xs
xsm
sm
md
lg

ละครมหาดไทย : จาก ป. (ปลี) สมุหพระกลาโหม ถึง ป. (ประวิตร ) รมว.กห.

เผยแพร่:   โดย: รมย์ ธรรมวัฒนารมณ์

กลาโหม นับจากเจ้าพระยามหาเสนา (ปลี) ที่ดำรงตำแหน่งสมุหพระกลาโหมคนแรก เมื่อ พ.ศ. 2325 และมีพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพในตำแหน่งเจ้าพนักงานใหญ่ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในลำดับแรก เมื่อ พ.ศ. 2430

ราชอาณาจักรสยามและราชอาณาจักรไทย ยังไม่เคยถูกลบหลู่อธิปไตยเหนือดินแดนแต่ประการใด แม้บางครั้งจะมีสภาวะสงครามโลกหรือสงครามมหาเอเชียบูรพาเข้ามาในแผ่นดินไทยก็ตาม นานาชาติต่างยกย่องเอกราชความเป็นชาติของไทย รวมทั้งสดุดีความกล้าหาญและเกียรติภูมิอันสูงยิ่งของกองทัพไทยมาโดยตลอด

ลองย้อนกลับไปรำลึกถึงความภาคภูมิใจของทหารหาญไทยบางส่วน บางยุคบางสมัย ในอดีต

มิถุนายน 2461 ไทยส่งกองทหารอาสาสยาม 1,284 นาย ที่มี พอ.พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นผู้บังคับการ เข้าสมรภูมิรบสงครามโลกครั้งที่ 1 ในยุโรปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเปแตงแม่ทัพใหญ่ พันธมิตรกองทหารอาสาสยามกลับประเทศในวันที่ 21 ก.ย. 2462 ด้วยความภาคภูมิใจในฐานะประเทศผู้ชนะสงคราม

ตุลาคม 2493 ไทยส่งทหารกรมผสมที่ 21 และทหารราบ 1 กองพัน เข้ารบร่วมในสมรภูมิเกาหลี ช่วยเหลือเกาหลีใต้ตามหลักอุดมคติของสหประชาชาติ และสันติสุขของโลก สงครามยุติเมื่อเกาหลีเหนือลงนามสงบศึกในวันที่ 27 ก.ค. 2497 พร้อมกับตำนานวีรกรรมทหารไทยในความทรงจำของชาวเกาหลี

กรกฎาคม 2510 ไทยส่งทหารอาสาสมัครกองทัพบกที่รู้จักในชื่อ “จงอางศึก” “เสือดำ” เข้าปฏิบัติการในเวียดนามใต้ยับยั้งการคุกคามของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ สงครามยุติทหารไทยเดินทางกลับประเทศในวันที่15 พ.ค. 2515 พร้อมคำยกย่องความกล้าหาญของนักรบไทยในสมรภูมิเวียดนามแห่งนี้

ตุลาคม 2542 ไทยส่งกองกำลังเฉพาะกิจร่วม 972 ไทย/ติมอร์ตะวันออก ไปติมอร์ตะวันออกเข้าปฏิบัติภารกิจสำคัญในการรักษาสันติภาพร่วมกับกองกำลังนานาชาติ ตามคำเชิญของสหประชาชาติและรัฐบาลอินโดนีเซีย

มกราคม 2544 เดิมไทยเคยส่งกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 เข้าฟื้นฟูเส้นทางหมายเลข 5 ในกัมพูชาเมื่อ 3 ก.พ. 2535 ต่อมาเมื่อ 12 ม.ค. 2544 สหประชาชาติขอให้ไทยส่งกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 จำนวน 800 นาย เข้ากัมพูชาอีกโดยขอให้ช่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิด กับระเบิดตามเส้นทางการส่งกลับผู้อพยพและบริเวณพื้นที่ที่จะใช้เป็นศูนย์รับผู้อพยพของกัมพูชา เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นเดินทหารไทยเดินทางกลับเมื่อ 5 มี.ค. 2546

มกราคม 2546 ไทยส่ง “กองร้อยทหารช่างเฉพาะกิจ 975 ไทย-อัฟกานิสถาน” จำนวน 130 นาย เข้าไปยังประเทศอัฟกานิสถานตามคำร้องขอจากสหรัฐอเมริกา โดยเข้าร่วมผสมกับกองทัพสหรัฐอเมริกาและกองทัพประเทศอื่นๆ อีก 23 ประเทศ บูรณะฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของอัฟกานิสถานที่เสียหายจากสภาวะสงครามที่มีมากว่า 2 ทศวรรษ

