างของราคา และจะเกิดการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซลมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อราคาปาล์มน้ำมันที่นำใช้ในการบริโภค ถ้าอุปสงค์ของน้ำมันเชื้อเพลิงยังเพิ่มขึ้นในอัตราปัจจุบัน คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะสูงกว่า 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในอีกไม่นาน ซึ่งจะยิ่งทำให้มีการนำผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้เป็นอาหารไปทำพลังงานทดแทนมากขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะคุ้มทุน ผลที่ตามมาคือจะทำให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

การที่อุปสงค์ที่มีต่ออาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาน้ำมันมีแนวโน้มพุ่งขึ้น ทำให้อุปสงค์โดยรวมที่มีต่ออาหารเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ขณะเดียวกันจากความจำกัดของที่ดินทำให้อุปทานจะเพิ่มขึ้นตามได้อย่างจำกัด อุปสงค์จึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทาน ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ แม้ว่าจะไม่มีสภาวะอากาศแห้งแล้ง ราคาอาหารก็จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานดังกล่าว

ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพแล้วว่า แม้ว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยหลักมาจากปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัญหาระยะสั้น และอาจจะบรรเทาลงในปีนี้เมื่อมีผลผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตาม เราจะละเลยปัจจัยระยะยาวไม่ได้ ซึ่งได้แก่การที่อุปสงค์เพิ่มเร็วกว่าอุปทาน และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ราคาอาหารพุ่งขึ้นได้อีกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยทุกคนในเรื่องนี้ก็คือ เราจะเตรียมตัวรับมือสถานการณ์นี้ได้อย่างไรโดยประชาชนจะถูกกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกันจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารชั้นนำของโลก ดังนั้นโจทย์อีกข้อหนึ่งก็คือเราจะสร้างโอกาสให้กับประเทศอย่างไรเมื่อราคาอาหารสูงขึ้น

bunluasak.p@cimbthia.ocm
กำลังโหลดความคิดเห็น