xs
xsm
sm
md
lg

อธิปไตยเหนือดินแดนกับกรณีที่ไม่มีใครยอมใครในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์


ความจริงเรื่อง “สิทธิในอธิปไตยเหนือดินแดน” ไม่ว่าจะเป็นชาติเล็ก-ชาติใหญ่ ชาติที่มีกองทหารเกรียงไกร หรือจะเป็นชาติที่มีขนาดพื้นที่เท่าแมวดิ้นตาย ล้วนต่างก็มีศักดิ์และสิทธิในการจะธำรงรักษาอธิปไตยเหนือดินแดนของชาติตนเองไว้อย่างมีศักดิ์ศรีได้ไม่ต่างกัน

กรณีข้อขัดแย้งเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ และพาราเซลของ 6 ชาติรอบชายฝั่งทะเลจีนใต้ ดูเหมือนจะเป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นว่า “ดินแดน” ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะยอมใครกันง่ายๆ และบ่อยครั้งที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยก หลากยุทธศาสตร์-หลายยุทธวิธีขึ้นสู้กัน และก็มีบ้างที่จะลุกลามเป็นการปะทะ หาใช่การรบพุ่ง

การแสดงสิทธิทั้งหลายทั้งปวง ก็เพื่อจะนำมาใช้เป็นหลักฐานในการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะที่ดูภายนอกแล้ว ไม่ต่างอะไรจากเกาะร้างขนาดเล็ก ไร้มนุษย์อาศัย เต็มไปด้วยแนวปะการัง และสันดอน รวมกว่า 190 แห่ง แต่สำคัญกว่านั้น คือ พื้นที่ด้านใต้เกาะกลับกลายเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ (กระทรวงทรัพยากรธรณีและแร่ธาตุของจีน ประเมินว่าใต้ท้องทะเลแถบนี้มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถึง 17.7 พันล้านตัน ซึ่งจะทำให้สแปรตลีย์เป็นแหล่งก๊าซธธรรมชาติและน้ำมันอันดับ 4 ของโลก) นั้น ยังไม่รวมความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรการประมง และยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญอันดับสองของโลก ฉะนั้นได้ครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์ได้ ก็เท่ากับควบคุมเส้นทางการเดินเรือ ยุทธศาสตร์ทางทะเล และทรัพยากรมหาศาลเอาไว้ได้

ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ทั้งจีน ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน จึงพยายามหยิบยกเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เป็นข้ออ้างในการเข้าครอบครองหมู่เกาะสแปรตลีย์ บ้างอ้างเพียงบางส่วน บ้างก็อ้างทั้งหมดเป็นของตน และพากันใช้หลากยุทธวิธี

มีตั้งแต่ยุทธการทางทหาร อย่างในปีพุทธศักราช 2517 ที่จีนยกกำลังขับไล่ทหารเวียดนามพ้นหมู่เกาะพาราเซลก่อน และตามด้วยยึดครองเกาะสแปรตลีย์ขับไล่เวียดนามในปีพุทธศักราช 2531

หรือทางฝ่ายเวียดนาม เมื่อเป็นรองด้านกำลังทหาร ก็นำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเข้าช่วย เช่น ประกาศจัดทัวร์เยือนสแปรตลีย์หน้าตาเฉย โดยให้บริษัทท่องเที่ยวเวียดนามจัดทัวร์เยือนป้อมทหารที่อดีตตนเคยไปสร้างไว้ใน 5 เกาะร้าง ที่เวียดนามส่งทหารยึดครอง ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็ทำให้พญามังกรถึงขั้นปวดเศียรเวียนเกล้าไปตามกัน

ยุทธศาสตร์การประท้วงทางการทูต คือ อาวุธสามัญประจำกายที่ชาติคู่กรณีใช้ในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อยู่บ่อยครั้ง เช่น เมื่อปีพุทธศักราช 2538 ที่ฟิลิปปินส์ประท้วงจีน กรณีจีนรุกสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างบนเกาะปะการังมิสชีฟ ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ จีนอ้างว่า อาคารดังกล่าวเป็นที่พักชาวประมงไม่ใช่ที่ตั้งทางทหาร สถานการณ์บานปลายถึงขั้นเมื่อในปี 2541 จีนเดินหน้าขยายสิ่งปลูกสร้างออกไปอีก เป็นผลให้อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา ประกาศเพิ่มการลาดตระเวนทางอากาศ และทางเรือรอบเกาะปะการังดังกล่าว พร้อมขู่จะยิงเตือนทันทีที่พบเรือจีนแล่นเข้ามาในรัศมีใกล้เกิน 5 ไมล์

