xs
xsm
sm
md
lg

ตามแง้มดูวอร์รูม "พาณิชย์" โชว์ข้อมูลเด็ดขอดเกล็ดฝ้ายค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.) เป็นวันแรกของการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ประเด็นที่พอจับใจความได้ เรื่องหลักๆ ก็คือ การแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม การระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล และการดูแลค่าครองชีพ ที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายว่ากระทรวงพาณิชย์มีความล้มเหลวในการบริหารจัดการ จนสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร

ทั้งหมดนี้ คือ ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายค้าน นำทีมโดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีตรมว.พาณิชย์ ที่ปัจจุบันรับบทผู้นำฝ่ายค้านในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้

จากข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ประชาชนคงอยากรู้ว่า กระทรวงพาณิชย์จะตอบว่าอย่างไร จะชี้แจงอะไร เพราะข้อกล่าวหาดูแล้ว ก็หนักหนาเอาการอยู่ทีเดียว

ลองตามไปดูที่กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ได้มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อติดตามการอภิปรายในครั้งนี้ มีนายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) เป็นคีย์แมน ทีมงานประกอบด้วยข้าราชการระดับสูง มีนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายนพดล สระวาสี โฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายข้าราชการ) และข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมเป็นทีมงาน

เมื่อดูลงลึกไปถึงการเตรียมความพร้อมด้านข้อมูลต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนต่อข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน และที่เด็ดไปกว่านั้น ทุกข้อมูลสามารถนำไปใช้ตอบโต้ และแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายค้าน ในสมัยที่เป็นรัฐบาลได้อีกด้วย

"ผมรู้สึกมึนงง มึนตึบ กับการอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้ ไม่มีอะไรชัดเจน มีแต่คำขู่ว่าจะมีหมัดเด็ด แต่เท่าที่ฟังดู ไม่เห็นจะมีอะไร เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาลอยๆ ทั้งนั้น ก็เลยไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายอะไรกันแน่” นายฉัตรชัยเริ่มต้นตอบโต้ข้อมูลของฝ่ายค้านที่นำมาใช้ในการอภิปรายครั้งนี้

จากนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องน้ำมันปาล์ม นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ถูกดิสเครดิต เอาแต่เรื่องเก่าๆ มาพูด แล้วให้ข้อเท็จจริงไม่หมด ที่สำคัญกล่าวหาผิดกระทรวง เพราะเรื่องน้ำมันปาล์ม จริงๆ แล้วดูแลโดยคณะกรรมการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ กระทรวงพาณิชย์ดูแลตรงปลายน้ำ แต่ก็ไม่เคยนิ่งนอนใจ มีการติดตามและแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ส่วนประเด็นที่มีการกล่าวหาว่า ปล่อยให้มีการปรับขึ้นราคา 30% หรือขึ้นขวดลิตรละ 9 บาท ยืนยันเป็นการปรับขึ้นตามข้อเท็จจริง เพราะในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.2553 ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มปรับตัวสูงขึ้น บริษัทผู้ผลิตจึงแจ้งขอปรับราคาจากเดิม 38 บาทต่อลิตร เป็น 48 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 10 บาท แต่กระทรวงพาณิชย์เห็นว่า การปรับขึ้นขนาดนี้กระทบกับประชาชนเกินไป จึงได้ชะลอการปรับราคาและเสนอให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบก่อน เพราะตอนนั้น ราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์มภายในประเทศ สูงผิดปกติ สูงถึง 7-9 บาท/กก. และ 42-44 บาท/ลิตร ตามลำดับ ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียอยู่ที่ 36 บาทต่อลิตร ถ้านำเข้าก็จะช่วยลดต้นทุนด้านวัตถุดิบลงได้

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผู้ผลิตขอขึ้นราคา ได้เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดอย่างกว้างขวาง จึงต้องดูแลปากท้องประชาชน ก็เลยจำเป็นต้องใช้นโยบายตรึงราคาสินค้าถึงสิ้นปี และน้ำมันปาล์มก็เป็นหนึ่งในนั้น

