xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นเมินใส่ถุง ถ้าต้องใช้ ขอสีกลิ่นหอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลสำรวจต้อนรับวาเลนไทน์ ชวนอึ้ง! วัยรุ่นนิยมถุงยางสีสวย มีกลิ่นหอม แต่ใช้แค่ 50 % วัยรุ่นเสียซิงครั้งแรกแค่ 13 ปี อยากคุยเรื่องเพศกับพ่อ-แม่ ผลวิจัยชี้ ผปค.อายไม่กล้าสอนลูก น่าห่วงแม่ 74.5% ไม่รู้เรื่องคุมกำเนิด

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันวาเลนไทน์ วันแห่งการมอบความรักให้กันและกัน เยาวชนควรจะใช้วันนี้แสดงความรักในทางสร้างสรรค์บนวิถีแห่งความพอเพียง เช่นบอกรักพ่อแม่ เพิ่มความรักความอบอุ่นให้ครอบครัว หรือบอกรักเพื่อนสนิท โดยไม่มีเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศมาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค สธ. สำรวจความคิดเห็นเยาวชนอายุระหว่าง12-24 ปี ที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,012 ตัวอย่าง เดือนมกราคม ในหัวข้อ “เยาวชนกันวันวาเลนไทน์” ผลการศึกษาเกี่ยวกับประเด็นของทัศนคติ ค่านิยม ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่น พบว่า ค่านิยมที่กลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วย อันดับ 1 การมีคู่นอนพร้อมกันหลายๆ คนเป็นเรื่องธรรมดา ร้อยละ 90 อันดับ 2 วันวาเลนไทน์เป็นวันที่ควรมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก ร้อยละ 85 อันดับ 3 การทำแท้งควรทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย ร้อยละ 74

ส่วนประเด็นที่เห็นด้วย ได้แก่ กฎหมายควรระบุให้ผู้ชายมีส่วนรับผิดชอบต่อการทำแท้ง ร้อยละ 83 รองลงมา ผู้หญิงควรรักษาพรหมจรรย์จนกว่าจะอายุ 18 ปี ร้อยละ 82 ส่วนการทดลองอยู่ก่อนแต่ง วัยรุ่นเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยใกล้เคียงกัน

สำหรับพฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 28 ตอบว่าเคยมีเพศสัมพันธ์ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งร้อยละ 59 และถุงยางอนามัยที่ชอบ คือ สีชมพู สีแดง สีเหลือง และมีกลิ่นหอม เช่น กลิ่นกล้วย สตรอเบอรี ทุเรียน แอปเปิล โดยกลุ่มตัวอย่างซื้อถุงยางอนามัยอย่างสะดวกใจ จากร้านสะดวกซื้อมากที่สุด ร้อยละ 37 รองลงมาคือแจกฟรีที่สถานีอนามัย โรงพยาบาล ร้อยละ17 แจกฟรีผ่าน อสม. ร้อยละ 11

ด้าน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กรณี “วาเลนไทน์” ในมิติ “เชิงบวก”- “เชิงลบ” จำนวน 1,410 คน ระหว่างวันที่ 7-13 ก.พ. พบว่า กลุ่มอายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 37.18 จะคิด “เชิงบวก” มากกว่า “เชิงลบ”โดยคิดว่า เป็นวันที่มีความนิยมตามกระแสแฟชั่น ทำตามสังคม โดยเฉพาะเพื่อน มีความสนุกสนาน เป็นการอุทิศเพื่อความรัก ฯลฯ กลุ่มอายุสูงกว่า 30 ปี ร้อยละ 31.9 จะคิด“เชิงลบ” มากกว่า “เชิงบวก” โดยคิดว่า เป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ เสียตัว มัวเมาอบายมุข ยาเสพติด สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ทำตามวัฒนธรรมต่างชาติ เป็นห่วงเยาวชน ฯลฯ กลุ่มอายุ 21-30 ปี ร้อยละ 30.88 จะคิด“เชิงบวก” พอๆกับ “เชิงลบ”โดยคิดว่า เป็นวันที่สังคมโลกยอมรับแล้ว ควรดูแล ควบคุมและปลูกฝังให้อยู่ในกรอบจะดีกว่า ฯลฯ

คำถามถึง “ความเป็นห่วง” ต่อ เยาวชนในวันวาเลนไทน์ในสายตาประชาชนพบว่ามากที่สุดร้อยละ 52.70 ห่วงการล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะเสียตัว ร้อยละ 22.06 ห่วงเรื่องอบายมุข โดยเฉพาะยาเสพติด ร้อยละ 13.12 ห่วงอุบัติเหตุ ร้อยละ 7.73 ห่วงปัญหาอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

วานนี้ (13 ก.พ.) ที่ลานดิจิทัล เกทเวย์ สยาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และองค์การแพธ จัดกิจกรรมให้ความรู้ช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ “Story of love รักออกแบบได้” โดย ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อลดปัญหาวัยรุ่นมีพฤติกรรมทางเพศไม่ปลอดภัย ลดปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ให้ลดลงได้ 20% ภายใน 2 ปี จากนี้ และเร่งเคลื่อนมาตรการ อาทิ ผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เพิ่มทักษะชีวิต เน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข้อมูลการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี กว่า 5 ล้านคน พบ 65% ขาดความรู้ในการป้องกันการตั้งครรภ์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เยาวชนถึง 1.25 ล้านคน มีพฤติกรรมเสี่ยง และมีอัตราการคลอดบุตร เฉลี่ย 1.2 แสนราย/ปี หรือเฉลี่ยวันละ 336 คน ซึ่งเยาวชน อยากปรึกษาเรื่องเพศกับผู้ปกครองมากที่สุด รองลงมาคือเพื่อนสนิท และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่ในความเป็นจริงเพื่อนมีบทบาทมากที่สุด การเสริมทักษะให้เด็ก เยาวชน และผู้ปกครอง เข้าใจถึงการสื่อสารเรื่องเพศ เพื่อป้องกันตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

รศ.ดร.อาภาพร เผ่าวัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนา “ปกป้อง หรือ ปกปิด : คุณเลือกได้” ว่า การศึกษาเรื่อง “การมีส่วนร่วมของมารดาในการป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศของวัยรุ่นหญิง ในชุมชนแออัด เขต กทม.” กลุ่มตัวอย่าง 673 คน พบ กลุ่มมารดา 74.5% เข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องคุมกำเนิด อีก 46.4% รู้สึกว่าการพูดคุยเรื่องเพศกับบุตรสาวเป็นเรื่องน่าอายไม่ควรเปิดเผย โดย 49.4% ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร และ 33.1% ลำบากใจที่จะพูด ขณะที่กลุ่มบุตรสาว อายุ 15-20 ปี พบ มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุเฉลี่ยที่ 15.8 ปี และต่ำที่สุด 13 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีความจริงจังในการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก โดย 61.4% คุมกำเนิด ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ 50.8% ใช้วิธีทานยาเม็ดคุมกำเนิด 30.5% ใช้ถุงยางอนามัยและยาเม็ดคุมกำเนิด 6.8% ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด 5.1% ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 3.4% ขณะที่ไม่คุมกำเนิด 38.6%.
กำลังโหลดความคิดเห็น