xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศชาติเสียหายมากกว่าที่ทักษิณได้ไปเสียอีก

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายึดทรัพย์ทักษิณ 46,373 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากกระทำความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีกระทำการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ และบริษัทในเครือ ซึ่งตนเองและคู่สมรสได้ลักลอบถือหุ้นอยู่โดยผิดกฎหมาย

หากประชาชนคนไทยได้ศึกษาคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ อย่างละเอียดถี่ถ้วน ย่อมจะเข้าใจว่า การที่ศาลฎีกาฯ พิพากษายึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน 46,373 ล้านบาทนั้น มิได้หมายความว่า การกระทำของทักษิณในการเอื้อประโยชน์ให้แก่ชินคอร์ปฯ หลายต่อหลายกรณี ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ เพียงมูลค่าเท่าจำนวนที่พิพากษาให้ตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น

เพราะการยึดทรัพย์ในคดีนี้ เป็นเรื่อง “ร่ำรวยผิดปกติ” ได้ทรัพย์สินมาโดยมิชอบ

มิใช่เรื่องของการเรียกค่าเสียหาย ชดใช้ต่อการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดิน

เงินจำนวน 46,373 ล้านบาทนั้น คือจำนวนที่ศาลฎีกาฯ เห็นว่าทักษิณได้มาโดยมิชอบ เข้าลักษณะของการร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น


ในขณะเดียวกัน บรรดามาตรการต่างๆ ที่ทักษิณดำเนินการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองนั้น ก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติส่วนรวมอย่างมหาศาล ซึ่งจะต้องมีการดำเนินคดี เพื่อเรียกค่าเสียหายของรัฐกลับคืนมา เป็นกรณีๆ ไป

และถ้าพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว มูลค่าผลประโยชน์ที่ทักษิณได้ไปโดยมิชอบจากการออกมาตรการในกรณีต่างๆ เหล่านั้น แม้จะเห็นว่ามหาศาลแล้ว แต่ก็ยังนับว่าน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติส่วนรวมอย่างไม่อาจเทียบกันได้เลย

1) กรณีการเอื้อประโยชน์แก่กิจการโทรศัพท์มือถือของตนเอง
ทั้งกรณีการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทเอไอเอส, กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้นำค่าใช้เครือข่ายร่วมหักออกจากส่วนแบ่งค่าสัมปทานก่อนจะนำส่งหน่วยงานภาครัฐ และกรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต และให้นำค่าภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องนำส่งรัฐ (องค์การโทรศัพท์ หรือ ทศท.) นอกจากจะทำให้บริษัทชินคอร์ปฯ ของทักษิณได้ผลประโยชน์มหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียต่อส่วนรวมอย่างมโหฬาร

ตามสัญญาสัมปทานเดิม เอไอเอสต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทศท.ตามอัตราที่คิดจากรายได้และผลประโยชน์อื่นใดที่บริษัทเอไอเอสพึงได้รับในรอบปี ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดๆ ทั้งสิ้น

โดยกำหนดเป็นอัตราก้าวหน้า ตามช่วงเวลาของปีสัมปทาน ในปีที่ 1-5 เป็นอัตราร้อยละ 15

ปีที่ 6-10 ร้อยละ 20

ปีที่ 11-15 ร้อยละ 25

และปีที่ 16-25 ร้อยละ 30

เริ่มแรก เอไอเอสให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายเงินหลังจากใช้บริการแล้ว ชำระเป็นรายเดือน หรือที่เรียกว่าโพสต์เพด ต่อมาปี 2542 เอไอเอสให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือบัตรเติมเงิน หรือ พรีเพด ซึ่งตามสัญญา ยังคงต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทศท. ตามจำนวนและอัตราที่กำหนดในสัญญาเดิม

ปรากฎว่า วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ได้มีการแก้ไขสัญญา ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพด ให้แก่บริษัทเอไอเอส เหลือร้อยละ 20 คงที่ ตลอดอายุสัญญา

ทั้งๆ ที่ ตามสัญญาเดิม เอไอเอสจะต้องจ่ายในอัตราร้อยละ 20 เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 30


การดำเนินการดังกล่าว ทำให้ทักษิณในฐานะผู้ถือหุ้นชินคอร์ปฯ ได้รับผลประโยชน์โดยตรง เพราะได้ลดต้นทุนค่าสัมปทานลงไปโดยไม่สมควร ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้หน่วยงานของรัฐ (ทศท.) สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญา นับแต่ปี 2544 ที่มีการแก้ไขสัญญา ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 อันจะเป็นวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเวลากว่า 14 ปี

นักวิชาการประเมินว่า น่าจะมีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท!