พอย่างเข้าสู่ปีใหม่ ผู้ผลิตได้แจ้งเรื่องขอปรับราคาเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยพิจารณาจากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศ 3 หมื่นตัน ที่ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ และกำหนดราคาแนะนำเท่ากับ 47 บาท เป็นราคาที่ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เป็นการปรับขึ้นตามอำเภอใจตามที่ถูกกล่าวหา และไม่ได้ผลักภาระให้ประชาชน แต่เป็นการปรับขึ้นราคาเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่รอดได้ ทั้งผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภค

ส่วนการดูแลค่าครองชีพ ได้กำกับดูแลสินค้าในภาพรวมให้อยู่ในระดับที่ประชาชนยอมรับได้ โดยสามารถดูแลให้เงินเฟ้อในปี 2553 อยู่ในระดับ 3.3% เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกือบดีที่สุดในเอเชีย รองจากมาเลเซียเท่านั้น

สำหรับการระบายข้าวในสต็อกรัฐบาล นายฉัตรชัยบอกว่า ตรงนี้มีข้อมูลเด็ด ที่จะใช้ขอดเกล็ดฝ่ายค้านจนสะดุ้งได้ เพราะการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมา ทำตามนโยบายของรัฐบาล ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และถือว่าทำสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากการระบายข้าวไม่ได้ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ และยังสามารถขายข้าวได้สูงกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ขายได้ด้วย

ข้อมูลเด็ดที่ว่า สืบไปสืบมาถึงรู้ว่า ในสมัยที่นายมิ่งขวัญ เป็นรมว.พาณิชย์ เป็นผู้ที่ทำให้รัฐบาลเสียโอกาสในการขายข้าวได้ราคาดี และนำเงินกลับส่งคืนให้กับรัฐบาลไปอย่างน่าเสียดาย เพราะไม่เพียงแต่จะไม่ระบายข้าว แต่กลับมีแนวคิดเอาไปใส่ถุงขาย แต่ก็ทำได้แค่คิด แค่พูด แต่ไม่ทำ เลยทำให้โอกาสที่จะขายข้าวได้ราคาดี ได้ราคาตันละ 3 หมื่นบาท หลุดลอยไป แล้วการที่ข้าวมีราคาทะลุถึงตันละ 3 หมื่นบาท ก็ไม่ใช่เพราะทำเอง แต่เป็นเพราะโชคช่วย ที่ปีนั้น เกิดวิกฤตการด้านอาหาร สต๊อกข้าวทั่วโลกลดลง หลายๆ ประเทศห้ามส่งออกข้าว เลยทำให้ความต้องการสูงขึ้น

ที่เด็ดไปกว่านั้น ยังพบอีกว่า สมัยที่นายไชยา สะสมทรัพย์ เป็นรมว.พาณิชย์ ไม่ได้ช่วยให้ราคาข้าวดีขึ้น แต่กลับทำให้รัฐบาลเสียหายจากการขายข้าวมากขึ้น เพราะแทนที่จะขายข้าวได้ราคาดี แต่กลับนำเอาไปขายในราคาถูกๆ ทำให้รัฐบาลเสียหายอย่างมาก

เป็นข้อมูลที่ได้มาจากวอร์รูมกระทรวงพาณิชย์ ที่ตระเตรียมไว้ตอบโต้ฝ่ายค้านในข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่วนข้อมูลใครจะเด็ด ใครจะด้อย เราๆ ท่านๆ คงได้รับฟังกันไปแล้ว แต่ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ ดูเหมือนว่าทีมงานพาณิชย์เตรียมตัวมาดีกว่าทุกๆ ครั้ง แทนที่จะถูกฝ่ายค้านขึงพรืดกลางสภา ก็กลับกลายเป็นว่า มีประเด็นเด็ด เอาไว้ขอดเกล็ดฝ่ายค้าน ได้อย่างเจ็บแสบ แทนที่จะถูกขุดคุ้ย กลับกลายเป็นว่าฝ่ายค้านเปิดเวทีให้พาณิชย์อภิปรายผลงานเสียหายที่ตัวเองทำไว้ไปซะงั้น !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น