กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์มีการขุดค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชขนาดใหญ่ ในยุคจูลาสสิคตอนปลายอายุกว่า 150 ล้านปี บริเวณภูน้อยในเขตอ.คำม่วง นักธรณีวิทยา เชื่อว่าจากขนาดใหญ่ที่พบอาจจะเป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลก
วานนี้ (18 ก.พ.) ที่บริเวณภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ดร.วราวุธ สุธีธร ที่ปรึกษาด้านธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี ดร.อิริก บุฟโต (Dr.Eric Buffetaut) ดร.ไฮยัน ตุง (Dr.Haiyan Tong) นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ ชาวฝรั่งเศส และเจ้าหน้าที่นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์สิรินธรจังหวัดกาฬสินธุ์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกันเปิดหลุมขุดค้นซากฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชขนาดใหญ่ ที่เพิ่งจะถูกขุดค้นพบใหม่ ซึ่งนักธรณีวิทยาเชื่อว่าน่าจะเป็นสายพันธุ์และสกุลใหม่ที่ไม่เคยพบจากที่ใดในโลก
ดร.วราวุธ สุธีธร ที่ปรึกษาด้านธรณีวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า การขุดค้นครั้งนี้นับเป็นการขุดค้นครั้งสำคัญทางด้านบรรพชีวิน ถึงแม้ในบริเวณภูน้อย ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2551 จะมีการขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่สภาพฟอสซิล ที่พบจะแตกหักไม่สมบูรณ์
แต่ด้วยความพยายามของนักวิจัยในจุดขุดค้นใหม่ที่อยู่ห่างจากบริเวณเดียวกันประมาณ 5 เมตร นักวิจัยได้ทำการขุดลึกลงไปถึง 1 เมตร ทำให้พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์กินพืชที่มีขนาดใหญ่ ที่มีกระดูกสะโพกขนาดความยาวถึง 150 เซนติเมตร
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักวิจัยจึงได้นำบางส่วนของฟอสซิลไดโนเสาร์ไปตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผลปรากฏว่า ซากฟอสซิลที่พบเป็นสายพันธุ์กินพืชหรือซอโรพอต แต่มีความเก่าแก่กว่าซากฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบยัง ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ ถึง 20 ล้านปี พิสูจน์ได้จากชั้นหินของกลุ่มไดโนเสาร์ อ.สหัสขันธ์ จะอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นหรือจูลาสสิคตอนต้น อายุ 130 ล้านปี ขณะที่บริเวณภูน้อย อ.คำม่วง จัดอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนปลายหรือจูลาสสิคตอนปลาย อายุ 150 ล้านปี
ดร.วราวุธ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันการขุดค้น นักวิจัยพบกระดูกไดโนเสาร์มากถึง 15 ชิ้น ประกอบด้วย กระดูกสะโพก ขนาดความยาว 150 ซม. กว้าง 50 ซม. กระดูกขาหน้าขนาด 120 ซม. กระดูกหน้าแข้ง ขนาด 80 ซม.กระดูกซี่โครงจำนวน 5 ชิ้น กระดูกนิ้วเท้าจำนวน 4 ชิ้น และกระดูกสันหลัง 2 ชิ้น แต่เนื่องจากขนาดไดโนเสาร์ที่พบมีขนาดใหญ่ ทำให้นักวิจัยมีความกระตือรือร้น เพื่อนไปศึกษาวิจัยถึงสายพันธุ์และที่มา
ทั้งนี้ เนื่องจากความแตกต่างในห้วงอายุที่มีถึง 150 ล้านปีและขนาดใหญ่ ในประเทศไทย ซึ่งยังไม่เคยมีการขุดค้นพบที่ไหนมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่า เมื่อผ่านกระบวนการขุดค้นและส่งไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และมีการส่งลักษณะพิเศษกลุ่มไดโนเสาร์ที่ถูกพบทั่วโลกพิสูจน์ หากยังไม่ปรากฏว่า มีสายพันธุ์ หรือขนาดและอายุความเก่าแก่ที่พบเคยมีไหนมาก่อน ก็เชื่อว่า การขุดค้นครั้งนี้น่าจะเป็นการขุดค้นพบไดโนเสาร์สายพันธุ์ซอโรพอต สกุลใหม่ ของโลกก็เป็นได้