xs
xsm
sm
md
lg

ตลท.หวังดึงบ.ร่วมทุนลาวขยายไซส์สู้ต่างแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรรายวัน-เกณฑ์ไพร์มารี่ยังอืด! ตลาดหลักทรัพย์ฯปรับแผนขอ ก.ล.ต.ออกเกณฑ์รับหุ้นบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนไทยเข้าจดทะเบียนก่อนภายในสิงหาคม หวังดึงบริษัทลาวเข้าจดทะเบียนก่อนตลาดหุ้นลาวเปิดตุลาคมนี้ หลังก.ล.ต.กังวลในเรื่องการกำกับดูแลบริษัทข้ามชาติ “วิเชฐ” แจง หากไทยไม่เปิดรับบริษัทข้ามเข้าระดมทุน ตลาดหุ้นไทยจะสู้ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้เพราะมีเหตุขนาดเล็ก พร้อมหวั่นหากการเมืองยืดเยื้อ จะฉุดหลายบจ.ใหม่เลื่อนระดมทุน ขณะที่การแก้ไขกฎหมายรองรับการปฎิรูปตลท. คาดเสนอเข้าครม.พิจารณาอังคารนี้ ส่วนผลบังคับใช้อาจเริ่มได้ช่วงกลางปีหน้า

นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนดูแลสายงานการตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการเสนอให้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)มีการออกเกณฑ์รับหุ้นบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดแรก (Primary)เฉพาะในส่วนของบริษัทร่วมทุนไทยกับต่างชาติก่อน เพื่อให้เกณฑ์ออกมาทันเดือนสิงหาคมก่อนที่ทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะเปิดทำการตลาดหุ้นในวันที่ 10 ตุลาคม2553 นี้ เพื่อที่จะชวนบริษัทร่วมทุนไทยกับลาวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

“เกณฑ์ไพร์มารี่นั้นมี 2 ส่วน คือรับหุ้นต่างประเทศที่ถือหุ้นต่างชาติ100% และบริษัทต่างชาติที่มีการร่วมทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศ แต่จากการที่ก.ล.ต.มีความกังวลในเรื่องการกำกับดูแลบริษัทที่อยู่ในต่างประเทศจะมีการดำเนินอย่างไรนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงได้เสนอให้ออกไพร์มารี่เฉพาะบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนระหว่างไทยกับต่างประเทศก่อน เพื่อให้เกณฑ์ออกมีผลบังคับใช้ให้ทันก่อนที่ตลาดหุ้นลาวจะเปิดทำการในวันที่ 10 เดือน10 ปี2010”นายวิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้เชื่อว่าทางก.ล.ต.จะออกเกณฑ์ได้ทันในเดือนสิงหาคมนี้ เนื่องจาก การนำบริษัทร่วมทุนไทยเข้ามาจดทะเบียนนั้นทำให้ก.ล.ต.ผ่อนความกังวลในเรื่องการกำกับดูแล เพราะ มีบริษัทไทยร่วมถือหุ้นและนักลงทุนมีความรู้จักกับบริษัทที่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทร่วมทุนดังกล่าว จากก่อนหน้านี้ทางตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการเสนอให้ก.ล.ต.มีการออกเกณฑ์รับหุ้นต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยเปิดกว้างให้กับบริษัทที่ต่างประเทศถือหุ้น 100%เข้ามาจดทะเบียนได้ แต่จากความกังวลในเรื่องการกับกำกับดูแลทำให้ยังไม่สามารถออกเกณฑ์ดังกล่าวได้ทันตามที่ตั้งเป้าไว้

โดย ตลาดหลักทรัพย์ฯหวังที่จะให้เกณฑ์ไพร์มารี่มีผลบังคับใช้ได้ทั้งบริษัทต่างประเทศที่มีต่างชาติถือหุ้นได้100% และบริษัทต่างชาติที่เป็นบริษัทร่วมทุนไทยกับต่างประเทศเนื่องจาก หากตลาดหุ้นลาวยังไม่มีความพร้อมในการเปิดทำการ บริษัทรัฐวิสาหกิจลาวที่มีความพร้อมในการระดมทุนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดแรก ซึ่งบริษัทรัฐวิสาหกิจลาวมีมูลค่าถึง5 หมื่นล้านบาท และจากการที่ลาวมีการออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจหุ้นให้บริษัทมีการแปรรูปนั้น ถือว่าบริษัทในลาวเป็น กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะดึงเข้ามาจดทะเบียนจากที่ธุรกิจในประเทศลาวเป็นอุตสาหกรรมหนัก ที่จะต้องระดมทุน 5 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งประชาชนในลาวนั้นมีเงินออมไม่มากนัก ทำให้จะต้องมีการออกไประดมทุนในต่างประเทศ

นอกจากนี้เพื่อดึงบริษัทต่างประเทศในแถบอินโดจีนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยได้ ตามแผนที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีขนาดใหญ่มากขึ้น เพื่อสามารถแข่งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลกจากที่ในอนาคตจะมีการเปิดเสรีนั้น การที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยมีขนาดที่ใหญ่ขึ้นและแข็งแรงและแข่งขันได้นั้น จำเป็นที่จะต้องเปิดให้บริษัทในประเทศแถบอินโดจีนที่ยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ฯหรือยังมีพัฒนาไม่มากนักเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งหากตลาดหุ้นไทยยังไม่สามารถออกเกณฑ์ดังกล่าวได้ก็จะทำให้บริษัทในประเทศแถบดังกล่าวไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นอื่นแทน ทำให้ตลาดหุ้นไทยเสียโอกาสในการเพิ่มสินค้าให้นักลงทุนและขนาดที่เติบโตมากขึ้น

