xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาวุฒิสภา : “3G ภาค 2”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

เมื่อราวต้นปี 2553 “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ได้จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “3G” ไปจนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในหมู่สังคมไทย ซึ่งว่าไปแล้ว น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการจับประเด็นนี้มาเสวนาบนเวทีขนาดใหญ่

รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา และในขณะเดียวเป็น “ประธานคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ได้ริเริ่มจัดการเสวนาธรรมกับกรณี “3G” เพื่อเป็นการทั้งกระตุ้นและจุดประกายถึง “ความล่าช้า” ในการที่จะจัดประมูลกิจการโทรคมนาคมในรูปแบบ 3G เพื่อให้สอดคล้องกับความทันสมัยของโลกยุคใหม่ ที่ต้องยอมรับว่า “3G” นั้น พัฒนามาได้มากแล้ว จนหลากหลายประเทศทั่วโลกมุ่งสู่ 4G กันไปมากพอสมควร

การจัดสัมมนาวิชาการรอบสองที่จะเกิดขึ้นนี้ ทางคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภาได้มีการเตรียมการตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 แต่เนื่องด้วยเกิดสารพัดเหตุการณ์จึงต้องเลื่อนมาจนสามารถจัดได้ ในวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554 นี้ ด้วยการจัด “3G ภาค 2” ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน ที่ผู้คนมักรู้จักในนาม “โรงแรมเรดิสัน” ถนนพระราม 9

อย่างไรก็ตาม ต้องขอเรียนว่า การจัดกิจกรรมสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ว่าไปแล้วใช้เวลายาวนานพอสมควร น่าจะใช้ระยะเวลาในการเตรียมการบวกกับการประสานงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิทยากร” ที่ค่อนข้างอิดๆ ออดๆ ในการเข้าร่วมเสวนาด้วย ทั้งนี้ ในที่สุดก็ได้ตามความต้องการของคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา

ขอย้อนหลังว่า เทคโนโลยี 3G ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่มีผลต่อการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเปิดกว้างให้เกิดการพัฒนาทั้งผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่โดยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ที่ผ่านมาแม้ว่าวุฒิสภาจะได้ลงมติเลือก “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)” แทนตำแหน่งที่ว่างจนครบแล้ว และผู้ประกอบการหลายรายก็มีความพร้อมในการให้บริการ ในขณะที่ผู้บริโภคต่างก็รอคอยและคาดหวังที่จะได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยี 3G

แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ 3G รวมทั้งการพิจารณาให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการในการเข้าประมูลเพื่อรับใบอนุญาต 3G ยังไม่สามารถดำเนินการได้ อันเนื่องมาจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ กทช. ระงับการประมูลใบอนุญาตที่ได้มีความพยายามจะดำเนินการขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนมีผลทำให้เกิดเป็นสุญญากาศในการดำเนินการและเกิดความล่าช้าขึ้น แม้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) พ.ศ. 2553 ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้ว แต่ขั้นตอนการสรรหาคณะกรรมการ กสทช.ขึ้นมาทำหน้าที่ในการกำกับดูแลเกี่ยวกับคลื่นความถี่ทั้งระบบตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน

ที่ผ่านมา “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และได้เคยมีการจัดสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “ผ่าทางตัน 3G” มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 อย่างไรก็ตาม จากการที่มีปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการวิจัยฯ จึงเห็นควรที่จะมีการจัดสัมมนาขึ้นอีกครั้ง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เข้าร่วมการสัมมนาต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ประโยชน์ของการจัดสรรคลื่น 3G และผลกระทบของความล่าช้าในการจัดสรร รวมทั้งร่วมกันหาทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้น คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภาเห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดจัดการสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “3G ภาค 2” ซึ่งจะเป็นประเด็นหัวข้อในการศึกษาและติดตามการดำเนินการจัดสรรคลื่น 3G อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้และข้อมูลทางวิชาการแก่สมาชิกรัฐสภา บุคคลในวงงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาประเทศด้านโทรคมนาคม และประชาชนที่มีความสนใจทั่วไป รวมทั้งเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี พรรคการเมือง หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนองค์กรอิสระ และองค์กรเอกชนต่างๆ ข้าราชการ นิสิตนักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการและประชาชนโดยทั่วไป คาดว่าน่าจะได้ผู้เข้าร่วมฟังสัมมนาประมาณ 400-500 คน

การจัดสัมมนา “3G ภาค 2” ในครั้งนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง ในฐานะประธาน “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ให้ความสนใจอย่างมาก จึงเน้นย้ำให้คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ระดมความคิด พร้อมเชิญบุคลากรที่อยู่ในวงการโทรคมนาคมให้เข้ามาร่วมอภิปราย อาทิ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ รศ.ดร.พนา ทองมีอาคม กรรมการ กทช. พลโทสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน ที่ดูแลด้านกิจการโทรคมนาคมของกองทัพบก เป็นต้น

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ จัดวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2554 เริ่มตั้งแต่ 8.30 น. โดยพิธีเปิดสัมมนาจะกล่าวเปิดโดยท่าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง ส่วนในภาคบ่ายเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30-15.30 น. และชั่วโมงสุดท้ายจะเป็นการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แสดงความคิดเห็น

เพราะฉนั้น การสัมมนาวิชาการ “3G ภาค 2” นี้ น่าจะได้ประโยชน์ในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ว่าภายในปี 2554 เราคนไทยจะได้ใช้ 3G กันหรือไม่ และคงไม่สำคัญเท่ากับ “กระบวนการประมูล” ที่ได้รับความสนใจกันอย่างมากว่า “ใครจะได้ 3G ไปยึดครอง” หรือว่าจะเป็นในลักษณะ “กระบวนการจัดสรรแบ่งโซน-แบ่งภาค” ซึ่งคงไม่มีใครรู้ได้!

แต่ทั้งนี้ “สมาชิกวุฒิสภา” ได้ให้ความสนใจกับกรณี 3G ซึ่งต้องนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสืบเนื่องและต่อยอดกับกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น