นอกจากนี้ ในการขยายโครงข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ หรือการดำเนินการเชื่อมต่อเครือข่าย เพื่อให้ลูกค้าของตนสามารถติดต่อกับผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ได้อย่างสะดวก อันเป็นภาระหน้าที่และผลประโยชน์ในการทำธุรกิจของเอไอเอสเอง ก็ได้มีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้นำค่าใช้เครือข่ายร่วมหักออกจากส่วนแบ่งค่าสัมปทานก่อนจะนำส่งหน่วยงานภาครัฐ

ทำให้เอไอเอสของทักษิณได้รับผลประโยชน์จากการผลักภาระต้นทุนค่าดำเนินการเชื่อมต่อเครือข่าย โดยไปใช้เครือข่ายร่วมกับผู้ให้บริการซึ่งเป็นบริษัทลูกของตน (บริษัทดีพีซี) แต่นำค่าใช้จ่ายมาหักออกจากรายรับ ก่อนจะนำไปคำนวนส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้แก่ ทศท.

เท่ากับว่า ให้หน่วยงานของรัฐแบกรับภาระส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าดำเนินการดังกล่าวแทนตนเอง

ทำให้ ทศท.ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้เต็มจำนวนตามสัญญาเดิม ซึ่งหากนับจากวันที่สัญญาแก้ไขมีผลบังคับ เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนเมษายน 2551 ปรากฏว่า เอไอเอสของทักษิณได้ผลประโยชน์ไปโดยมิชอบแล้วว่า 6,960 ล้านบาท!

ยิ่งกว่านั้น กรณีการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรศัพท์มือถือ แต่กลับให้บริษัทเอไอเอสและบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญาเดิมสามารถนำเงินที่จ่ายภาษีสรรพาสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้ ก็เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปฯ และทำให้ส่วนรวมเสียหายอย่างไม่อาจประเมินมูลค่าที่แท้จริงได้

ทั้งๆ ที่ กิจการโทรคมนาคมถือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก นอกจากไม่ควรเก็บภาษีสรรพสามิตแล้ว ยังควรสนับสนุนให้แพร่หลาย และหากรัฐต้องการเก็บภาษีสรรพสามิตจากการให้บริการโทรศัพท์เพื่อหารายได้เข้าสู่ประเทศจริง ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ยอมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ทำสัญญาสัมปทานกับ ทศท. หรือ กสท. นำภาษีที่เสีย ไปหักออกจากค่าสัมปทานได้

เท่ากับว่า เอไอเอสของทักษิณ ไม่ได้จ่ายภาษีสรรพสามิต แต่ไปเอาเงินส่วนแบ่งรายได้ของ ทศท. มาจ่ายค่าภาษีสรรพสามิตแทน

ยิ่งเอไอเอสจ่ายภาษีสรรพสามิตมากเท่าใด ทศท.ก็ยิ่งสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับมากเท่านั้น

ส่งผลให้ ทศท. อ่อนแอลง เพราะได้รับค่าสัมปทานจากบริษัทเอไอเอสน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากถูกหักค่าสัมปทานบางส่วนไปชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทเอไอเอสเสียไป

นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าว ยังเป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง เพราะหากรายใดต้องการจะเข้ามาแข่งขัน ก็จะต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต แต่ไม่สามารถนำไปหักออกจากค่าสัมปทานได้เหมือนเอไอเอสและคู่สัมปทานของรัฐที่มีอยู่เดิม ทั้งที่ผู้ประกอบการรายใหม่ยังไม่มีลูกค้าเลย หรือมีลูกค้าน้อยกว่าบริษัทเอไอเอสซึ่งครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว และโดยที่รายใหม่ไม่ได้สิทธิพิเศษเหมือนเอไอเอส ซึ่งสามารถใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ของ ทศท.ได้ตลอดอายุสัญญาอีกด้วย

ทักษิณได้ผลประโยชน์ส่วนตัว ได้ปกป้องการผูกขาดของเอไอเอส แต่ประเทศชาติส่วนรวมได้รับความเสียหาย นอกจากจะไม่ได้รับรายได้จากภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว (เฉพาะภาษีสรรพสามิตขาดหายไปรวมเป็นเงินถึง 60,000 ล้านบาทเศษ) ยังถูกทำลายโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในการประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ หน่วยงานของรัฐก็อ่อนแอ ไม่สามารถลงทุน ขยายโครงข่าย หรือดำเนินบริการเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่ลดน้อยลง

ประชาชนผู้ใช้โทรศัพท์มือถือก็ขาดทางเลือก เพราะเมื่อขาดผู้แข่งขันรายใหม่ ประชาชนก็ขาดโอกาสได้ใช้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น และราคาต่ำลง

2) กรณีการเอื้อประโยชน์แก่กิจการดาวเทียมของตนเอง
ทั้งการละเว้นอนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนกิจการดาวเทียม

เช่น กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยไม่มีการประมูล แต่อ้างว่าเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 ทั้งๆ ที่ มีคุณสมบัติ เทคโนโลยี ตลอดจนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบการที่ไม่อาจใช้เป็นดาวเทียมสำรอง แต่ใช้เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ แสวงหาผลประโยชน์ทางธุรกิจในต่างประเทศ และยังขอส่งเสริมการลงทุน ละเว้นไม่เก็บภาษีจากกิจการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท

