xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ปล่อยเกลี้ยงผู้ร้ายเผาเมือง “มาร์ค”บดขยี้หลักนิติรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ศาลอาญาก็ให้ประกันตัว นปช.ที่ตกผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายจากการก่อเหตุเผาบ้านเผาเมือง นำอาวุธหนักออกมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ช่วงเดือนเมษาฯ - พฤษภาฯ ปี 2553 อีก 3 คน เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้ง 23 คน ได้รับการประกันตัวออกมาทั้งหมดแล้ว

ท่ามกลางความหวาของคนทั่วไปว่า หลังจากผู้ต้องหาเหล่านี้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มีอยู่ประจำทุกสัปดาห์ จะยกระดับเป็นการเผาเมืองประจำปีเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่

แม้ศาลจะกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามไม่ให้ยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนอันที่จะทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็มีการละเมิดเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อ 7 แกนนำ นปช.ที่ได้รับการประกันตัว ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ไปร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยที่เวทีการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2554

ซึ่งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เห็นว่าเป็นการละเมิดเงื่อนไขการประกันตัว แม้จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ไม่ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และไม่ไปก่อเหตุร้ายประการอื่น แต่การกระทำของจำเลยทั้ง 7 คน เข้าข่ายเป็นการก่อเหตุร้ายประการอื่น คือ การไปจัดชุมนุมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งคำพิพากษาของศาล และคำสั่งของศาลแพ่งได้วางบรรทัดฐานไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าการชุมนุมที่ถูกกฎหมายต้องเป็นไปโดยสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธและไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่น แต่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ผิดกฎหมายปิดกั้นเส้นทางการจราจร และกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น การจัดชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา จึงถือว่าฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการยั่วยุปลุกปั่นให้มีการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย จึงถือเป็นความผิดสำเร็จและผิดเงื่อนไขของศาล ที่ห้ามยุยงปลุกปั่น ยั่วยุ หรือการกระทำที่กระด้างกระเดื่องต่อกฎหมายบ้านเมือง

นอกจากนี้เมื่อพนักงานสอบสวนพิจารณาถ้อยคำปราศรัยทั้งหมดของแกนนำ นปช.บนเวทีปราศรัย ก็พบว่ามีลักษณะยั่วยุ ปลุกปั่นให้มีการเกลียดชังกระบวนการยุติธรรม ตำหนิการกระทำของตำรวจ ทหาร และดีเอสไอ ว่ามีการปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน อันเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่นแก่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุม พนักงานสอบสวนได้พิจารณาจากพฤติการณ์ทั้งหมด และถอดเทปคำปราศรัยแล้ว เห็นว่าฝ่าฝืนกฎหมายและเงื่อนไขการให้ประกันของศาล จึงได้ยื่นขอถอนประกันตัวแกนนำ นปช.ทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

แต่เมื่อศาลพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว โดยระบุว่า หน้าที่ของพนักงานสอบสวนในดดีสิ้นสุดลงแล้ว และเป็นหน้าที่ของอัยการ หากผู้ร้องเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตามคำสั่งของศาล ก็ควรรวบรวมพยานหลักฐานเสนอต่อพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาว่ามีเหตุอันควรที่อัยการจะยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่

นั่นเท่ากับว่าหลังจากนี้ หากแกนนำ นปช.กระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว ผู้ที่มีหน้าที่ยื่นต่อศาลเพื่อขอถอนประกันต้องเป็นอัยการเท่านั้น ซึ่งในสำนักงานอัยการเองก็มีข้อครหาว่าทักษิณ ชินวัตร ได้วางคนของตัวเองเอาไว้จำนวนมาก

ที่สำคัญเมื่อมองถึงแนวทางการพิจารณาของศาลในขั้นต่อไป ก็มีแนวโน้มว่า คนร้ายที่ก่อเหตุเผาบ้านเผาเมือง-นำอาวุธหนักออกมาสังหารเจ้าหน้าที่นั้น อาจจะพ้นจากความผิดอย่างลอยนวล นั่นเพราะจากคำให้การของคนของรัฐบาล ที่ไปขึ้นศาลเมื่อวันที่ 22 ก.พ.54 ช่วยให้แกนนำ นปช.ได้รับการกระกันตัวออกมาตามแนวทางการปรองดองของรัฐบาลนายอภสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น อาจจะทำให้ผู้ต้องกาหลุดคดีได้โดยง่าย

โดยเฉพาะคำให้การของ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ที่เบิกความต่อศาลว่า ตนได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ประสานงานระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ,และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กับฝ่าย นปช.ให้ทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของเหตุการณ์ คอยเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมทั่วทั้งประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ต้องหาดีพอสมควร โดยเฉพาะการขอความร่วมมือเรื่องพื้นผิวการจราจรเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด รวมทั้งการขอเข้าตรวจค้นอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งการตรวจค้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่พบอาวุธ แต่ปรากฏว่า การชุมนุมของแกนนำ นปช.มีการใช้คำปราศรัย โดยมีคำพูดยั่วยุรุนแรงหลายครั้ง

คำเบิกความของ พล.ต.ต.วิชัย มีคำสำคัญที่นับว่าเป็นประโยชน์ ต่อแกนนำ นปช.นั่นคือคำว่า “ได้รับความร่วมมือจากผู้ต้องหาดีพอสมควร” และ “การตรวจค้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่พบอาวุธ”
นอกจากนี้ ยังมีคำเบิกความนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ว่า จากที่ผู้ต้องขังได้จำคุกมาประมาณ 9 เดือน พบว่า มีพฤติกรรมเรียบร้อยไม่สร้างความวุ่นวาย บางครั้งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

รวมทั้งคำเบิกความของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ที่บอกว่า รู้จักกับแกนนำบางคนเป็นอย่างดี และจากการได้พูดคุยกับจำเลย ก็ได้รับปากว่า จะไม่ก่อความวุ่นวายอีก และพร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดอง และโดยส่วนตัวเชื่อว่า จำเลย จะไม่ออกมาสร้างความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก หากไม่มั่นใจตนก็คงไม่กล้ามาเบิกความเป็นพยานต่อศาล

ทั้งหมดนี้ คือคำให้การของพยานฝ่ายรัฐบาลเอง ที่คนเสื้อแดงจะใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสู้คดีขั้นต่อไป

ขณะที่การเคลื่อนไหวนอกศาล แกนนำคนเสื้อแดงที่ได้รับการประกันตัวออกมา ยังคงเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลต่อสาธารณะชน ปฏิเสธว่า ไม่ได้มีส่วนในการเผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่ตลอดเวลาในระหว่างการชุมนุม พวกเขาปลุกระดมให้มีการเตรียมน้ำมัน ปราศรัยชี้นำว่า ถ้าตกใจให้วิ่งเข้าห้างฯ หรือ หากถูกสลายการชุมนุมให้ไปที่ศาลากลางได้เลย

ส่วนในสภา ส.ส.พรรคเพื่อไทย ก็ยังคงนำประเด็นการสลายการชุมนุมไปอภิปรายบิดเบือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่นายอภิสิทธิ์ลอยตัวเหนือปัญหาโดยโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้ทหาร ขณะที่หลักนิติรัฐที่นายอภิสิทธิ์เคยท่องบ่นเป็นคาถาประจำตัวในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ นั้น ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง
กำลังโหลดความคิดเห็น