xs
xsm
sm
md
lg

เราต้องช่วยพระพุทธองค์

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

สืบเนื่องจากกรณีหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช

ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรม นักภาวนาและผู้แสวงธรรมทั้งหลายที่สามารถเข้าถึงข่าวสารจากโลกอินเทอร์เน็ตจำนวนไม่น้อย นั่นคือ “กรณีหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช” หลวงพ่อปราโมทย์เป็นพระอาจารย์ทางด้านวิปัสสนาที่โด่งดังมากในยุคปัจจุบัน ท่านเป็นนักปฏิบัติที่รอบรู้ในเรื่องปริยัติ หนังสือที่พระอาจารย์ปราโมทย์เป็นผู้เขียน (ทุกเล่มแจกเป็นธรรมทาน)

ไม่ว่าจะเป็น “วิถีแห่งความรู้แจ้ง” “ประทีปส่องธรรม” “ทางเอก” และ “วิมุตติมรรค” ล้วนเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าในทางธรรมเหลือเกิน เพราะหนังสือเหล่านี้ ท่านได้เขียนออกมาเพื่อให้ผู้แสวงธรรมทั้งหลายนำไปใช้เป็นแนวทางในการภาวนาของตน เพื่อประโยชน์ในด้านจิตตภาวนา และปัญญาภาวนาของสาธุชนทั้งหลายให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมที่เร่าร้อนนี้ได้อย่างสงบสุขตามสมควรแก่อัตภาพ

นอกจากนี้ ท่านยังได้เทศนาอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยที่ท่านอยู่ที่สวนโพธิญาณอรัญวาสี จังหวัดกาญจนบุรี จนกระทั่งท่านย้ายมาประจำที่สวนสันติธรรม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งคณะศิษย์ของท่านได้บันทึกธรรมเทศนาเหล่านี้ของพระอาจารย์ปราโมทย์ในรูปของ CD-MP3 แล้วนำออกไปแจกจ่ายให้แก่ผู้สนใจเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังสามารถดาวน์โหลดคำสอนต่างๆ ของพระอาจารย์ปราโมทย์ได้ผ่านเว็บไซต์ wimutti-net อีกด้วย นับได้ว่า สื่อสมัยใหม่เหล่านี้เป็นพลังอันสำคัญยิ่งในการเผยแผ่ธรรมะของท่านที่สืบทอดคำสอนของพระพุทธองค์โดยตรงให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลา ให้หันมา “ดูจิต” และเจริญวิปัสสนาได้เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

ที่ผ่านมา ยังไม่มีพระอาจารย์ท่านไหนที่สามารถระดมฆราวาสจำนวนมาก และเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาให้เข้ามามีกำลังใจ มีกำลังศรัทธาในการ “เจริญสติ” ร่วมกันเพื่อเข้าถึง “แก่นธรรม” และเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ทางใจได้มากเท่านี้มาก่อน

จริงอยู่ที่ผ่านมา อาจจะเคยมีการระดมผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากมหาศาลกว่านี้ก็จริง แต่มันก็ยังเป็นแค่การมาชุมนุมกันเพื่อเสริมสร้างและตอกย้ำ “ความเชื่อร่วมกัน” หรือเป็นการชุมนุมกันตามความประพฤติในระดับศีลธรรมจรรยาประเพณีเท่านั้น ยังมิใช่ในระดับ “จิตตื่นในธรรม” (spiritual awakening) เช่นนี้มาก่อนเลย

จวบจนถึงต้นปี พ.ศ. 2553 นี้ บ้านอารีย์ ซึ่งเป็นทั้งห้องสมุดธรรมะ และเป็นมูลนิธิของกลุ่มญาติธรรมกลุ่มหนึ่งที่มีใจอุทิศทำงานเพื่อพระพุทธศาสนา บ้านอารีย์นี้เคยเป็นช่องทางหลักช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่คำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ แต่อยู่ดีๆ บ้านอารีย์ก็ได้ประกาศยุติการเผยแพร่คำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์อย่างกะทันหัน

