หน้ากระดานเรียงห้าตอนใหม่นี้ เราขอเสนอบทความในซีรีย์หรือเป็นช่วงเป็นตอนต่อเนื่องในคอลัมน์ฅนสุวรรณภูมิครับ
และแทนที่จะเขียนโดยใช้เพียงผมคนเดียว ผมยังได้ผู้ช่วยที่มากด้วยประสบการณ์อีกสองท่านมาร่วมด้วย จึงขอแนะนำพอเป็นสังเขป เพื่อให้รู้จักกันไว้ก่อนซึ่งทั้งสองท่านก็ยินดีน้อมรับคำวิจารณ์ หรือได้ความเห็นเพิ่มเติม
บทความที่นำเสนอ จะเป็นเรื่องที่เราคุ้นๆ หรือเข้าใจกันดี แต่มีมิติที่เราอาจจะเห็นต่างไป หรือเราอยากเสนอแง่มุม หรือให้รายละเอียดเพิ่ม
บางครั้งก็มาจากสิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็น บางครั้งก็อาจจะแปลกหรือใหม่บ้าง ถือว่าเป็นบททดลองก็ได้ ก็มีแค่นี้ก่อน
จีระเดช ดิสกะประกาย
เกิด 2 มีนาคม พ.ศ. 2490 เรียนประถมและมัธยมที่เซนต์คาเบรียลจบเตรียมอุดมที่สวนกุหลาบ ไปเรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์จบสาขาก่อสร้างสถาปัตยกรรม จากเวลลิงตัน โพลีเทคนิค
ได้ปริญญาตรีสาขาจัดการการก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อาชีพเดิมคือควบคุมงานก่อสร้าง เขียนโครงการ มีผลงานทางดนตรี ศิลปะ ประวัติศาสตร์และสังคม งานออกแบบศิลปกรรมและกราฟิก งานแปลไทย อังกฤษทุกประเภท กลายเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่เที่ยวไปหามุมมองแปลกแหกคอกบ้างมาพิจารณา
เมื่อครั้งไปเรียนที่นิวซีแลนด์เคยถูกฝรั่งถามเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยแล้วตอบไม่ได้นึกอายชาติกำเนิดเกิดกำลังใจค้นคว้าตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลากว่า 40 ปี สนใจในความเป็นสุวรรณภูมิของชาวพื้นเมืองที่อาจนำสู่ความเข้าใจในสังคมชาติพันธุ์ของมนุษย์แถบนี้ อันอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่อีกทั้งความร่วมมือที่สอดคล้องกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน ผ่านการทำงานในสาขาอาชีพของตนมาแล้วโชกโชนทั้งในและนอกประเทศ
ประทีป ชุมพล
เกิด 5 มีนาคม พ.ศ. 2490 รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จบมัธยมศึกษาจากวัดนวลนรดิศ และอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร มีความชำนาญพิเศษประวัติศาสตร์ไทย โบราณคดีตะวันออก ศิลปะ วรรณกรรม ศาสนาพุทธ การแพทย์แผนไทย
ประสบการณ์การสอน อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จนเกษียณอายุ เคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยรังสิต และสถาบันการศึกษาอีกนับสิบแห่ง
อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ และโครงงานของนักศึกษาปริญญาโทและตรีของมหาวิทยาลัยศิลปากร, ศรีนครินทรวิโรฒ, รามคำแหง, สุโขทัยธรรมาธิราช
ผลงานนอกจากการเขียนนิยายจนนับไม่ถ้วนแล้ว ยังมีผลงานด้านคติชนวิทยา การแพทย์แผนไทย สมุนไพร ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณกรรม และพินิจวรรณกรรม และยังเขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และวารสารต่างๆ มาเป็นระยะยาวนานกว่า 20 ปี เรียกได้ว่าเป็นนักประวัติศาสตร์มืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยาก โดยเฉพาะการถอดรหัสของสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย
