xs
xsm
sm
md
lg

โพลถล่มรัฐบาลสอบตก คอร์รัปชันหนักสุด-ศก.ไม่กระเตื้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้จัดทำดัชนีการเมืองไทย โดยมีตัวชี้วัดทั้งการบริหารงานของรัฐบาล ฝ่ายค้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน บทบาทสื่อมวลชนและอื่นๆ รวม 25 ประเด็น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่จะบอกได้ว่า การเมืองไทยดีขึ้น แย่ลง หรือเหมือนเดิม โดยสำรวจประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 25-30 ของทุกเดือน เพื่อเปรียบเทียบเดือนต่อเดือน โดยให้คะแนนเต็ม 10 และหาค่าเฉลี่ย ( EMBED Equation.3 ) ภาพรวมของการเมืองไทยออกมา ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ ได้สำรวจดัชนีการเมืองดังกล่าวจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 4,225 คน สรุปผลได้ดังนี้ ประชาชนให้คะแนนดัชนีการเมืองไทย ภาพรวมคะแนนเต็ม 10 ได้ 4.74 คะแนน
เมื่อแยกคะแนนตามประเด็นต่างๆ โดยให้คะแนนเต็ม 10 ได้ผลดังนี้
1. ผลงานของนายกรัฐมนตรี ได้ 5.83 คะแนน
2. ข่าวสารที่เผยแพร่จากสื่อต่างๆให้ประชาชนได้รับรู้ ได้ 5.66 คะแนน
3. การจัดการศึกษาสำหรับประชาชน ได้ 5.65 คะแนน
4. ผลงานของรัฐบาล ได้ 5.53 คะแนน
5. การบริหารประเทศตามนโยบายที่ประกาศไว้ ได้ 5.42 คะแนน
6. การมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรอิสระ ได้ 5.15 คะแนน
7. การปฏิบัติงานของฝ่ายค้าน ได้ 5.03 คะแนน
8. การดำเนินงานของพรรคการเมืองโดยภาพรวม ได้ 5.02 คะแนน
9. การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ได้ 4.89 คะแนน
10. สภาพเศรษฐกิจโดยภาพรวม ได้ 4.88 คะแนน
11. จริยธรรม /วัฒนธรรมของคนในชาติ ได้ 4.87 คะแนน
12. ค่าครองชีพ /เงินเดือน /ค่าจ้าง /สวัสดิการ ได้ 4.85 คะแนน
13. สภาพของสังคมโดยรวม ได้ 4.82 คะแนน
14. ความเป็นอยู่ของประชาชน ได้ 4.82 คะแนน
15. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้ 4.70 คะแนน
16.การแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลในภาพรวม ได้ 4.67 คะแนน
17. การแก้ปัญหาการว่างงาน ได้ 4.29 คะแนน
18. ความมั่นคงของประเทศ /การก่อการร้าย ได้ 4.27 คะแนน
19.การแก้ปัญหาความยากจน ได้ 4.19 คะแนน
20. ความสามัคคีของคนในชาติ ได้ 4.17 คะแนน
21.ราคาสินค้า ได้ 4.13 คะแนน
22.การแก้ปัญหายาเสพติด ได้ 4.09 คะแนน
23.การปฏิบัติตนของนักการเมือง /ความสามัคคี ได้ 4.03 คะแนน 24. การแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพล ได้ 3.83 คะแนน และ
25. การแก้ปัญหาคอรัปชั่น ได้ 3.79 คะแนน
คะแนนถ้าจำแนกตามภูมิภาค ประชาชนให้คะแนนดัชนีการเมืองไทย โดยคะแนนเต็ม 10 ได้ดังนี้ อันดับ 1 ภาคใต้ ให้ 5.79 รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ 5.05 คะแนน อันดับ 3 กรุงเทพฯ ให้ 4.64 คะแนน ภาคกลางให้ 4.49 คะแนน และ อันดับ 5 ภาคเหนือ ให้ 4.00 คะแนน.