ตามมาด้วยเหตุการณ์การถอนตัวพร้อมๆ กันของคณะกรรมการสวนสันติธรรม บางส่วนที่เคยเป็นคนใกล้ชิดของหลวงพ่อปราโมทย์ และการยกเลิกกำหนดการเทศน์กะทันหันของสำนักพิมพ์ DMG ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นติดต่อกันราวกับเป็นกระบวนการที่มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเพื่อให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” ขึ้นมาให้จงได้ (รายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ ในช่วงนั้นสามารถติดตามอ่านได้จากคำชี้แจงของสวนสันติธรรมในเว็บไซต์ wimutti.net ซึ่งออกมาถึง 10 ฉบับ)

ไม่นานหลังจากนั้น ก็มี คำประกาศจากบ้านอารีย์ บ่งชี้ “ความผิด” (ความจริงน่าจะเป็น บทวิพากษ์ มากกว่า) ของหลวงพ่อปราโมทย์ออกมา 8 ข้อด้วยกัน แต่จะขอยกขึ้นมาให้พิจารณาเพียง 6 ข้อเท่านั้น เพราะอีกสองข้อที่เหลือเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดใน “ข้อเท็จจริง” ที่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน

บทวิพากษ์หลวงพ่อปราโมทย์ของบ้านอารีย์ มีดังนี้

(1) การบรรยายธรรมหลายครั้ง หลายกรณีมีการกระทบกระทั่งไปยังสำนักต่างๆ แทบจะทุกสำนัก ในลักษณะที่สื่อให้เห็นว่าการปฏิบัติของสำนักอื่นๆ นั้น ยังมีข้อบกพร่อง ยังไม่สมบูรณ์ต้องเสริมด้วยวิธีของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ทำให้เกิดอกุศลขึ้นระหว่างหมู่ผู้ปฏิบัติที่มีศรัทธาในสำนัก ในครูบาอาจารย์ของตน

(2) การบรรยายธรรมหลายครั้ง หลายกรณี และบทความข้อเขียนเล่มต่างๆ มีการหว่านล้อม โน้มน้าว ชักจูงทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่า หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล ขั้นใดขั้นหนึ่งแล้ว

(3) แก่นการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ใช้การทักวาระจิต และเป็นการใช้อย่างสม่ำเสมอในทุกคราวของการแสดงธรรม ทำให้เกิดการเสพติดของนักปฏิบัติ และเป็นวิถีทางการปฏิบัติแบบใหม่ที่ผู้ปฏิบัติเพื่อแสวงหาหนทางพ้นทุกข์จำนวนมากไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

(4) แนวทางการสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน จึงต้องอาศัยการถามตอบเป็นหลักนั้น ทำให้ไม่มีมาตรฐานทางธรรมเกิดความฟุ้งซ่านขึ้นกับผู้ปฏิบัติ เฝ้ากังวลว่าจะปฏิบัติถูกหรือผิดไม่อย่างไร เพราะคอยแต่คิดคำนึงไปตามสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา

(5) ในการแสดงธรรมของหลวงพ่อปราโมทย์ หลายครั้งได้ดูแคลนแนวทางการปฏิบัติที่ทำความเพียรในรูปแบบ และข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ของครูบาอาจารย์ต่างสำนัก ด้วยอาการเยาะเย้ยเหยียดหยาม ทำนองว่าเป็นทุกขาปฏิปทา ไม่เหมาะกับปัญญาชนคนเมือง ทำให้ล่าช้าสู้การทำความเพียรด้วยการฟังซีดีของท่านบ่อยๆ ไม่ได้

(6) จากการพบปะพูดคุยกับญาติธรรมจำนวนมากที่อาศัยเพียงการดูจิตในชีวิตประจำวันไปเลย โดยละเลยการปฏิบัติในรูปแบบ และการทำสมถะซึ่งเป็นพื้นฐานที่ก่อให้เกิดความตั้งมั่นของจิต ทำให้ไม่มีกำลังที่จะใช้ดูจิต ไม่สามารถทำให้ลดละกิเลสได้ ซึ่งครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ หลายสำนักล้วนมีความเห็นตรงกันว่า การทำสมถะมีความจำเป็นสำหรับทุกคน มิใช่บางคนเท่านั้น

