ศูนย์ข่าวนครราชสีมา -ผู้ว่าฯโคราชสวนกระแส ผลักดัน“แหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น โนนสูง นครราชสีมา” ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เผยเป็นอู่อารยธรรมแหล่งประวัติศาสตร์โบราณคดีขนาดใหญ่ ขุดค้นพบโบราณวัตถุและโครงกระดูกมนุษย์โบราณจำนวนมากอายุกว่า 4,500 ปี เทียบเคียงกับบ้านเชียง จ.อุดรธานี
วานนี้ ( 7 มี.ค.) นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าจ.นครราชสีมามีแหล่งโบราณสถานและโบราณคดีอยู่หลายแห่งและอีก 1 แห่ง ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของประชาชนนักท่องเที่ยวแต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างยิ่ง คือ อู่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น หรือ โนนสูงนครราชสีมา ซึ่งจังหวัดจะผลักดันสู่การเป็นมรดกโลก
ทั้งนี้ จ.นครราชสีมาเป็นส่วนหนึ่งของแอ่งโคราช บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลหรือแหล่งประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีอีสานตอนล่าง ซึ่งเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย จากการศึกษาของนักโบราณคดี พบร่องรอยกิจกรรมมนุษย์สมัยโบราณไม่น้อยกว่า 4,000 ปี และโบราณวัตถุจำนวนมากในยุคหิน ยุคสำริด และยุคเหล็ก โดยเฉพาะบริเวณ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เทียบเคียงกับ บ้านเชียง จ.อุดรธานี
ขณะนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ศึกษาพัฒนา ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ โดยร่วมมือกับ นักวิจัยชาวไทย และ ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีจากต่างประเทศ คือ Prof. Charles Higham มหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ศึกษาค้นคว้ามาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี และประชาชนในพื้นที่ได้มีการบริจาคพื้นที่ รวมทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 6 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้
ดังนั้น เพื่อให้บริเวณที่มีการขุดค้นพบวัตถุโบราณต่างๆ มีการบริหารจัดการ และให้มีการพัฒนาเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ควบคู่กับมรดกโลกบ้านเชียง ที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน จ.นครราชสีมาจึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อศึกษาและดำเนินการ ภายใต้ชื่อคณะกรรมการพัฒนาแหล่งโบราณคดีลุ่มแม่น้ำมูลตอนต้น ( โนนสูง นครราชสีมา ) เป้าหมายเพื่อผลักดันขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กับองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก
สำหรับแหล่งโบราณคดี ดังกล่าว ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.โนนสูง 5 จุด คือ จุดที่ 1 บ้านหลุมข้าว ต.หลุมข้าว , จุดที่ 2 บ้านปราสาท ต.ธารปราสาท , จุดที่ 3 โนนเมืองเก่า บ้านดงพลอง ต.หลุมข้าว , จุดที่ 4 เนินอุโลก บ้านหนองนาตูม ต.พลสงคราม ซึ่งทั้ง 4 จุดนี้ ได้มีการขุดพบโบราณวัตถุก่อนประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ อายุกว่า 2,500 - 3,000 ปี และจุดที่ 5 คือ จุดบ้านโนนวัด ต.พลสงคราม เป็นจุดที่ค้นพบโบราณวัตถุ และโครงกระดูก มนุษย์โบราณอายุกว่า 4,500 ปี ที่แขน 2 ข้างของโครงกระดูกใส่กำไลเปลือกหอยทะเลเต็มทั้ง 2 แขน ซึ่งนักโบราณคดียืนยันว่า หากมีการขยายหลุมขุดค้นต่อไป ก็จะพบวัตถุโบราณ และโครงกระดูกเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะบริเวณนี้ถือเป็นอู่อารยธรรมที่ใหญ่มาก ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกันกับบ้านเชียง
“การดำเนินการล่าสุด นายสุชาติ นพวรรณ รองผู้ว่าฯ นครราชสีมา ได้เป็นประธานประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการหารือเกี่ยวกับเรื่องการจัดหาที่ดิน เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ ร้านค้าของที่ระลึก และส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันสู่การเป็นมรดกโลกดังกล่าว ” นายระพี กล่าว