xs
xsm
sm
md
lg

วิหารคู่พระธาตุแช่แห้งร้าว จากเหตุแผ่นดินไหวในลาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังเกิดแผ่นดินไหวในลาว พบว่า วิหารคู่พระธาตุแช่แห้งของไทยได้รับความเสียหายหลายจุด
น่าน-แผ่นดินไหวในลาว ทำวิหารหลวงอายุ 500 ปีคู่วัดพระธาตุแช่แห้ง วัดเก่าแก่คู่บ้านเมืองน่านร้าว ด้านสำนักศิลปากรที่ 7 น่านที่เข้าสำรวจความเสียหายระบุรอยร้าวที่เกิดขึ้นบนผนังเชื่อมต่อกับเสาวิหารไม่น่าห่วง แต่ต้องเฝ้าระวังหากเกิดแผ่นดินไหวอีกและมีรอยร้าวเพิ่มมากขึ้น อาจต้องเขียนแบบเพื่อบูรณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งว่าเกิดแผ่นดินไหวแรงสั่นสะเทือน 5.4 ริกเตอร์ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เมื่อเวลา 22.53 น. ของวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยศูนย์กลางอยู่บริเวณเทือกเขาแขวงไซยะบุรี ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับจ.น่าน เลย อุตรดิตถ์ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นเทือกเขาสูง ไม่ค่อยมีประชากรอาศัยอยู่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า ในจ.เลย นครพนม อุตรดิตถ์ และน่าน รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว โดยที่ จ.น่าน ชาวบ้านต่างพากันตื่นตระหนกกับแรงสั่นสะเทือนจากการเกิดแผ่นดินไหว โดยได้โทรศัพท์เข้าไปสอบถามที่อุตุนิยมวิทยาจังหวัดน่าน และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยในสิ่งปลูกสร้างตั้งแต่ชั้นที่ 2 ขึ้นไปต่างหวาดกลัว เนื่องจากรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนานประมาณ 1-3 วินาที

นอกจากนี้ที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ บ่อเกลือ และแม่จริม ซึ่งเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ติดลาว สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่าพื้นที่อื่น

ที่อ.บ่อเกลือ นายประสิทธิ์ ดุษฎีวงศ์ เจ้าหน้าที่ปกครองที่อยู่เวรยามรักษาความปลอดภัยตัวอำเภอ กล่าวว่า ดวงไฟสั่นไหวเวลานานถึง 3 วินาที ตัวอาคารที่ว่าการสั่นสะเทือนรู้สึกได้อย่างชัดเจน แต่ยังไม่สามารถตรวจสอบความเสียหายตามโครงสร้างอาคารต่าง ๆ ทั้งอาคาร ร.พ.บ่อเกลือ โรงเรียนบ่อเกลือที่เป็นอาคารตึก

ขณะที่นายธวัช เพ็ชรวีระ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดน่าน ได้เปิดเผยว่า ศูนย์กลางเกิดแผ่นดินไหว อยู่ห่างจากอ.แม่จริม จังหวัดน่าน 55 กิโลเมตร คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย คาดว่าจุดที่เกิดแผ่นดินไหว เกิดขึ้นบริเวณเทือกเขาแขวงไซยะบุลี ซึ่งเป็นแขวงที่มีอาณาเขตติดต่อกับจ.น่าน เลย อุตรดิตถ์ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นเทือกเขาสูง คล้ายจ.น่าน ไม่ค่อยมีประชากรอาศัยอยู่ ไม่น่ามีผลกระทบรุนแรง อาจจะมีเพียงที่เมืองเงิน เมืองหงสา แขวงไซยะบุลี ที่กลุ่มบ้านปูของไทยเข้าทำเหมืองลิกไนต์ด้วย ยังไม่แน่ใจว่าได้รับผลกระทบหรือไม่