* * *

ผมไม่เคยพบหรือรู้จักหลวงพ่อปราโมทย์มาก่อน บ้านอารีย์ก็เช่นกัน ผมเป็นเพียง “คนนอก” สำหรับกรณีนี้ที่รักการแสวงธรรมคนหนึ่งเท่านั้น แน่นอนว่า ผมได้ฟัง CD-MP3 ของหลวงพ่อปราโมทย์ติดต่อกันมาหลายปี และได้ศึกษาหนังสือของท่านพระอาจารย์ที่เขียนออกมาทุกเล่ม รวมทั้งได้ทดลองปฏิบัติภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน ตามคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์มาโดยตลอดด้วย ซึ่งจากประสบการณ์โดยตรงของผม ตัวผมได้ค้นพบว่า แนวทางของท่านที่ให้หมั่นตามรู้กาย รู้ใจ และรู้สึกตัวบ่อยๆ อยู่เนืองๆ นั้น มันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาจิตตภาวนา และปัญญาภาวนาของผมเป็นอย่างมาก ของอย่างนี้ ใครที่ลองปฏิบัติภาวนาด้วยตนเองแล้ว มันจะรู้ได้ด้วยตนเอง กระจ่างแจ้งในจิตใจของตัวเราเองอย่างไม่มีข้อกังขาใดๆ เลย แม้ว่า ผมยังคงชอบฝึกลมปราณ และฝึกสมถะกรรมฐานตามแนวทางของหลวงปู่พุทธะอิสระ คุรุของผมอยู่เหมือนเดิมก็ตาม

เพราะฉะนั้น สำหรับตัวผมแล้ว ผมมีความเห็นและความเชื่อมั่นเป็นการส่วนตัวว่า แนวทางคำสอนวิปัสสนากรรมฐานของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช นั้นไม่ขัดแย้งกับแนวทางการปฏิบัติทำความเพียรในรูปแบบของสำนักใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่จะช่วยส่งเสริมให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป หากผู้นั้นสามารถ “บูรณา” แนวทางคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ให้เข้ากับวิถีปฏิบัติฝึกฝน บำเพ็ญตนที่ผ่านมาของคนผู้นั้นได้อย่างกลมกลืน

เท่าที่ผมได้ติดตามฟังคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ทาง CD-MP3 มาอย่างต่อเนื่องนานนับปี ผมไม่คิดว่า หลวงพ่อปราโมทย์ท่านแสดงธรรมเพื่อติเตียนแนวทางการปฏิบัติของสำนักอื่นตาม “ข้อกล่าวหา” ของบ้านอารีย์แต่อย่างใด ผมเข้าใจว่า ท่านต้องการชี้ให้นักภาวนา และผู้แสวงธรรมทั้งหลายได้เห็นว่า ไม่มีการปฏิบัติแบบใดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนแม้แต่การดูจิต แต่มีวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งผู้ปฏิบัติพึงเลือกรูปแบบของวิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเอง วิธีใดที่ทำแล้วทำให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญาล้วนใช้ได้ทั้งนั้น มันจึงเป็นหน้าที่ของนักปฏิบัติผู้นั้นเองที่จะต้อง “ก้าวข้าม” มายาแห่งการยึดติดเปลือกนอกรูปแบบการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง และเข้าถึงแก่นธรรมโดยตรงให้จงได้ (โปรดอ่าน คำชี้แจงของสวนสันติธรรม ฉบับที่ 9 ประกอบ)

หากมองด้วยใจเป็นกลางจริงๆ ผมคิดว่า บทวิพากษ์ต่างๆ ของบ้านอารีย์ที่มีต่อแนวทางคำสอนของหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโชนั้น มันเป็นแค่การสะท้อน “ความเห็นต่าง” (ในเชิงลบ) ของมุมมองสรุปที่ต่างกันของคนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อแนวทางคำสอนของหลวงพ่อเท่านั้น จึงมิใช่ “ความผิด” จริงๆ ของหลวงพ่อปราโมทย์ เพียงแต่คนกลุ่มนี้อาจจะเข้าใจผิดหรือเข้าใจต่างออกไป จึงเกิดความเห็นต่างในเชิงลบเช่นนี้ออกมาเท่านั้น

