xs
xsm
sm
md
lg

สงครามครั้งสุดท้ายของทักษิณ – คนเสื้อแดงกำลังเข้าตาจน (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

ถึงประเด็นนี้แล้ว เสื้อแดงต่อต้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ผู้เคยเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำลายระบบอำมาตยาธิปไตยด้วยตัวท่านเอง ซึ่งมีมาก่อนหน้านี้แล้วไม่มากก็น้อยที่ข้าราชการทุกระดับมักกระทำตัวเหนือประชาชนเป็นเหตุให้เกิดช่องว่างและการข่มเหงเอาเปรียบประชาชน เหตุใดคนเสื้อแดงจึงประณามว่า พล.อ.เปรม เป็นเผด็จการอำมาตย์ ที่อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ซึ่งคงเป็นได้ยากสำหรับผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอังกฤษ และมีใช้แบบอย่างของ นายชวน หลีกภัย ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีใครกดดัน นายชวน ได้สักคน ก็ต้องถามนักการเมืองเก่าๆ ว่าจริงหรือไม่

หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของการต่อต้านระบบ หรือระบบการปกครองหรือรัฐบาลนั้น อาจจะต้องพิจารณาการชุมนุมต่อต้านรัฐระดับสากล หรือของไทยในอดีตว่า แต่ละเหตุการณ์ มีแรงจูงใจ หรือวัตถุประสงค์อะไรอยู่ประเด็นไหน

1. การปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนในหลัง ค.ศ. 1966– 1967 ซึ่งเดิมทำโดยกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงในการปฏิวัติ แห่งสถาบันศึกษาระดับกลางแห่งมหาวิทยาลัยซินหัว ได้สถาปนากลุ่มผู้พิทักษ์แดง (Red Guard) ขึ้น เพื่อต่อต้านนักวิชาการ ศิลปิน และชนชั้นกลางที่ใช้แหล่งมหาวิทยาลัยเป็นที่พักพิงหลบซ่อนไม่ไปทำงานให้คอมมูน เหมา เจ๋อ ตุง เห็นประโยชน์ที่จะทำลายกลุ่มสายกลางในพรรค เช่น เติ้ง เสี่ยว ผิง จึงสนับสนุน โดยในวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1966 เหมา เจ๋อ ตุง ออกพบกลุ่ม Red Guard กว่า 1,000,000 คน ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน พร้อมกับให้การสนับสนุน โดยมีแนวทำลาย 4 โบราณ วัฒนธรรมเก่า ขนบประเพณีโบราณ อุปนิสัยแบบดั้งเดิม และความคิดเก่า จึงมีการทำลายเอกสาร หนังสือ ศิลปะ พิพิธภัณฑ์ วัดวาอาราม และสถานที่ประวัติศาสตร์ ถูกทำลายกว่า 4,922 แห่ง จาก 6,843 แห่ง จนในปี ค.ศ. 1967 กรรมาธิการกลางไม่เห็นด้วย จึงกดดันกองทัพให้เข้าขัดขวางและทำลาย Red Guard อย่างรุนแรง และเป็นชนวนไปสู่จุดดับของ เหมา เจ๋อ ตุงเอง

2. การต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐฯ และอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1969 มีคนกว่า 500,000 คน ทั่วสหรัฐฯ และ 150,000 คน ในกรุงลอนดอน ประท้วงสงครามเวียดนามพร้อมกัน ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1969 เหตุผลในการต่อต้านที่สำคัญว่า เป็นการใช้กำลังรบเกินกว่าเหตุ เป็นการฆ่าผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเกณฑ์คนอเมริกันที่ไม่สมัครใจไปรบให้กับชาติอื่น และทำให้ จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ ที่เข้าร่วมประท้วง แต่งเพลง Imagine

3. การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและความเสมอภาคของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) ผู้ที่มีวลีสำคัญว่า “ข้ามีความฝัน” “I Have a Dream” เดินขบวนประท้วงไกล 6 ล้านไมล์ เรียกร้องความเป็นธรรม ให้คนอเมริกัน แอฟริกันมีสิทธิเสมอภาคในการเลือกตั้งในรัฐอลาบามา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957– 1968 และครั้งสำคัญในปี ค.ศ. 1963 เดินขบวนด้วยคนกว่า 250,000 คน จากอลาสกาไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ซึ่งต่อมารัฐบาลกลางออกกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคในการเลือกตั้งทุกประเภท

