xs
xsm
sm
md
lg

ทำตัวอย่างไรในยุค "ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขอต้อนรับเข้าสู่ปี 2554 ยุค "ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง " ค่ะ ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งคิดไปว่าดิฉันใจร้ายที่เขียนประเด็นนี้ต้อนรับปีใหม่ เพียงแต่อยากให้เราเตรียมตัวให้พร้อมกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ที่สำคัญการดำเนินชีวิตในยุค "ดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง" ก็ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด และยังมีโอกาสดีๆ ซ่อนอยู่ด้วย

ปลายปี 2553 ธนาคารกลางจีนขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นครั้งที่ 2 ในวันคริสต์มาส ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี) อีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% ในวันที่ 1 ธ.ค. 53 เช่นกัน ทั้งนี้ กระแสดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะยังคงดำเนินต่อไปอีกสักระยะ เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังอยู่ในระดับต่ำและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงก็ยังติดลบ ( อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงคืออัตราดอกเบี้ยในรูปตัวเงิน ลบด้วย อัตราเงินเฟ้อ ) นอกจากนี้กูรูในตลาดเงินต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าดอกเบี้ยอาร์พีนี้น่าจะปรับขึ้นได้อีกราว 0.50-0.75% ในปี 2554

ผลก็คือ ธนาคารพาณิชย์จะพร้อมใจกันขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตาม ทำให้ต้นทุนการบริโภค การผลิตและการลงทุนของภาคเอกชนสูงขึ้น จึงมีเสียงคัดค้านตามมา โดยเฉพาะจากผู้ส่งออกที่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยิ่งดึงดูดเงินทุนไหลเข้า แล้วค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก  เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะมีผลทางจิตวิทยาต่อการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ  โดยหากนักลงทุนคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยของไทยมีโอกาสปรับขึ้นได้อีกก็จะยิ่งทำให้มีเงินทุนไหลเข้า

นอกจากนี้นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารโลกก็มองว่าจะมีเงินไหลเข้าเอเชียเพิ่มขึ้น จากมาตรการอัดฉีดเงินรอบ 2 (QE-2) ของสหรัฐฯ เพราะเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าและมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าในปี 2553 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 10.6% จากระดับปิดสิ้นปี 2552 โดย  สกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดของเอเชีย ได้แก่ อันดับ 1 คือค่าเงินเยนของญี่ปุ่น รองลงมา คือ ค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย และอันดับสาม คือค่าเงินบาทของไทย 

คำถามคือ ใครได้-ใครเสีย ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง

คนที่ยิ้มรับดอกเบี้ยขาขึ้นคงหนีไม่พ้นคนที่มีเงินหรือสภาพคล่องสูง ๆ และบรรดาเจ้าหนี้ (ทั้งในและนอกระบบ) อาทิ กลุ่มผู้มีเงินฝากโดยเฉพาะผู้ที่เกษียณอายุซึ่งหวังพึ่งรายได้จากดอกผลของเงินฝาก องค์กรที่มีสภาพคล่องสูงและมีรายได้จากดอกเบี้ยในรูปเงินฝากประเภทต่างๆ และกิจการที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อ ในทางกลับกันคนที่ได้รับผลกระทบทางลบคือลูกหนี้ โดยเฉพาะคนยากจนซึ่งมีภาระหนี้สินสูง แถมยังเป็นหนี้นอกระบบที่ดอกเบี้ยแสนแพง ต่อมาคือชนชั้นกลางที่มักเป็นหนี้จากการผ่อนบ้าน คอนโดฯ และรถยนต์ กลุ่มห้างร้านหรือบริษัทที่กู้ยืมเงินมาบริหารกิจการ รวมถึงธุรกิจรถยนต์และอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากคนระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้  คนที่ถือพันธบัตรหรือตราสารนี้ระยะยาวก็เสียโอกาสในการรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 

สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ก็เอื้อประโยชน์ให้แก่นักเรียนนักศึกษาที่เรียนอยู่ในต่างประเทศ ธุรกิจนำเข้า ธุรกิจที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และคนไทยที่ไปท่องเที่ยวในต่างประเทศในทางกลับกันคนที่เสียประโยชน์ก็คือ ธุรกิจส่งออก และผู้ที่ทำงานในต่างประเทศแล้วส่งรายได้กลับไทย เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงพอจะเริ่มเห็นแล้วว่าท่านอยู่ในกลุ่มใด ได้หรือเสียประโยชน์ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาดูวิธีการปรับตัว ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด และเสียประโยชน์ต่ำสุดค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น