ผมรู้สึกชื่นชม และเห็นด้วยเป็นอย่างมากกับทัศนะ และท่าทีของ คุณดังตฤณ นักเขียนธรรมะชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ “เสียดายคนตายไม่ได้อ่าน” “เจ็ดเดือนบรรลุธรรม” “มหาสติปัฏฐานสูตร” ฯลฯ ที่มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า มันเป็นเรื่องของใจคนบางคนที่ครุ่นคิดถึงแต่มุมมองตน และความเห็นของตน ตลอดจนการตกลงร่วมกันของหมู่พวกโดยไม่ได้ผูกโยงกับผลประโยชน์ของคลื่นมหาชนอย่างแท้จริง

แต่ข้อมูลที่มาจากอคตินั้น มักคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหรือไม่ก็เป็นเท็จ อย่างไรก็ดี ขอให้พวกเราอย่าก่นด่าหรือเกิดความรู้สึกเคียดแค้นชิงชัง กลุ่มบุคคลเหล่านี้ แต่ควรรู้สึกเห็นใจพวกเขาในฐานะมนุษย์ด้วยกันที่เห็นต่างกันจะดีกว่า (โปรดดูใน นิตยสารธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 086 วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2553 หรือ dharma.at.hand@gmail.com) ต่อให้มีบางคน บางกลุ่มได้ใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต ปล่อยข้อมูลเท็จนานาชนิดให้ร้ายทำลายหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช มาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลานานพอสมควรอย่างเป็นขบวนการก็ตาม (รายละเอียดอยู่ใน คำชี้แจงของสวนสันติธรรม ฉบับที่ 2 กับฉบับที่ 8)

ผมชื่นชอบคำพูดของคุณดังตฤณตอนหนึ่งที่บ่งบอก จุดยืนของเขา ต่อเหตุการณ์นี้ว่า “โลกนี้เป็นทุกข์อยู่แล้ว จึงไม่ขอเขียนอะไรให้เพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตายต้องเป็นทุกข์เพิ่มแม้แต่คนเดียว” ซึ่งนี่ก็เป็น จุดยืนของผม ในเรื่องนี้เช่นกัน ผมเขียนข้อเขียนชิ้นนี้ออกมาเพื่อต้องการรักษาศรัทธาของชาวพุทธที่มีต่อพุทธศาสนา รวมทั้งปกป้องหลวงพ่อปราโมทย์ที่ผมเห็นว่า ท่านถูกเข้าใจผิดไปอย่างมากมายโดยคนกลุ่มหนึ่ง แต่ผมก็เคารพในสิทธิส่วนตัว และความเชื่อของคนกลุ่มนั้น หากเป็นการออกมาวิพากษ์อย่างเปิดเผยเหมือนอย่างในกรณีของบ้านอารีย์

“เราต้องช่วยพระพุทธองค์”

คำพูดประโยคนี้ที่เป็นดุจปริศนาธรรมของเซนออกมาจากปากของหลวงปู่ติช นัท ฮันท์ พระอาจารย์เซนคนสำคัญของโลกปัจจุบัน และ เป็นคำพูดที่ตัวผมคิดว่า เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกๆ คนที่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช นี้ หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจติดตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากกรณีนี้

พวกเราทุกคนสามารถช่วยพระพุทธองค์ได้ด้วยการสืบต่อลมหายใจแห่งสติของพระองค์ ด้วยการสืบต่อวิปัสสนาวงศ์ของพระองค์ และด้วยการสืบต่อการปฏิบัติภาวนาตามแนวทางสมถะ วิปัสสนาของพระพุทธองค์ที่ทรงถ่ายทอดไว้ให้อย่างจริงจัง และจริงใจ มันเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องช่วยทำให้พุทธศาสนาสดใหม่ มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น

ผมมีความเชื่อมั่นอย่างไม่คลอนแคลนว่า การออกมาปกป้องหลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมชฺโช ด้วยจิตใจที่ไม่เคียดแค้นชิงชัง และให้อภัยกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างกลุ่มนั้น ย่อมเป็นการช่วยพระพุทธองค์ด้วยเช่นกัน

                       www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น