นายวิเชฐ กล่าวว่า การที่ตลาดหุ้นไทยนั้นมีขนาดเล็ก และต้องการแข่งขันกับตลาดหุ้นอื่นๆทั่วโลกได้เพื่อรองรับการเปิดเสรีนั้น ตลาดหุ้นไทยจะต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องชวนให้บริษัทในแถบอินโดจีน ที่ยังไม่มีตลาดหุ้น หรือเป็นตลาดที่พัฒนาน้อยกว่าไทยให้เข้ามาจดทะเบียนให้ได้ โดยหากพลาดโอกาสในการดึงบริษัทดังกล่าวเข้ามาจดทะเบียนที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่สามารถที่จะมีการขนาดใหญ่ได้ หากมีเฉพาะบริษัทในประเทศเข้ามาจดทะเบียน จึงอยากให้ก.ล.ต.มองในแง่ที่อนาคตตลาดต้องมีการดีแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้จึงจะต้องมีการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจดทะเบียนโดยเร็ว

ลุ้นการเมืองสงบช่วยเพิ่มยอดบจ.ใหม่
นอกจากนี้ นายวิเชฐ กล่าวว่า ซีไอเอ็มบี กรุ๊ปฯ (CIMB Group Holdings Berhad))มีแผนที่จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อจะเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในตลาดหุ้นไทยในเดือนเมษายน เนื่องจาก รอให้งบการเงินประจำปี 2552 เสร็จก่อนโดยคาดว่าจะเป็นช่วงมีนาคมนี้ แต่หากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีความยึดเยื้อถึงเดือนเมษายน ทางซีไอเอ็มบี กรุ๊ปฯ อาจที่จะมีการชะลอแผนในการเข้าจดทะเบียนได้ และยังส่งผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยให้มีการเลื่อนออกไป จึงหวังว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะไม่ยืดเยื้อ

ส่วนความคืบหน้าในการขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลถาวรแก่บริษัทจดทะเบียนนั้น คณะทำงานซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมบจ.ได้มีการหารือแล้วอรอบแรก ซึ่งมีผลออกมาว่าเหตุผลการขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นเพื่อเป็นการขยายฐานภาษีแก่ประเทศ และ เป็นการชดเชยให้กับบจ.บางส่วนเพราะ การเป็นบจ.นั้นมีต้นทุนทางการเงินสูงกว่าบริษัทที่อยู่นอกตลาด โดยทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้ส่วนลดแก่บจ.เท่าไร โดยการประชุมครั้งต่อไปของคณะทำงานในอีก 2 เดือนข้างหน้าเพื่อจะหารือถึงวิธีปฏิบัติว่าจะดำเนินการอย่างไร

ชงกม.ปฏิรูปตลาดเข้าครม.อังคารนี้
แหล่งข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ว่า การแก้ไขกฎหมายรองรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ และการยกเลิกการผูกขาดคาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีการพิจารณาในวันอังคารนี้ (16มี.ค.ป หากไม่มีเหตุการณ์อะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แม้จะล่าช้าไปจากกำหนดเดิมประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากเสนอเข้าครม.แล้วกระบวนการต่อไปคือ ครม.จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานกฤษฎีกาตรวจร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พรบ.)หลักทรัพย์ฯ จากนั้นครม.พิจารณาร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา โดยคาดว่ากลางปี 2554การแก้ไขกฎหมายปฏิรูปตลาดลักทรัพย์ฯจะเสร็จและมีผลบังคับใช้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนได้

ทั้งนี้แผนพัฒนาตลาดทุนไทยถือว่ามีการเดินหน้าตามเป้าหมาย ซึ่งในเรื่องภาษีนั้นทางกรมสรรพากรมีการพิจารณาในเรื่องการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนการโอนย้ายเงินออมในระบบการออมระยะยาว สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเสนอให้ครม.พิจารณาและส่งต่อไปให้กฤษฎีกาแล้วปลายปีที่ผ่านมา ในเรื่องของการเพิ่มสินค้าใหม่นั้น ก็จะมีการออกฟิวเจอร์สอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนเรื่องการนำบริษัทรัฐวิสาหกิจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นได้มีการตั้งคณะทำงานมาดำเนินการเรื่องดังกล่าวแล้ว

“แผนพัฒนาตลาดทุนไทยมีการดำเนินงานไปตามระยะเวลาที่กำหนด มีแต่กฎหมายการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯที่ล่าช้ากว่ากำหนดประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงอังคารหน้ากฎหมายดังกล่าวจะเข้าครม.พิจารณา และคาดว่าการแก้ไขกฎหมายฯจะเสร็จและมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า”แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับมีกระแสข่าวว่าจะมีผู้คัดค้านการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นบริษัทมหาชน หากกฎหมายฯถูกเสนอเข้าครม.นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ถือเป็นเรื่องปกติที่จะมีผู้ที่คิดแตกต่างกันไปแต่ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องทำคือทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้คัดค้านให้เข้าใจว่าการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนดีอย่างไร และที่ผ่านมานั้นตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการทำความเข้าใจแล้วในเรื่องการจัดสัมมนา รวมถึงการชี้แจงกลุ่มกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องคุยกันด้วยเหตุผลที่ตรงไปตรงมา
กำลังโหลดความคิดเห็น