ฉะเชิงเทรา-ท้องถิ่นแปดริ้วเดินหน้าลุย สู้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งหลังถูกปล่อยเรื้อรังมายาวนานกว่า 30 ปี หมู่บ้านหายไปเกือบ 2 หมู่บ้าน ก่อนพบ "กันชนหินทิ้ง" แนวคิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านช่วยได้ ทั้งทนทานโต้คลื่นได้ดี โวตลอด 5 ปีแผ่นดินเริ่มงอกกลับคืนมา เตรียมขอเงินจังหวัดหนุนเพื่อเตรียมทำเขื่อนหินทิ้งตลอดแนวชายฝั่ง 10.5 กม.
นายสุชาติ แสวงไวศยสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสองคลอง(อบต.) อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า พื้นที่อบต.สองคลองได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เช่นเดียวกับอีกหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคตะวันออก โดยมีพื้นที่ 5 หมู่บ้านได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหานี้มานานถึง 30 ปี โดยขณะนี้ อบต.เตรียมทำเรื่องของบประมาณสนับสนุนจากจังหวัด เพื่อทำโครงการสร้างเขื่อนหินทิ้ง(กันชนหินทิ้ง) ตามแนวชายฝั่งทะเล ของตำบลที่มีพื้นที่ติดชายทะเลรวมระยะทางกว่า 10.5 กิโลเมตร(กม.)
หลังจากที่ผ่านมา อบต.ได้เคยให้งบประมาณสนับสนุนชาวบ้านในการนำหินมาลงทิ้งตามแนวปากคลอง ในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน พบว่า แนวเขื่อนหินทิ้งสามารถช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ดี และยังมีการสะสมของตะกอนดินที่บริเวณด้านหลังแนวเขื่อนอีกด้วย จนทำให้แนวชายฝั่งที่เคยถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปนั้นเริ่มงอกกลับคืนมา รวมทั้งได้เริ่มมีพืชป่าชายเลน ทั้งแสมและโกงกางเจริญเติบโตที่ด้านหลังแนวเขื่อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน30 ปี อบต.ได้ตรวจสอบจากกรมเจ้าท่า พบว่าพื้นที่ต.สองคลองนั้น ได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะผืนแผ่นดินหายไปแล้ว มากถึงกว่า 1,500 ไร่ มีหมู่บ้านหายไปเกือบ 2 หมู่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ ม.11 นั้น หมู่บ้านได้หายไปในทะเลหมดทั้งหมู่บ้าน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ในคลอง 5 สายหายไปกว่าครึ่งหมู่บ้านจนชาวบ้านต้องพากันอพยพหลบหนีน้ำทะเลกัดเซาะไปอยู่ที่อื่นอีกหลายร้อยครัวเรือน โดยในระยะหนึ่งปีนั้นผืนดินจะถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไป ประมาณ 10-20 เมตรและมีบ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำซัดกัดเซาะลึกเข้ามาปีละ 1 หลัง รวมปากคลองละ 2 หลัง ใน 5 หมู่บ้าน บางหมู่บ้านได้ถูกกัดเซาะเข้ามามากถึงกว่า 1 กม. ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้จากแนวเสาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้านเดิม ซึ่งยังคงปักอยู่กลางน้ำในทะเลจุดที่เคยเป็นหมู่บ้านมาก่อน
“ที่ผ่านมาอบต.ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเทแนวเขื่อนหิน ซึ่งเป็นภูมิปัญหาท้องถิ่นบริเวณปากคลองที่มีบ้านเรือนของชาวบ้านอาศัยอยู่ ปรากฏว่า ได้ผล เพราะสามารถกันคลื่นได้ดีในตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านและอบต.จึงมีโครงการที่จะทิ้งหินกันคลื่นเพิ่มขึ้นอีกตลอดแนวชายฝั่งทั้งระยะทาง 10.5 กม. โดยจะของบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดเพื่อป้องกันการกัดเซาะอย่างถาวรต่อไป “นายสุชาติ กล่าว
ขณะที่ นายสมยศ จันทร์เกษม อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 ต.สองคลอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้ได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างหนัก จนชาวบ้านต้องอพยพหนีไปแล้วจำนวน 50 หลัง เมื่อประมาณปี 2548 จึงได้เริ่มทดลองนำหินทิ้งทำเป็นแนวเขื่อนกันคลื่น ลักษณะสลับฟันปลา ที่บริเวณปากคลอง ม.6 แห่งนี้ ปรากฏว่าปัจจุบันการกัดเซาะเริ่มลดลง และยังมีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนงอกเพิ่มขึ้นที่ด้านหลังแนวเขื่อนอีกด้วย จึงอยากให้รัฐบาลหันมาช่วยชาวบ้านด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการทำโครงการนี้ต่อไป เนื่องจากงบของ อบต.มีจำกัดไม่เพียงพอที่จะนำมาดำเนินการได้อย่างทั่วถึงทุกหมู่บ้าน ที่ยังได้รับผลกระทบอยู่
ด้าน นางสุมิตรา ศรีสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้ดูแลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดโดยตรง เมื่อเร็วๆนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งของอบต.คลองสอง และโครงการทิ้งหินเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พบว่า มีการงอกเพิ่มของผืนดินมากขึ้นถึงปีละ 30 เมตร โดยเห็นได้อย่างชัดเจน ที่บริเวณด้านหลังแนวเขื่อนหินทิ้ง มีระดับพื้นดินสูงกว่าทางด้านหน้ามาก และยังมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับคืนมาอีกด้วย โดยสังเกตได้จาก ปูทะเล และปลาตีน เริ่มกลับเข้ามาเพาะพันธุ์ในบริเวณป่าชายเลนที่เกิดใหม่แห่งนี้อีกด้วย
ขณะนี้ ตนจึงได้เตรียมที่จะของบประมาณจากส่วนกลางจำนวน 50 ล้านบาท ในการนำมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อทำแนวหินทิ้งป้องกันคลื่นทะเลกัดเซาะ ตามที่อบต.ได้ขอมา โดยจะทำแนวหินทิ้งให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และทำเป็นสองชั้น คือ ที่บริเวณด้านหลังแนวหินทิ้งจะทำแนวกันคลื่นจากไม้ไผ่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชั้น เพื่อช่วยในการซับความแรงของคลื่น และช่วยให้มีการตกตะกอนเกิดการสะสมที่บริเวณด้านหลังแนวหินเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ผลดีกว่าการทำแบบชั้นเดียวและอาจจะช่วยให้ผืนดินงอกเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากกว่า
จากนั้นจึงจะทำโครงการแก้ไขปัญหาในระยาว ด้วยการปลูกไม้ป่าชายเลน โดยเฉพาะแสมดำ และโกงกาง ที่มีรากหนาแน่นช่วยยึดเกาะดินเลนไว้ได้ดีต่อไป