xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนเมษาเลือดกับ 26 กุมภาฯ หฤโหด

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

เพิ่งทราบผ่านรายการ “สภาท่าพระอาทิตย์” ทาง ASTV News1 เมื่อวันพุธที่ผ่านมา จากการให้สัมภาษณ์ของ ส.ว. อโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ประธานอนุกรรมการรวบรวมเหตุการณ์ที่เมืองพัทยา และภูมิภาคว่า รายงานสำคัญหลายชิ้นที่เป็นผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จนถึงบัดนี้แม้จะมีการสรุปรายงาน และจัดทำสำเนาไว้หลายร้อยเล่มเสร็จสิ้นหมดแล้ว แต่สำเนารายงานทั้งหมดยังคงถูกซุกซ่อน ถูกดองไว้ในซอกหลืบแห่งใดแห่งหนึ่งในรัฐสภา ตามความประสงค์ของประธานชัย ชิดชอบ ด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วต้องอึ้งว่า อยากให้ระงับการเผยแพร่ไว้ก่อน เพราะหวั่นเกรงจะเป็นการสร้างความแตกแยกในสังคมให้ลุกลามขึ้นไปอีก

อันว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น มีที่มาจากรัฐสภาแต่งตั้ง หวังใช้เป็นหนทางในการแสวงหาข้อเท็จจริงและข้อยุติทางการเมืองหลังเหตุการณ์เมษาเลือด แม้ในส่วนของข้อสรุปเรื่องแก้รัฐธรรมนูญจะถูกนักการเมืองวิ่งราวเอาไปทำเอง แต่สำหรับรายงานของคณะกรรมการชุดตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุชุมนุมนั้น น่าสนใจยิ่ง เพราะอย่างน้อยมันอาจจะสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษา สำหรับรับมือกับความรุนแรงรอบใหม่ ที่ใกล้จะปะทุขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ผู้เขียนพอจะมีโอกาสได้ติดตามรายงานของอนุกรรมการฯ ชุดที่มี ส.ว.อโณทัยเป็นประธานฯ มาครั้งหนึ่ง เมื่อครั้งท่านมาออกรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง มาครั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า เป็นประโยชน์หากจะหยิบยกเอาจุดผิดพลาดและข้อบกพร่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝ่ายรัฐ ในการรับมือกลุ่มเสื้อแดงบุกเวทีประชุมอาเซียน ที่บันทึกในรายงานดังกล่าวขึ้นมาเพื่อร่วมกันพินิจพิจารณาว่า จนถึงวันนี้ รัฐบาลได้มีการปรับปรุงแก้ไขจุดบกพร่องเหล่านี้ไปบ้างแล้วหรือไม่

บทเรียน “ล้มประชุมอาเซียน” ในมุมของอนุกรรมการฯ ชุดที่มี ส.ว.อโณทัย เป็นประธานนั้น สะท้อนให้เห็นว่า จุดอ่อนในงานด้านการข่าวของรัฐบาลโดยเฉพาะในภาวการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติ ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อนหน้า ถึงขนาดจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ล้อมทำเนียบรัฐบาลเมื่อ 26 มีนาคม 2552 และยืดเยื้อเข้าสู่เดือนเมษายน 2552 แต่ตรงกันข้ามบทบาทของหน่วยงานด้านการข่าวของรัฐบาลตามรายงานฉบับนี้ กลับชี้ให้เห็นถึงการทำงานที่ไร้ทิศไร้ทาง ทั้งส่วนของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ที่ระดับรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้ให้ข้อมูลกับคณะอนุกรรมการฯ เองว่า

มีกระแสข่าวเรื่อง “กลุ่มคนเสื้อแดงมีความพยายามจะทำลายการประชุมของรัฐบาลจริงแต่ทำได้เพียงรายงานทางวาจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” พร้อมกับอ้างว่า “สำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่มีหน้าที่หาข่าวทางด้านการเมือง ซึ่งในการนำกำลังมวลชนแต่ละฝ่ายมาที่พัทยา ทางสำนักข่าวกรองแห่งชาติไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ...” (รายงานผลการศึกษาฯ หน้า 38 ย่อหน้า 1 และ 2 )