ส่วนในไทยนั้น

1. มีการเดินขบวนประท้วงตามหลักสากลในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2483 เรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส จนเกิดสงครามกรณีพิพาทฝรั่งเศสอินโดจีน ทำให้ไทยได้เมืองเสียมราช พระตะบอง และจำปาศักดิ์ คืนจากฝรั่งเศส

2. ประชาชนเดินขบวนประท้วงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม กรณีเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาล จอมพล ป. สำเร็จในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

3. นิสิต นักศึกษา และประชาชน เรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จนเกิดกระแสวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และรัฐบาลลาออก จอมพลถนอม, จอมพลประภาส และ พ.อ.ณรงค์ เดินทางไปต่างประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ใช้พระราชอำนาจโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐบาลเมื่อระบอบการเมืองเป็นสุญญากาศ

4. นักศึกษา ประชาชน ต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม และ จอมพลประภาส จนเดินทางเข้าประเทศไม่สำเร็จ จนในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง เกิดการรัฐประหาร

5. นักศึกษา และประชาชน ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ในวันที่ 17 พฤษภาคาคม พ.ศ. 2535 เรียกกันว่า “พฤษภาทมิฬ” แต่แท้จริงแล้วเป็นการต่อสู้ชิงอำนาจรัฐกันกันระหว่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับกลุ่ม พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่มีพรรคสามัคคีธรรมหนุน จนเกิดสุญญากาศขึ้นอีก และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ทรงใช้พระราชอำนาจโปรดเกล้าฯ รัฐบาล นายอานันท์ ปัญยารชุณ

จะเห็นได้ว่าการประท้วงและเดินขบวนต่อต้านระบบสถาบัน และรัฐบาล ที่เกิดในโลกนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อมนุษยธรรม เพื่อประโยชน์ต่อสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมิคสัญญีในอนาคต เพราะมีเหตุผลให้รัฐบาลหรือประชาชนทั่วไปมองเห็นว่าอะไรเป็นธรรม และไม่เป็นธรรมนำ มักสู่ความสัมฤทธิผลเสมอ

แต่การเดินขบวนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มเสื้อแดงนั้น มีความชอบธรรมทางสังคมหรือไม่ ในเมื่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังคงบริหารฝ่าวิกฤตต่างๆ ด้วยปัญญาและเห็นผลบ้างแล้ว แม้จะมีอุปสรรคทั้งบุคคลในพรรคร่วมรัฐบาล แต่ยังคงควบคุมได้ และมีใครที่จะพิสูจน์เป็นรูปธรรมว่ามีเผด็จการอำมาตย์อยู่เบื้องหลังการบริหารประเทศอยู่จริง หรือแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมตามที่ทักษิณกล่าวหา ทักษิณเองก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นชัดเหมือนที่ตัวเองถูกเปลือยวิญญาณให้เห็น ความชั่ว วิธีการคดโกง และการใช้อำนาจเผด็จการ สั่งให้หมู่อำมาตย์ ทั้งข้าราชการการเมือง และข้าราชการปฏิบัติตาม

จึงเป็นคำถามให้นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา และปัญญาชนทั่วไป ได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของการต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธ์โดยคนเสื้อแดง นี้ชอบธรรมและมีเหตุผลหรือไม่ หรือเป็นเพียงความต้องการเอาชนะ เอาเงินคืน เอาอำนาจคืน และการล้างแค้นของทักษิณคนเดียวเท่านั้น ด้วยกลุ่มคนถ่อยที่ใช้วิธีการและคำพูดที่คนสถุลใช้กันโดยเฉพาะจากปากของนายอริสมันต์หรือความแตกแยกระหว่างกลุ่มเสธ.แดงกับแกนนำสามเกลอ วีระ มุกสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและนี่เป็นสัญญาณว่าพวกเขากำลังเข้าตาจนหรือทักษิณกำลังหมดที่ไปหรือกำลังหมดทุน


                       nidd.riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น