เท่ากับว่า เอื้อให้ชินฯ ละเว้น ไม่ดำเนินการจัดให้มีดาวเทียมสำรองตามสัญญา

และยังเอื้อให้ชินฯ สามารถประกอบกิจการดาวเทียมไอพีสาตร์ โดยไม่ต้องเปิดประมูลแข่งขันอย่างเป็นธรรม


การกระทำเหล่านี้ นอกจากจะทำให้บริษัทชินฯ ของทักษิณ ได้ผลประโยชน์ไปมูลค่ามหาศาลแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดินส่วนรวม ทั้งปัญหาความมั่นคงทางการสื่อสารภายในของรัฐ ที่เสียหายไปจากการไม่มีดาวเทียมสำรอง ไทยคม 3 และผลประโยชน์ของแผ่นดินที่สูญเสียไปจากการประกอบกิจการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยไม่เปิดประมูลแข่งขันเพื่อนำรายได้เข้าแผ่นดิน แต่กลับปล่อยให้มีการลักลอบใช้สิทธิในกิจการดาวเทียมของชาติ ทั้งวงโคจรหรือพื้นที่จอดดาวเทียมในอวกาศ

ทั้งหมด เกิดความเสียหาย ซึ่งเมื่อคิดรวมแล้ว นับเป็นมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่ามูลค่าผลประโยชน์ที่ทักษิณได้ไปจากแผ่นดินไทยเสียอีก

ผู้ที่คิดว่าผู้บริหารประเทศ “โกงบ้างก็ได้ แต่ขอให้ทำงาน” น่าจะต้องคิดใหม่

เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้พิสูจน์แล้วว่า การโกงไปสร้างความร่ำรวยให้กับผู้บริหารจำนวนหนึ่ง แต่ประเทศชาติโดยรวมเสียหายมากกว่าหลายเท่า

สรุป

การเอื้อประโยชน์แก่ชินคอร์ปฯ ของทักษิณ ทำให้ทักษิณได้รับผลประโยชน์ไปโดยมิชอบ ส่วนหนึ่งแฝงฝังอยู่ในมูลค่าหุ้นและผลประกอบการของชินคอร์ปฯ และการกระทำดังกล่าวของทักษิณ ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประชาชน ผู้บริโภค ระบบแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนกิจการดาวเทียมของชาติไทยอย่างรุนแรงมหาศาล

ประเทศชาติได้รับความเสียหาย มากกว่าที่ทักษิณได้ไปจากการกระทำผิดกฎหมายเหล่านี้


ผู้บริหารประเทศและหน่วยงานองค์กรอิสระ จึงควรต้องพิจารณาลงโทษทางอาญากับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ ที่ร่วมกระทำความผิดกับทักษิณ หน่วยงานของรัฐ ทศท. และรัฐบาล ควรฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขสัญญาที่เคยถูกแก้ไขบิดเบือนในสมัยทักษิณ ให้กลับมามีสภาพดังเดิม

การยึดทรัพย์ทักษิณ 46,373 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน ไม่เพียงพอต่อความเสียหายของแผ่นดิน แต่เป็นดำเนินการตามความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น

หากเปรียบเทียบกับกรณียึดทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบในกรณีอื่นๆ นับว่าทักษิณยังได้รับความเมตตาจากศาลยุติธรรมอย่างมาก เช่น

กรณีผู้กระทำผิดกฎหมายค้ายาเสพติด สมมติว่า ก่อนจะค้ายาเสพติด มีทรัพย์สินอยู่เดิม 30 ล้านบาท นำเงินจำนวนนั้นมาใช้ลงทุน ประกอบกิจการค้าขายยาเสพติด ร่ำรวยเพิ่มพูนขึ้นมาเป็น 76 ล้านบาท ต่อมา ถูกจับได้ ว่าทุจริตจนร่ำรวยเพิ่มขึ้นจากการกระทำผิดกฎหมายแผ่นดิน ก็จะต้องถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด 76 ล้านบาท โดยไม่สามารถอ้างได้ว่า ก่อนจะค้ายาเสพติด เคยมีเงินอยู่เดิม 30 ล้านบาท จะขอให้ศาลยึดเฉพาะส่วนที่ได้เพิ่มขึ้นมาจากการค้ายาเสพติด 46 ล้านบาท ไม่อาจกระทำได้

ในเมื่อทักษิณได้ผลประโยชน์ไปจากแผ่นดินไทยมากมายขนาดนี้ และทำความเสียหายแก่แผ่นดินไทยใหญ่หลวงถึงเพียงนี้ เหตุใดไม่สำนึกถึงบุญคุณและผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับ?

กลับยังคงบิดเบือนในทำนองว่า ตนเองเป็นเหมือนหนู และอำนาจรัฐในประเทศไทยก็กำลังเผาบ้านทั้งหลังเพื่อจับหนูเพียงตัวเดียว ทั้งๆ ที่ ความเป็นจริง ตรงกันข้าม เพราะทักษิณนั่นเองที่ทำร้ายประเทศไทยอย่างมหาศาล เพียงเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์ไปส่วนหนึ่ง

ประเทศชาติส่วนรวมเสียหาย มากกว่าที่ทักษิณได้ไปเสียอีก

กำลังโหลดความคิดเห็น