xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จับตา‘หวัดนก’รอบใหม่ เข้ม‘สุพรรณ-ราชบุรี-นครปฐม’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สธ.เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง "หวัดนก"ระลอกใหม่ หลังพบสัตว์ปีกตายต่อเนื่อง หวั่นระบาดซ้ำ มอบอสม.เคาะประตูบ้าน แนะนำวิธีป้องกัน ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา เตือน จับตานกอพยพในพื้นที่ 3 จังหวัด ‘สุพรรณ-ราชปุรี-นครปฐม’ เสี่ยง

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึง กรณีที่มีข่าวไก่และเป็ดที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ตายเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มทยอยตายตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2553 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจซากสัตว์ปีกจากสถาบันสุขภาพสัตว์ ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี เฝ้าระวังการติดเชื้อไข้หวัดนกในคน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ด่านช้าง โดยให้อสม.เคาะประตูบ้านถามอาการป่วยในคนทุกวัน พร้อมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำเตือนให้ประชาชนในจังหวัด ระมัดระวังป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้น ล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ไม่สัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือซากสัตว์ปีก หากพบนก เป็ดไก่ มีอาการเซื่องซึมผิดปกติ ขนยุ่ง หงอนบวม หรือตายผิดปกติ ขอให้สงสัยโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เพื่อนำไปตรวจและทำลายอย่างถูกวิธี เนื่องจากปัจจุบันยังพบการระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ จึงมีความเสี่ยงที่โรคนี้หวนกลับมาระบาดซ้ำอีกได้

ด้านนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ สธ. ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ รักษาโรคไข้หวัดนกไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่งแล้ว รวมทั้งได้มีการฝึกอบรมแพทย์พยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง สำหรับ สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ปี 2546 จนถึง 20 ม.ค. 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อใน 15 ประเทศ ทั้งหมด 518 ราย เสียชีวิต 306 ราย ในปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ 2 ราย จากประเทศอียิปต์ ไม่มีผู้เสียชีวิต

ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ประจำองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกมานานกว่า 4 ปีแล้วและไม่มีรายงานในสัตว์ปีกนานกว่า 2 ปี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังคงมีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายด้วยไข้หวัดนกในต่างประเทศเช่นอียิปต์ อินโดนีเซีย เกาหลี และ ญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในนกอพยพ ในประเทศไทย มีนกอพยพมาจากหลายที่ โดยเฉพาะนกปากห่าง พบว่ายังคงมีการอพยพมาที่ จ.สุพรรณบุรี ราชบุรี และ นครปฐม ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

*** กทม.คุมเข้มโรงชำแหละ

ในวันเดียวกัน พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการฆ่าสัตว์ของนางวิไล ทรงอมรสิทธิ์ เขตหลักสี่ พร้อมกล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องมีการตรวจคัดกรองไก่โดยละเอียดตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก และโรคอื่นๆ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ประกอบการสามารถสังเกตอาการของไก่ที่จะนำมาชำแหละด้วยตาเปล่าก่อนว่ามีลักษณะผิดปกติหรือไม่ และในการชำแหละควรระวังไม่ทำให้ไก่หรือสัตว์เกิดการตื่นเต้นจนเกินไป เนื่องจากมีรายงานการวิจัยจากต่างประเทศที่ระบุไว้แล้วว่า หากสัตว์มีอาการตื่นเต้นก่อนนำไปชำแหละ สัตว์นั้นจะหลั่งสารอดรีนาลีน (Adrenaline) ซึ่งอาจส่งผลต่อไปยังผู้บริโภค ทำให้เกิดอาการตื่นเต้นตามไปด้วย ดังนั้นจึงควรทำให้สัตว์นั้นสงบก่อนนำไปชำแหละ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันและเฝ้าระวังมาตรฐานของสถานประกอบการฆ่าสัตว์ปีกเป็นพิเศษ และเร่งประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนในการเลือกซื้อ การบริโภคเนื้อสัตว์ปีกและไข่ เพื่อป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์ปีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ตามคำแนะนำในการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกและไข่เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก ของสำนักอนามัย กทม.
กำลังโหลดความคิดเห็น