xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

จากข่าวสารที่ปรากฎว่า ศาลอาญานัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือ คดีไม่มีมูลในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ จึงมีข้อสงสัยว่าทำไมศาลอาญาต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนพิจารณาคดีสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย และเหตุใดคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ศาลจึง ไม่ไต่สวนมูลฟ้อง

“การไต่สวนมูลฟ้อง” คือ กระบวนการไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีที่จำเลยต้องหาว่ากระทำความผิด

ความผิดอาญาผู้ที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล คือ พนักงานอัยการและผู้เสียหาย การฟ้องคดีอาญาต้องกระทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด

คดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์นั้น ก่อนที่พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องต่อศาล ได้มีการสอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและพิจารณาแล้วว่ามีมูลความผิดจริงสมควรสั่งฟ้องเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ในทางปฏิบัติศาลจึงไม่ไต่สวนมูลฟ้องโดยสั่งประทับฟ้องไปเลย

ไม่มีบทกฎหมายใดที่บัญญัติว่าพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจสอบสวนและฟ้องคดีด้วยเหตุที่จำเลยยังทูลเกล้าฯถวายฎีกาอยู่ ทั้งจำเลยก็ได้ให้การรับสารภาพตามฟ้องซึ่งรวมตลอดถึงว่าคดีมีการสอบสวนโดยชอบแล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2529)

แต่ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเองกฎหมายกำหนดให้ศาลทำการไต่สวนมูลฟ้องก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบของความผิด เพราะความผิดนั้นยังไม่ได้มีการสอบสวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานมาก่อนว่าคดีมีมูลความผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันแล้วศาลไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

แม้พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องจำเลยข้อหายักยอกแล้ว โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายก็มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดเดียวกันเป็นคดีใหม่ต่างหากได้ ไม่มีกฎหมายห้ามไว้ และเมื่อศาลสั่งรวมคดีเข้าด้วยกันแล้ว คดีของโจทก์ร่วมก็ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4007-4008/2536)

ในคดีอาญาที่ราษฎรเป็นโจทก์ ก่อนศาลชั้นต้นประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป เป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777 / 2527)

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทหารประจำการกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นพลเรือนต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลพลเรือน กล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดในทางอาญา ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คดีถึงที่สุด เมื่อปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายทหารประจำการตำแหน่งรองเจ้ากรมอุตสาหกรรมทหารจำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 มาตรา 16 (1) ศาลพลเรือนจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาจำเลยที่ 2 ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2527)

ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้อง หรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องหรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเป็นดุลยพินิจในการดำเนินกระบวนการพิจารณาให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดได้ และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาไปย่อมมีอำนาจกระทำได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2544)

แม้ฟ้องของโจทก์จะสมบรูณ์ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อศาลพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ชอบที่จะยกฟ้องโจทก์เสียได้ โดยไม่จำต้องทำการไต่สวนมูลฟ้องต่อไป (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1277/2521)

ถ้าศาลเห็นว่าเท่าที่พยานโจทก์เบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จะเป็นพยานกี่คนก็ตาม ทำให้ศาลพอวินิจฉัยได้แล้ว ศาลก็อาจสั่งงดสืบพยานโจทก์ที่เหลืออยู่เสียก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 760/2511)

การฟังพยานหลักฐานชั้นไต่สวนมูลฟ้องกับชั้นพิจารณาแตกต่างกันในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงได้ข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบฐานความผิดที่ฟ้องโดยไม่มีข้อพิรุธอันเป็นที่ประจักษ์ชัดก็ฟังได้ว่าความผิดฐานนั้นมีมูล ส่วนข้อเท็จจริงที่ได้ความจะเป็นความจริงหรือไม่ เป็นข้อที่จะต้องพิสูจน์กันอีกชั้นหนึ่งในชั้นพิจารณา ซึ่งในชั้นนี้จะต้องพิสูจน์ให้สิ้นความสงสัยว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นเป็นความจริง จึงจะฟังได้ว่ามีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3123/2533)

การไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนหรือไม่มาก็ได้ และจำเลยมีสิทธิแต่งตั้งทนายความเข้ามาซักค้านพยานโจทก์

การสั่งว่าคดีมีมูลนั้นมีผลทำให้บุคคลต้องตกเป็นจำเลยในทันที ต้องยื่นประกันตัวเสียชื่อเสียง สิทธิ เสรีภาพ และเดือดร้อน ทุกข์กายทุกข์ใจ ดังนั้น ก่อนมีคำสั่งศาลต้องพิจารณา พินิจพิเคราะห์ข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ นอกจากนี้การไต่สวนมูลฟ้องยังเป็นกระบวนการกลั่นกรองซึ่งทำให้คดีที่ไม่จำเป็นเข้าสู่การพิจารณาหรือคดีที่ต้องพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุใดตามกฎหมายเข้าสู่ระบบมากเกินความจำเป็น ทำให้ระบบยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นและทำให้การพิจารณาคดีอื่นรวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความ อยุติธรรม: Justice delayed is justice denied”

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น