ด้านนายชรินทร์ สุวรรณภูเต ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย แจ้งว่า ได้สอบถามไปยังโรงแรม และผู้ประกอบการที่มีอาคารสูงหลายแห่งในจังหวัดหนองคาย ทราบว่ารับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวแต่ไม่มีความเสียหายของตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ

ขณะที่ นางละลอน วิวาท ชาวบ้านบ้านโป่งเบี้ย จ.เลย กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุตนรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน ประมาณ 5-7 วินาที ตอนแรกก็คิดว่ามีหนูวิ่งไล่กันบนฝ้าเพดาน จึงตื่นมาพร้อมกับเห็นชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน เปิดไฟสว่างออกจากบ้า แล้วออกมาคุยกัน หลังจากนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านทั้งหมดก็ไม่ยอมหลับนอน เพราะกลัวว่าอาจจะเกิดเหตุซ้ำ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าวพบว่า แม้ในจ.เลย หนองคาย และอุตรดิตถ์ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของการเกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่พบความเสียหายใดๆ ขณะที่ในจ.น่าน จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น พบว่า วิหารหลวงที่อยู่ติดองค์พระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่านอายุกว่า 500 ปี คู่กับองค์พระธาตุได้รับความเสียหายหลายจุดมีรอยแตกร้าวรอบตัววิหาร และที่สำคัญหลังคาทิศตะวันตกติดองค์พระธาตุกระเบื้องแตก ทรุด คาดที่ยึดเสียหาย 3 จุด ยาว 3 เมตร

ส่วนองค์พระธาตุแช่แห้งกำลังอยู่ในระหว่างการบูรณะ เพื่อเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองในฐานะเป็นพระธาตุปีเถาะปีแห่งพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีผ้าหุ้มรอบองค์พระธาตุยังไม่สามารถเห็นความเสียหายได้

พระครูวิสิฐ นันทวุฒิ กล่าวว่า จะแจ้งให้กรมศิลปากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบเข้ามาตรวจสอบวิหาร - องค์พระธาตุที่อยู่ระหว่างบูรณะโดยละเอียดอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดวิหารแห่งนี้เคยบูรณะเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา และภายในพระวิหารหลวง มีพระประธานพระเจ้าอุ่นเมืองและพระเจ้าล้านทอง มีอายุกว่า 500 ปีเช่นกัน

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายวัฒญากรณ์ สมพิตร์ นายช่างโยธา และนายวิทยา ขันทยศ เจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ได้เข้าตรวจสอบรอยร้าวภายในวิหารหลวง วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวในลาว

พระใบฎีกา สรศักดิ์ ธรรมวโร เลขานุการเจ้าคณะอำเภอภูเพียง กล่าวว่า จากแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวดังกล่าว ส่งผลให้ตัววิหารหลวง มีรอยร้าวเกิดขึ้นใหม่ ประมาณ 4-5 จุด ทั้งด้านในและนอกตัวพระวิหาร รวมทั้งจุดเชื่อมต่อ และยังทำให้ส่วนหลังคาพระวิหารทรุดตัวลง ซึ่งก็ทำให้เกิดความกังวลใจว่าหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก อาจสร้างความเสียหายให้กับตัววิหารหลวงที่มีอายุเก่าแก่ประมาณ 658 ปีได้

ด้านนายวิทยา ขันทยศ เจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน เปิดเผยว่า หลังการสำรวจแล้ว พบว่าเป็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นบนผนังเชื่อมต่อกับเสาวิหาร ซึ่งยังไม่น่าเป็นห่วงมาก แต่ถ้าหากเป็นรอยร้าวบนเสาที่เป็นโครงสร้างรับน้ำหนัก จะน่ากังวลมากกว่า อย่างไรก็ตามต้องเฝ้าระวังหากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก หรือรอยร้าวแตกแยกเพิ่มมากขึ้น อาจต้องมีการเขียนแบบแปลนเพื่อบูรณะซ่อมแซม


กำลังโหลดความคิดเห็น