xs
xsm
sm
md
lg

ชลบุรีขอ 150 ล้านฟื้น"โคกพนมดี"โบราณสถาน4พันปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯชลบุรี และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ตรวจสอบพื้นที่โคกพนมดี เพื่อเตรียมตั้งพิพิธภัณฑ์ในอนาคต
ศูนย์ข่าวศรีราชา -จังหวัดชลบุรีร่วมกับกรมศิลปากร และชาวบ้านพนัสฯ เล็งใช้งบฯ ร่วม 150 ล้านบาท ฟื้น"โคกพนมดี" แหล่งประวัติศาสตร์เก่าแก่กว่าบ้านเชียง อายุ 4,000 ปี เตรียมของบ"ไทยเข้มแข็ง"สร้างพิพิธภัณฑ์สถานพื้นบ้าน ดึงนักโบราณคดีทั่วโลกศึกษา

เมื่อเร็วๆนี้ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย รศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่บ้านโคกพนมดี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าข้าม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อพบปะกับผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ โคกพนมดี ให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแหล่งเรียนรู้โบราณคดีชุมชน และ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี

การพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เนื่องจากมีการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดี พร้อมทั้งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน ราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 101 ตอนที่ 125 วันที่ 28 กันยายน 2527 มีขอบเขตเนื้อที่ ประมาณ 25 ไร่ และเมื่อปี 2528 มหาวิทยาลัย ตาโก ประเทศนิวซีแลนด์ และกรมศิลปากร โดย นายชาร์ล ไฮแอม และ นางรัชนี บรรณานุรักษ์ (ทศรัตน์ ) ทำการขุดค้น และ พบ เครื่องมือที่ทำจากหิน (ขวานหิน ค้อนหิน ภาชนะ และกำไลหิน) เครื่องมือที่ทำจากกระดูกสัตว์( เบ็ดตกปลา ฉมวก) เครื่องประดับที่ทำจากเปลือกหอยและภาชนะดินเผาแบบเชือกทาบ

จากการศึกษาวิจัยแล้วพบว่า สิ่งที่พบมีอายุมากกว่า 4,000 ปี มาแล้ว จึงมีการสันนิษฐานว่าโคกพนมดีเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ นอกจากนั้นพื้นที่โคกพนมดี บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งจากป่าและทะเล

นายเสนีย์ กล่าวว่า พื้นที่โคกพนมดี ถือว่าเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ ที่ควรอนุรักษ์ดูแลรักษาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาโคกพนนมดี เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มีนักท่องเที่ยวโบราณคดี สนใจเดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อมาดู แต่มีคนอีกจำนวนมากในประเทศ ไม่รู้จัก จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมศิลปากร เตรียมจัดหางบประมาณมาพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งเรียนรู้โบราณคดีชุมชน และ ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี โดยคาดว่าในปีแรกจะใช้งบประมาณจำนวน 15 ล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี ใช้งบทั้งสิ้น 45 ล้านบาท

ในช่วงที่ทำการค้นหาแหล่งโบราณคดีทางประวัติศาสตร์ ก็จะมีการก่อสร้างอาคารสถานที่บริเวณดังกล่าวไปด้วย เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวผู้ที่เดินทางมาชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ คาดว่าในช่วงนี้จะต้องใช้งบประมาณอีก 100 ล้านบาท รวมโครงการอนุรักษ์พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ประมาณ 145 ล้านบาท โดยจะทำเรื่องเข้าบรรจุในแผนของจังหวัด (ไทยเข้มแข็ง) ต่อไป

นายเสนีย์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้พื้นที่โคกพนมดี ถือว่ามีอายุเก่าแก่ กว่าบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี แต่โคกพนมดี ยังไม่มีการพัฒนาหรือศึกษาอย่างจริงจัง แต่หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่จะต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นจุดที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและนักประวัติศาสตร์ทั่วโลกอย่างแน่นอน

สำหรับพื้นที่โคกพนมดี เป็นเนินดินขนาดใหญ่กลางท้องนา ลักษณะคล้ายเกาะกลางทะเล มีรูปร่างค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 230 เมตร มีพื้นที่ประมาณ 28 ไร่ จุดสูงสุดของเนินดินสูงจากพื้นที่นาที่อยู่รอบๆประมาณ 12 เมตร บนเนินดินปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม และพื้นที่เนินดินโคกพนมดี เป็นที่ดินของวัดโคกพนมดี

ด้าน รศ.สายันต์ ไพรชาญจิตร์ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าว เคยมีการสำรวจศึกษาวิจัยทางโบราณคดีมานานหลายสิบปีแล้ว โดยสามารถขุดพบของโบราณ เป็นจำนวนมาก และได้นำมาเก็บรักษาไว้อย่างดี ที่พิพิธภัณฑ์ จังหวัดปราจีนบุรี แต่การขุดค้นในครั้งนั้นพบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงหยุดดำเนินการต่อ แต่ขณะนี้จะมีการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถค้นพบสิ่งของทางโบราณคดีอีกมากมาย เนื่องจากพื้นที่มีประมาณ 28 ไร่ แต่เคยทำการศึกษาเพียง 1 ไร่เท่านั้น ดังนั้นหากร่วมมือกันในการศึกษาค้นคว้า พื้นที่โคกพนมดี จะได้รับความสนใจจากนานาประเทศทั่วโลกอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น