วันนั้นผู้บัญชาการกองทัพฟิลิปปินส์นามว่า พลตรีโจซลิน นาซารีโน ประกาศกร้าวออกมาทันทีว่า “หากต้องเผชิญหน้ากันด้วยอาวุธแล้ว ฟิลิปปินส์ก็จะต่อสู้ป้องกันตัวด้วยทุกอย่างที่มีอยู่กับกองทัพที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลกอย่างจีน แม้ว่ากองทัพของเรา (ฟิลิปปินส์จะได้ชื่อว่าอ่อนแอที่สุดในโลกก็ตาม”

ฟิลิปปินส์พยายามจะยันจีนด้วยการประกาศซ้อมรบร่วม “บาลิกาตัน” กับสหรัฐฯ ในพื้นที่ทะเลจีนใต้ แม้ว่าผู้นำสมัยต่อๆ มาอย่าง ประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย จะแก้ตัวว่า การซ้อมรบดังกล่าวไม่มีอะไรเกี่ยวกับกรณีพิพาทที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด เช่นเดียวกับที่จีนเองก็จัดซ้อมรบทางทะเลในพื้นที่พิพาท เพื่อส่งสัญญาณให้ประเทศผู้อ้างสิทธิต่างๆ ถอยออกไปเช่นกัน แต่การซ้อมรบของจีนดูจะเป็นเพียงเหมือนอุปรากรสนองความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยวเวียดนาม ที่ยังลงเรือรบเอชคิว 988 เพื่อโดยสารไปชมค่ายทหารเวียดนามบนเกาะร้าง ที่เดินทางเป็นประจำ 8 วันครั้ง

จวบจนบัดนี้ ความขัดแย้งในกรณีแย่งสิทธิ์ครอบครองหมู่เกาะดังกล่าว ยังคงดำรงอยู่ เพียงแต่คู่กรณีต่างผลัดกันเป็นฝ่ายรุก และรับในทางยุทธศาสตร์ โดยต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมลามือให้กับใครง่ายๆ แม้ว่าจีนจะเติบโตรุดหน้าชาติเพื่อนบ้านมากมาย ทั้งการทหาร เศรษฐกิจ ฯลฯ

เมื่อปีที่แล้ว เวียดนามพยายามจะถ่วงดุลจีนด้วยการดึงชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เข้ามาในภูมิภาคนี้เป็นระยะ ได้เปิดท่าเรือเมืองดานังต้อนรับ เรือรบของสหรัฐฯ ที่ชื่อว่า John McCain และประกาศให้เรือรบ John McCain เข้าร่วมกับภารกิจกับกองทัพเรือเวียดนามเป็นครั้งแรก หลังจากสิงหาคมปีเดียวกัน ท่าเรือเดียวกันนี้เคยเป็นที่จอดรับเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ George Washington มาแล้ว

ยุทธวิธีดึงพญาอินทรีเข้ามาตีกลางวงกับพญามังกร ถึงกับทำให้จีนประกาศกร้าวต่อหน้านางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กลางเวทีเออาร์เอฟปีที่แล้วทันทีว่า “จีนขอคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีอะไรติดต่อกับทะเลจีนใต้ แต่ยังพยายามเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกรณีพิพาทตลอดไปจนความพยายามที่จะขยายเรื่องราวเหล่านี้ให้กลายเป็นประเด็นระดับภูมิภาค ระดับพหุภาคี หรือระดับระหว่างประเทศ...” พร้อมคำรามด้วยถ้อยคำเดิมว่า “เขตแดนเหล่านี้เป็นของจีน อย่างไม่อาจบิดพลิ้วเป็นอื่นไปได้”

เรื่องดินแดน ไม่มีใครๆ บนโลกใบนี้ เขายอมกันง่ายๆ หรอก เห็นไหม!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น