xs
xsm
sm
md
lg

ตปท.จ่อลุยทีวีดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – อุตสาหกรรมเคเบิลทีวีรุ่งสุดๆ ต่างชาติจีบเข้าร่วมชิงเค้ก คาดทั้งปีตัวเลขโฆษณาแตะ 5,000 ล้านบาท เข้าถึงผู้บริโภคแล้วกว่า 50% ของจำนวนครัวเรือนไทย เชื่อ กสทช.เกิด ช่วยเร่งการเติบโตได้อีกมาก

วานนี้(20ม.ค.) ทางสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) ร่วมกับทาง CASAA หรือ The Cable & Satellite Broadcasting Association of Asia ซึ่งเป็นสมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งภูมิภาคเอเชีย ได้จัดงานสัมมนาประเทศไทยในปี 2011 ขึ้น โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ของการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดมุมมองอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมให้แก่ต่างชาติได้รับรู้
พร้อมทิศทางการเติบโตต่อไปในอนาคต

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า อุตสาหกรรมเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย และแนวโน้มการเติบโตสูง  ขณะที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้ยังเพิ่งอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นเท่านั้น ขณะที่ทางรัฐบาลก็ต้องมีกฏหมายเข้ากำกับดูแล
ขณะที่ผู้ประกอบการเองนั้นก็ต้องดำเนินการไปด้วยความรับผิดชอบและสร้างสรรค์  

นายไซมอน ทวิสตัน ดาวีส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้ประกอบการโทรทัศน์แบบบอกรับเป็นสมาชิกและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ CASAA เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกอย่างต่อเนื่อง อนาคตมั่นใจว่าการเข้าถึงครัวเรือนในประเทศไทยจะสูงถึง 90% แต่ทั้งนี้ต้องการให้เกิด กสทช.อย่างเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้น ขณะเดียวกันต้องการให้ทางรัฐบาลเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่อย่างถูกกฏหมายต่อไปด้วย
ทั้งนี้ มีการประมาณการว่า 7 ล้านครัวเรือนในประเทศไทยในปัจจุบันชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างมากจากที่เริ่มต้นน้อยกว่า 1 ล้านครัวเรือนในปี 2549 โดยไม่มีสัญญาณว่าจะลดจำนวนลง

นายธนวัฒน์ วันสม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
ในอีก 3-5 ปีข้างหน้ายังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ปริมาณของช่องรายการ เนื้อหาต่างๆ และการเข้าถึงของกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยนั้นจะหายไปราว 20-30% เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี ขณะที่ผู้ผลิตรายกลางและรายใหญ่นั้น จะมีเพิ่มสูงขึ้น

นายเดียว วรตั้งตระกูล ประชาสัมพันธ์ สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) และกรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม บรอดคาสติ้ง บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติหลายรายที่สนใจเข้ามาในอุตสาหกรรมเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียม เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการเติบโตของไทย เบื้องต้นคอนเท้นท์ต่างชาตินั้นจะเน้นเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้คนไทยได้รับรู้ขึ้นก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่แพลทฟอร์มของการร่วมกับโลคอลพาร์ทเนอร์ในการการผลิตคอนเท้นท์ที่คนไทยรับชมได้ และหลังจากนั้นจะมองหาแพลทฟอร์มของช่องสัญญาณในการหารายได้ผ่านระบบตอบรับสมาชิกต่อไป  

สำหรับรูปแบบคอนเท้นท์ที่ต่างชาติจะนำเข้ามาแล้วมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงนั้น มีอยู่ 5 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ภาพยนตร์ ที่ถูกใจคนไทย อย่าง บู๊ แอกชั่น เขย่าขวัญ มหันตภัย และภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแสอย่างเกาหลีและญี่ปุ่น 2.กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยชื่นชอบมากที่สุด 3. เพลง จะโดดเด่นมากขึ้นถ้ามีการทำรายการเพลงที่มีความเป็นวาไรตี้มากขึ้น  4. สารคดีที่เกี่ยวข้องกับวีถีชีวิตคนไทย และ 5.เกมโชว์ที่เกี่ยวกับครอบครัว และเด็ก

ทั้งนี้มองว่าภายในปี 2554 นี้ จะมีคอนเท้นท์จากต่างประเทศเป็นสัดส่วน 20-30% จากคอนเท้นท์กว่า 100 ช่องในอุตสาหกรรมขณะที่ปัจจุบันในอุตสาหกรรมนี้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว่า 50% เทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด หรือเข้าถึงได้กว่า 6 ล้านครัวเรือน(ไม่รวมทรู วิชั่นส์) แบ่งออกเป็น จานรับสัญญาณดาวเทียม 4 ล้านจาน เป็น ซีแบนด์ 80% และเคยูแบนด์ 20% และเป็นเคเบิลทีวีอีก 2 ล้านครัวเรือน
ขณะที่เม็ดเงินโฆษณานั้น ในปี 2553 ที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท โดยในปีนี้เชื่อว่าจะเติบโตได้อีกเท่าตัว หรือราว 5,000 ล้านบาท

โดยตัวเลขดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับทางเอซี นีลเส็น สำรวจไว้ โดยนาย สินธุ์ เภตรารัตน์ ผู้อำนวยการบริหาร แผนกมีเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท เอซี นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ที่กล่าวว่า ในปี 2553 ที่ผ่านมาภาพรวมตัวเลขโฆษณาในสื่อเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่ที่ 2-3% ของตัวเลขโฆษณาในสื่อฟรีทีวีที่มีมูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท
ซึ่งในปีนี้มั่นใจว่าโฆษณาในสื่อเคเบิลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมนั้น จะเติบโตขึ้นอีกเป็นเท่าตัว หรือมีสัดส่วนได้ 4-8% ของตัวเลขโฆษณาในสื่อฟรีทีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น