กันยายน 2546 ไทยส่งกองพลทหารช่างเข้าปฏิบัติการในประเทศอิรักเป็นพลัดแรกและพลัด 2 ในเดือนมีนาคม 2547 โดยมีภารกิจด้านมนุษยธรรมต่อเนื่องจากการภารกิจในประเทศอัฟกานิสถาน กำลังพลชุดนี้ปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้นเมื่อ 20 ก.ย. 2547แล้วเดินทางกลับ

ธันวาคม 2546 ไทยส่งหน่วยเฉพาะกิจทหารช่างไปยังประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดขึ้นร่วมกับนานาชาติ ทหารชุดนี้สิ้นภารกิจเดินทางกลับเมื่อ 13 ม.ค. 2547

มิถุนายน 2548 ไทยส่งกำลังพลทหารช่างและยุทโธปกรณ์รวม 3 พลัด เข้าปฏิบัติการในประเทศบุรุนดียาวนานถึง 540 วัน เพื่อทำหน้าที่รักษาสันติภาพร่วมกับสหประชาชาติ และเดินทางกลับไทยเมื่อ30 พ.ย.2549

กันยายน 2553 ไทยส่งกำลังทหารกองทัพเรือ ไปปฏิบัติภารกิจในอ่าวเอเดน และพื้นที่ตามแนวชายฝั่งโซมาเลียร่วมกับกองกำลังผสมทางเรือนานาชาติ เพื่อคุ้มครองเรือประมงไทย เรือสินค้านานาชาติ ป้องกันและขัดขวางการกระทำอันเป็นโจรสลัด กำลังพลเสร็จสิ้นภารกิจเดินทางกลับไทยเมื่อ 20 ม.ค.2554

ตราบจนมาถึง พ.ศ.นี้ 2554 ที่มี รมว.กลาโหม ลำดับที่ 57 ชื่อ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ ผบ.ทบ. ลำดับที่ 37 ที่ชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

มีข่าวว่าทหาร ไม่สามารถคุ้มครองผืนแผ่นดินชายแดนไทยที่ศรีสะเกษได้ ถึงขั้นต้องอพยพราษฎรไทยออกจากแนวชายแดนและตั้งศูนย์อพยพคนไทยขึ้น ในแผ่นดินไทยเอง

ทั้งที่ในอดีตทหารไทยได้รับการยกย่องให้เป็นผู้คุ้มครองดินแดนและดูแลศูนย์อพยพคนชาติอื่นอยู่เสมอ

มีข่าวว่าทหาร ไม่มีใจไม่สามารถยับยั้งการเข้าโจมตีของทหารกัมพูชาในเขตพื้นที่ไทยได้ แถมต้องสูญเสียชีวิตทหารบางรายไป จะเป็นข้อจำกัดทางการเมืองหรือไม่ก็ตาม แต่เพราะหน้าที่หลักของทหารคือการยับยั้งข้าศึก

ทั้งที่ในอดีตทหารไทยแสดงให้เห็นถึงความหาญกล้าในสมรภูมิรบหลายแห่งเช่นวีรกรรมสู้รบที่หมู่บ้านล็อกอัน เวียดนามใต้เมื่อ 16 มิ.ย. 2512 ทหารไทยสังหารข้าศึกเวียดกงได้คราวเดียว 215 ศพ ฝ่ายเราเสียชีวิตเพียง 2 นาย

มีข่าวว่าทหาร มีผู้นำที่ยอมรับกองกำลังทหารอินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่การปะทะรอบประสาทพระวิหาร ในฝั่งไทย 15 คน เท่ากับราชอาณาจักรไทยยอมให้ประเทศอื่นเข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดน

ทั้งที่ในอดีตทหารไทยอยู่ในฐานะที่สหประชาชาติและรัฐบาลอินโดนีเซียร้องขอให้ไปช่วยรักษาสันติภาพในประเทศอินโดนีเซียมาก่อนด้วยซ้ำ

มหาดไทยสอนประชาชนโดยตลอดว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทยเราไม่เคยยอมให้ชาติอื่น เข้ามาเฝ้ารักษาหรือตรวจตราในแผ่นดินไทยได้เลย แต่ในยามนี้ราชอาณาจักรไทยที่บรรพชนได้ปกปักรักษาแผ่นดินมาด้วยเลือดเนื้อกำลังจะถูกละเมิดอธิปไตย ศักดิ์ศรีเกียรติยศกองทัพไทยที่ได้รับการสดุดีจากนานาชาติมาโดยตลอด กำลังจะถูกทำลายลง

ภาษิตนักรบโบราณ บทพระราชนิพนธ์ล้นเกล้าฯ ของรัชการที่ 6 ตอนหนึ่งที่ว่า

ถึงวันนี้กลาโหม อายุ 229 ปี เกียรติศักดิ์ทหารเสือจะเหลืออยู่หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ ชายชื่อ ป. ประวิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น