จากกระแสของคลื่นความคิดที่มองกันคนละมุมนี้เองจึงเป็นบ่อเกิดประเภทยั่วให้ยุ เขียนให้แย้ง โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ผู้อ่านเปิดต่อมแห่งองค์ความรู้ให้รับรู้ถึงชาติภูมิ และชาติพันธุ์ที่มีมาดั้งเดิมในแผ่นดินแถบนี้ของโลกด้วยความเข้าใจ
รอยสักสุวรรณภูมิ (1)
เมื่อวานผมได้มีโอกาสขับรถไปเที่ยวตลาดท่านา ที่นครชัยศรี เพราะเห็นเขาออกทีวีมาเมื่อไม่นานมานี้ไปเข้าจริงๆ ก็เจอตลาดเก่าแต่ก็ไม่มีอะไรมากนอกจากของกินของที่ระลึกท้องถิ่น พอเดินได้สักพักเจอแดดที่ร้อนจัดเลยตัดสินใจไปเที่ยววัดไหว้พระดีกว่า ก็เลยไปวัดกลางบางแก้วไม่ไกลจากตลาดนัก
หลังจากไหว้พระประธานในโบสถ์ที่สวยงามแล้วก็ไปกราบหลวงปู่บุญเพื่อเป็นสิริมงคล หลวงพ่อครั้งยังดำรงชีวิตอยู่เป็นพระที่มีคนเคารพนับถือมากแม้จะมรณภาพมานานแล้วก็ยังมีคนไปกราบไหว้มากมาย อดไม่ได้ที่จะไปแวะชมเครื่องรางของขลังของท่านที่ทางวัดทำไว้ให้เช่า ทั้งเหรียญทรงโบราณ รูปเหมือนหลวงปู่ ฯลฯ มากมาย โดยมีพระหนุ่มๆ สองสามรูปคอยบริการอยู่หลังเคาน์เตอร์ ผมมาสะดุดใจตรงพระหนุ่มรูปหนึ่งที่ท่านสักยันต์ไว้เต็มตัวตั้งแต่กระหม่อม ใบหน้า คอ แขนเรื่อยมาจรดเท้า จนแทบจะไม่เห็นเค้าหน้าเดิม จะเห็นอยู่ก็ลูกตาเท่านั้นเอง
ลวดลายสักก็ดูเหมือนจะเป็นอักขระขอมส่วนใหญ่อีกทั้งรูปสัตว์หิมพานต์ละลานตาไปหมด ทำให้คิดได้ว่ารอยสักของฅนสุวรรณภูมิน่าจะมีที่มาที่ไปที่เด่นชัดแม้ว่าวัฒนธรรมการสักตามตัวของโลกนั้นมีที่มาที่ไปที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนทีเดียว
คำว่า “Tattoo หรือ การสัก”
มาจากคำภาษาตาฮีติซึ่งเป็นภาษาโพลีนีเซียนสายหนึ่ง ที่เรียกการสักว่า “tatau” โดยผู้ที่ใช้เรียกคนแรกคือ กัปตันเจมส์คุก โดยเรียกว่า “tattow” เมื่อเขาได้เห็นการสักในหมู่เกาะตาฮีติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2312
การสักเป็นการใช้เหล็กแหลมจุ่มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นลวดลายหรืออักขระเครื่องหมาย โดยการสักในแต่ละวัฒนธรรมต่างก็มีความหมายแตกต่างกันไป ว่ากันว่ามนุษย์เริ่มมีการสักบนร่างกายมากว่า 5,000 ปีแล้ว โดยอาศัยหลักฐานทางโบราณคดี การสักพอที่จะแบ่งเป็นหมวดๆได้ดังนี้
ยุคสัมริดได้มีการขุดพบซากศพชายแช่แข็งที่มีรอยสักบนร่างกายอายุกว่า 5,000 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2534 แถบเทือกเขาระหว่างประเทศออสเตรียและอิตาลี โดยตั้งชื่อว่า “Otzi the ice man” สภาพศพค่อนข้างสมบูรณ์เพราะถูกแช่แข็ง บนผิวหนังมีรอยสัก 57 แห่ง เป็นลักษณะเส้นตรง ยาวเส้นละประมาณ 15 เซนติเมตรทั้งแนวตั้งและแนวนอน บริเวณเหนือไตและข้อเท้าทั้งสอง ทำให้น่าเชื่อว่าอาจจะเป็นการสักเพื่อรักษาโรคก็ได้ (อ่านต่อวันพฤหัสฯ หน้า)