xs
xsm
sm
md
lg

คลังตีปี๊บต่างชาติรุมจีบ ปล่อยกู้ไฮสปีดเทรน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ต่างชาติรุมจีบปล่อยกู้ซอฟท์โลนไฮสปีดเทรนสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ หลังนักลงทุนญี่ปุ่นแสดงความสนใจร่วมโครงการชัดเจน คลังเร่งแก้ปัญหากฎหมายร่วมทุนปี 35 เปิดประชาพิจารณ์กฎหมาย PPPs เดือนก.พ. ดึงโมเดลเกาหลีใต้ลดกระบวนการประมูลเหลือ 1 ปีคาด 7 เดือนกฎหมายคลอดได้

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่หลังเปิดรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน(Market Sounding) พบว่าสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคคือเรื่องปัญหาพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการรัฐ พ.ศ. 2535 หรือพ.ร.บ.ร่วมทุน และการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ซึ่งกระทรวงการคลังจะได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้โดยเร็ว
สำหรับประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจมากอีกเรื่องคือการหาแหล่งทุนโดยเป็นวงเงินกู้ระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีที่จะมาช่วยสนับสนุนโครงการ ซึ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้ความสนใจเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่มากเป็นพิเศษ ทำให้สถาบันการเงินจากประเทศต่างๆ ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องแหล่งเงินทุนเข้ามาหลายแห่งหากรัฐบาลไทยมีความสนใจจะใช้แหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ
“หลังจากที่นักลงทุนญี่ปุ่นแสดงความสนใจอย่างชัดเจนในเส้นทางกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ มีสถาบันการเงินหลายแห่งทั้งจากสิงคโปร์ จีน เยอรมันเข้ามาเสนอเงื่อนไขปล่อยกู้กันเข้ามามาก ซึ่งต้องดูในระดับนโยบายว่ามีความสนใจที่จะใช้แหล่งเงินทุนในการก่อสร้างจากที่ใดที่มีความเหมาะสมกับโครงการและไม่กระทบกับตลาดเงินในประเทศด้วย เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว” นายสมชัยกล่าว
สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ นั้นภายในเดือนหน้าจะเริ่มทำประชาพิจารณ์กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการร่วมกิจการของรัฐและเอกชน Public–private partnership (PPPs) โดยเนื้อหาเบื้องต้นจะยังคงกรอบวงเงินกิจการร่วมทุนระหว่างรัฐบาลและเอกชนไว้ที่ 1 พันล้านบาทเท่าเดิม แต่จะลงลึกในรายละเอียดเรื่องเกณฑ์การคำนวณมูลค่าโครงการและการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดเงื่อนไขที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันจะยกเลิกพ.ร.บ.ร่วมทุน ฉบับเดิมและประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่ที่ร่างขึ้น
“หลังทำประชาพิจารณ์ในเดือนกุมภาพันธ์นี้แล้วก็คงจะเสนอเข้าคณะกรรมการPPPs พิจารณาก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลักดันกฎหมายผ่านกระบวนการของรัฐสภาซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 7 เดือนถึง 1 ปี โดยจะดึงรูปแบบกฎหมายของเกาหลีใต้มาใช้ซึ่งจะทำให้กระบวนการประมูลสามารถทำได้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะส่งผลดีต่อการลงทุนของประเทศที่มากขึ้นโดยลดภาระของรัฐมาลและช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศได้ด้วย” นายสมชัยกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น