xs
xsm
sm
md
lg

หลักฐานที่เสริมว่าคนสยามสร้างนครวัด (อย่าว่าแต่พระวิหาร)

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

ในบทความก่อน ผมได้เสนอทฤษฎีใหม่ว่าพระเจ้าอู่ทองนำคน “สยาม”อพยพหนีตายมาจากนครวัดเพื่อมาสร้างกรุงศรีอยุธยา คนสยามนี่แหละที่เป็นผู้สร้างนครวัดและนครธม ส่วนเขมรเป็นพวกข้าทาสแรงงานในการก่อสร้าง โดยผมได้แสดงหลักฐานและเหตุผลประกอบตามข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และด้านวัฒนธรรมประเพณี (ไม่ได้โมเมแบบที่บางคนกล่าวหาผมอย่างไม่เป็นธรรม)

คราวนี้ขอเสนอหลักฐานโดยอ้อม จากบันทึกของโจวต้ากวน ทูตการค้าชาวจีนที่เข้าไปอยู่ในนครวัดเมื่อปี ค.ศ. 1295 (40 ปีก่อนที่หัวหน้าทาสชื่อตระซอกประแอม (แตงหวาน) จะนำกองกำลังทาสถล่มกษัตริย์วรมันหมดสิ้นสกุลแล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป ซึ่งพงศาวดารเขมรฉบับแรกที่ยังไม่มีอิทธิพลฝรั่งเศสก็ยอมรับว่าเขาผู้นี้แหละคือต้นตระกูลเขมร)

บันทึกของโจว นี้ถือกันในวงวิชาการว่าสำคัญที่สุด เพราะเป็นบันทึกชิ้นเดียวในโลกที่มีอยู่ที่บันทึกเรื่องราวในนครวัดอย่างละเอียดพอควร

โจวได้บันทึกเรื่องการทอผ้าว่า ชาวพื้นเมืองนครวัดไม่รู้จักการทอผ้าไหม รู้จักแต่การทอผ้าฝ้าย ซึ่งวิธีการทอผ้าก็หยาบมากกล่าวคือ เอามือดึงเส้นด้ายออกมาจากปุยฝ้าย แล้วก็เอามาทอเป็นผืนโดยไม่ใช้กี่ แต่ใช้เส้นด้ายพันรอบเอวไว้ ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งผูกไว้กับขอบหน้าต่าง แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่ดันกระแทกเส้นด้ายพุ่งในการทอผ้า (น่าสังเกตว่าเป็นวิธีที่คนไทยกะเหรี่ยงแถวแม่ฮ่องสอนก็ยังใช้อยู่จนถึงวันนี้) อีกประการคือ ชาวพื้นเมืองไม่รู้จักใช้เข็มและด้ายพวกเขาจึงเย็บผ้าและชุนผ้าไม่เป็น

โจวบันทึกต่อไปว่า...ในระยะหลัง มีพวกสยามเข้ามาอยู่มาก พวกนี้รู้จักการทอผ้าไหมแบบใช้กี่ พวกเขานำต้นหม่อนและตัวไหมมาจากเมืองสยาม นอกจากนี้พวกสยามยังรู้จักใช้เข็มและด้ายในการเย็บและชุนผ้าอีกด้วย

หลักฐานข้างต้นนี้สนับสนุนทฤษฎีของผมที่ว่ามีคนสยามเข้าไปอยู่ในนครวัดมาก โดยผมเชื่อว่าเป็นคนชั้นสูงที่เป็นเครือญาติของกษัตริย์ และเป็นสมาชิกครอบครัวของทหารสยามที่เข้ามาค้ำบัลลังก์กษัตริย์ชัยวรมันที่ ๖ ต่อมาจนถึงที่ ๗ (ผู้สร้างนครธมและสร้างต่อนครวัดจนเสร็จ) ซึ่งทั้งสองเป็นกษัตริย์ที่มีเชื้อสายมาจาก “พิมาย”

ยิ่งทอผ้าไหมก็ยิ่งใช่เลย เพราะพิมายมีชื่อกระฉ่อนในการเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมอยู่แล้ว และที่ชาวพิมายถูกเรียกว่า สยาม ก็เพราะมันเพี้ยนมาจากคำว่า “สวายาม” ซึ่งเป็นชื่อพระบิดาของ ชย. ๖ (ซึ่งเป็นคนพิมาย) นั่นเอง