**การชุมนุมกระทบรัฐบาลแน่
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องกระแสข่าวการยึดอำนาจกับการชุมนุมประท้วงในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 2,194 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการในช่วง 28 -29 ม.ค. 54
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนมีจำนวนก้ำกึ่งกันคือ ร้อยละ 50.6 เห็นว่าการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ ในเวลานี้ เป็นเรื่องของประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 49.4 ไม่คิดว่าเป็นประชาธิปไตย ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.5 ไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะสามารถแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงให้ผ่านพ้นไปได้อย่างสงบ เรียบร้อย ในขณะที่ร้อยละ 40.5 ยังเชื่อมั่น
เมื่อถามถึงการทำรัฐประหาร หรือยึดอำนาจ ว่ามีจริงหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ77.4 ไม่เชื่อ แต่ร้อยละ 22.6 เชื่อว่าจะมีจริง แต่ตัวเลขเกินกว่า 1 ใน 5 แบบนี้ในทางสถิติถือว่าเริ่มมีนัยสำคัญ
ดังนั้น ถ้าหากไม่เป็นจริง หน่วยงานหรือคณะบุคคล ต้องรีบออกมาทำความกระจ่างยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม
อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ เกินกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 53.4 คิดว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ จะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลในระดับมาก ถึงมากที่สุด ร้อยละ 27.5 กระทบระดับปานกลาง และร้อยละ 19.1 คิดว่ากระทบรัฐบาลน้อยถึงไม่กระทบเลย

** เศรษฐกิจไม่โตตามราคาคุย
ดร.นพดล เป็นห่วงว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์ต่างๆ พยากรณ์ไว้ เพราะขณะนี้ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.5 กำลังคิดหนัก และลังเลในการซื้อสินค้าราคาสูง เช่น บ้าน รถยนต์ ทีวี ตู้เย็น เพราะไม่รู้ว่าประเทศชาติจะไปในทิศทางใด เช่นเดียวกัน แม้แต่ สินค้าใช้ในชีวิตประจำวัน พบว่าส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 65.0 คิดหนักลังเล และประหยัดมากขึ้นในการใช้จ่ายสินค้าประจำวัน มีเพียงประมาณร้อยละ 30 เท่านั้นที่ไม่คิดหนัก ไม่ลังเล แต่ยังคงใช้จ่ายตามปกติ
เมื่อสอบถามถึงแหล่งซื้อสินค้าบริการ ที่หลีกเลี่ยงในช่วงการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 75.4 ระบุหลีกเลี่ยงแถวราชประสงค์ รองลงมาคือร้อยละ 37.4 ระบุแถวสีลม ร้อยละ 27.0 ระบุแถวเยาวราช รองๆลงไปคือ ปทุมวัน วงเวียนใหญ่ บางลำภู พาหุรัด รังสิต ศรีนครินทร์ บางแค ท่าพระ และอื่นๆ เช่น จตุจักร ประตูน้ำ บ้านหม้อ เป็นต้น
ในสถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ ย่อมมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อความเชื่อมั่นของประชาชนทั่วไป และอาการแก่วงตัวของรัฐบาล ย่อมส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ หากปล่อยไว้เช่นนี้ย่อมเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม ผู้นำการชุมนุมกำลังประสบความสำเร็จที่สามารถนำประชาชนจำนวนมาก ออกมาเรียกร้องในที่สาธารณะได้ และถ้าการชุมนุมเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย ความสำเร็จในการนำประชาชนออกมาได้น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมาย และการทำให้กฎหมายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ถ้าการชุมนุมนำมาซึ่งการเปลี่ยนรัฐบาล และการต่อรองเฉพาะกลุ่มเพียงอย่างเดียว ก็ไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในวิถีทางประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลประเมินว่าไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ก็น่าจะตัดสินใจเร่งทำอะไรบางอย่างเพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยส่วนรวมอย่างยั่งยืน เพื่อหยุดทุกอย่างไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่านี้
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่าง ร้อยละ 53.1 เป็นหญิง ร้อยละ 46.9 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 4.2 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 26.8 อายุระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 26.6 อายุระหว่าง 40-49 ปี และร้อยละ 20.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 62.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือร้อยละ 31.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 28.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.6 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 16.4 ระบุพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 7.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.0 ระบุอาชีพแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 7.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 3.9 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
กำลังโหลดความคิดเห็น