xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมดันกทท.บริหารท่าเรืออยุธยาเชื่อมขนส่งเจ้าพระยา-แหลมฉบัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คมนาคมดันกทท.บริหารท่าเรือจ.อยุธยาหลังกรมเจ้าท่าก่อสร้างเสร็จ นำร่องท่าเรือประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนขนส่งทางน้ำจากภาคเหนือ-อีสาน เชื่อมท่าเรือแหลมฉบังและคลองเตยด้านกรมเจ้าท่าเร่งหารือ ทช.,ทล. ขยายถนนเข้าสู่ท่าเรือ ปรับแผนย้ายที่ก่อสร้างท่าเรือจ.อ่างทอง เหตุที่เดิมน้ำท่วมถึง

นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยภายหลังตรวจความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างสถานีขนส่งทางลำน้ำเพื่อประหยัดพลังงาน อ.ท่าเรือ จ.อยุธยามูลค่าก่อสร้าง 379.6 ล้านบาท วานนี้ (17 ม.ค.) ว่า ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าประมาณ 66 % ล่าช้ากว่าแผนประมาณ6% เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมาแต่อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จในเดือนมิ.ย. 2554 เร็วกว่าแผนที่กำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 11 ต.ค. 2554

ทั้งนี้ตามแผนเดิมกรมฯจะก่อสร้างท่าเรือท่าเรือประหยัดพลังงานแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แห่งคือที่ จ.อยุธยาและ จ.อ่างทอง เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางน้ำจากภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางตอนบนไปยังท่าเรือกรุงเทพ, ท่าเรือแหลมฉบัง ,สีชังได้โดยสามารถลดต้นทุนและประหยัดพลังงานได้มากกว่าทางถนนถึง 8 เท่า แต่เนื่องจากพื้นที่ที่กำหนดเป็นจุดก่อสร้างท่าเรือของจ.อ่างทอง มีปัญหาน้ำท่วม กรมฯจึงต้องปรับแผนการก่อสร้างให้โดยจะย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายในการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างท่าเรือกับถนนให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ จึงได้ตั้งคณะทำงานที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานและมีผู้แทน กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นกรรมการร่วมหารือในการปรับปรุงโครงข่ายถนนเข้าสู่ท่าเรือ

นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร สส.อยุธยา กล่าวว่า หลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมแล้ว ตนจะเร่งรัดเรื่องการบริหารท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อยุธยา ซึ่งนโยบายกระทรวงคมนาคมต้องการให้ กทท.เป็นผู้บริหาร เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์และอุปกรณ์เครื่องมือขนถ่ายอยู่แล้ว ทำให้ไม่ต้องลงทุนมากซึ่งปัจจุบันกทท.เป็นผู้บริหารท่าเรือกรุงเทพ, ท่าเรือแหลมฉบัง,ท่าเรือเชียงแสน ซึ่งการบริหารท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะทำให้การเชื่อมโยงมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยเบื้องต้นจะหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพ.ร.บ.กระจายอำนาจ ซึ่งหน่วยงานท้องถิ่นเห็นด้วยกับหลักการให้กทท.เป็นผู้บริหารเพราะไม่ชำนาญและไม่มีประสบการณ์

สำหรับโครงการท่าเรือประหยัดพลังงาน จ.อยุธยา มีขีดความสามารถรองรับสินค้าได้ 4,000 ตู้ต่อปี หรือ 120,000 ตันต่อปี โดยคาดว่าจะเต็มขีดความสามารถภายใน 5 ปี โดยแผนเฟส 2 ขยายขีดความสามารถรองรับสินค้าได้ที่ 400,000 ตันต่อปี โดยรองรับสินค้าบรรจุหีบห่อ สินค้าเทกอง ปัจจุบันจ.อยุธยามีท่าเรือเอกชนอยู่หลาย 10 ท่า ล่าสุด ท่าเรือของซีพีอินเตอร์เทรด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท รองรับสินค้าเกษตร
กำลังโหลดความคิดเห็น