การที่กษัตริย์ชนชั้นสูง และทหารเป็นอีกเผ่าหนึ่งแล้วพลเมืองโดยทั่วไปเป็นอีกเผ่าหนึ่งนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าบริหารดีๆ ก็ทำได้ เช่น ราชวงศ์หยวน และราชวงศ์คิงของจีน ซึ่งเป็นพวกมองโกล และแมนจูนั่นอย่างไร เป็นชนส่วนน้อยแต่กลับปกครองคนส่วนใหญ่ได้หลายร้อยปี

น่าคิดต่อไปว่า คนพื้นเมืองนั้นแค่ทอผ้าเย็บผ้ายังทำไม่เป็น แล้วจะไปสร้างนครวัดนครธมได้อย่างไร ก็มาเข้าทฤษฎีผมที่ว่า คนสยามต่างหากเล่าที่เป็นคนออกแบบ และคุมการสร้างทั้งหมด โดยนายช่างพวกนี้มาจากพิมายและลพบุรีเป็นส่วนใหญ่ (เริ่มสร้างในสมัยพระสุริยวรมัน ๒ ..ชาวลพบุรี แล้วมาเสร็จเอาในสมัยพระชัยวรมัน ๗..ชาวพิมาย)

ส่วนแรงงานในการสร้างนั้นมาจากพวกทาสเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทาสพวกนี้น่าจะเป็นพวกจามผสมกับพวกคนป่าที่ถูกจับมาเป็นเชลยจากการทำสงคราม ซึ่งพวกทาสบางส่วนนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก็พัฒนาขึ้นมาเป็น “คนพื้นเมือง” และเป็นนายทาสในที่สุด ดังนั้นคนพวกนี้จึงไม่มีความรู้เรื่องการทอผ้าด้วยกี่ทอผ้าซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง

โจวระบุด้วยว่า ครอบครัวชาวนครวัดส่วนใหญ่มีทาสเป็นร้อยหรือมากกว่านั้น บางครอบครัวมี 10-20 ทาส ยกเว้นครอบครัวที่จนมากที่สุดเท่านั้นจึงจะไม่มีทาสเลย จากการประเมินของนักวิชาการฝรั่ง นครวัดช่วงนั้นมีพลเมืองประมาณ 1 ล้านคน ดังนั้นจึงประเมินได้ไม่เกินความจริงไปเลยว่านครวัดช่วงนั้นน่าจะเป็นทาสเสีย 6 แสน คนชั้นสูง ทหาร และครอบครัว และคนพื้นเมืองที่เป็นนายทาสเสีย 4 แสน

พอถึง ค.ศ. 1336 เมื่อตระซอกประแอมนำพวกทาสล้มบัลลังก์วรมัน ก็อาจฆ่าคนสยาม และพวกนายทาสไปเสีย 1 แสน ในการนี้ทาสทั้งหลายได้ประโยชน์สองต่อคือยึดอำนาจรัฐและปลดแอกจากการเป็นทาสไปพร้อมกัน

3 แสนที่เหลือก็หนีตายอพยพไปก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา นำโดยพระเจ้าอู่ทองนั่นแล โดยนำเอาระบบกษัตริย์เทวราชาติดตัวไปที่อยุธยาด้วย อีกทั้งกษัตริย์เป็นคนขอม ก็ต้องตรัสด้วยภาษาขอม ซึ่งกลายมาเป็นราชาศัพท์ของเราจนถึงทุกวันนี้

ชย. ๗ ทรงสร้างนครธม ที่ฝรั่งแปลตามศัพท์เขมรว่า นครใหญ่ แต่ผมว่านี่คือ นครธรรม ต่างหาก เป็นภาษาสยาม ที่แปลงมาจากบาลี (ธรรม = ธมฺ ) มันต้องใช่แน่นอนเพราะ ชย. ๗ ทรงธัมมะธัมโมมาก อีกทั้งชื่อปราสาทต่างๆ ในนครธมก็เป็นภาษาสยามเสียมากเลย เช่น ปราสาทนาคพัน (เขมร = เนียคเพียน) (พญานาคพันตัวไปมา) ปราสาทตาพรหม ปราสาทพระขันท์ ปราสาทตาแก้ว สระสรง พระรูป ที่ชื่อเป็นสำเนียงสยามหมดก็เพราะ ชย. ๗ เป็นชาวสยามจากพิมายนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น