สำหรับ 2 หน่วยงานอย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคง และสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ในรายงานของคณะคุณอโณทัยระบุชัด ต่างปัดว่าไม่ได้รับมอบหมายภารกิจ ขณะที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลยิ่งแล้วใหญ่ คำชี้แจ้งของบุคคลระดับรองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ยิ่งฟังแล้วรับไม่ได้ โดยระบุว่า

“...ตำรวจสันติบาลได้ติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยปฏิบัติการของกลุ่มคนเสื้อแดงจะมีการประกาศบนเวทีที่กรุงเทพฯ ทางตำรวจสันติบาลก็ติดตามสถานการณ์และรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา ...ในส่วนของสันติบาลจะมีการรายงานข่าวไปยังผู้บังคัญบัญชาตามสายงาน ซึ่งผู้บังคับบัญชาจะนำข้อมูลไปใช้ในลักษณะใดนั้น ไม่สามารถตอบได้” (รายงานผลการศึกษาฯ หน้า 39-40)

จึงเป็นที่มาของคำให้การของสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ด้านความมั่นคงที่ตอบคำถามคณะอนุกรรมการฯ เมื่อถูกถามเรื่อง การข่าวมีความบกพร่องหรือไม่? รัฐบาลได้รับรายงานหรือไม่ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีความต้องการที่จะล้มการประชุมดังกล่าว? ...

สุเทพชี้แจงว่า “ไม่บกพร่องครับ คือไม่รู้เลยครับ ไม่ได้เลย อย่าเรียกว่าบกพร่อง ไม่มีเลยครับ ทุกอย่างก็อย่างที่ผมเรียน ผมอยู่ๆ ก็หลับไปเลย คือหมายความว่า เชื่อมั่นตลอดฟังเขา แล้วก็ดูดีไปหมด ไม่มีข่าวอะไรที่คิดว่าจะสู้ไม่ได้ ต้านไม่อยู่ เขาจะมาเป็นพัน เป็นหมื่นอะไรนี่ไม่มีครับ”

ทั้งที่ตามรายงานฯ มีการปลุกเร้าของแกนนำเสื้อส่วนกลาง และนช.ทักษิณ ชินวัตร เสื้อแดงดูไบ ที่รุกเร้า มุ่งหมายให้การชุมนุมรุนแรงถึงขั้นล้มการประชุมนานาชาติ เพื่อแสดงให้สังคมเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้ ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ให้เกิดความสงบ ซึ่งผลที่ตามมาจะเป็นได้หลายประการ อาทิ นายกรัฐมนตรีลาออก ยุบสภา จลาจล และรัฐประหาร

ยกตัวอย่าง คำพูดของจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำเสื้อแดง ที่ว่า “หากสงครามในวันที่ 10 เมษายนไม่จบจะไปปิดฉากที่พัทยา” คำพูดของนายสุรวิชญ์ พิมพ์กลาง ที่ประกาศจัดตั้ง “กลุ่มไล่ล่านายกรัฐมนตรี” หรือแม้แต่เสื้อแดงตัวพ่อ ที่พูดว่า “อย่ากลับบ้านมือเปล่า” “เรามีกองหนุนทั่วประเทศ ถ้า ‘เปลี่ยน’ไม่ได้ให้มันรู้ไป” “เราจะลุกขึ้นทั้งประเทศ ผมจะไปอยู่ที่นั่นด้วย” “ผมแพ้ไม่ได้”

ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการฯ ถึงขนาดจี้ไปที่รัฐบาลว่า งานด้านการข่าวนั้น เป็นงานชั้นความลับระดับสูงสุด..เป็นงานที่ต้องอาศัยความไว้ใจและความซื่อสัตย์ทั้งต่อประเทศชาติ และต่อผู้นำประเทศ..และว่ารัฐบาลควรทบทวนประสิทธิภาพของผู้บังคับบัญชาในแต่ละหน่วยงานการข่าว ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถเหมาะสมกับงาน เป็นมืออาชีพด้วยจิตวิญญาณ ไว้วางใจได้ ซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อประเทศชาติ สถาบันสูงสุดเป็นที่ประจักษ์ และมีความศรัทธาต่อผู้นำรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรี

บอกตรงๆ พอฟังมาถึงประโยคนี้แล้ว เห็นข่าวเอกสารลับรัฐบาลรั่วบ่อยๆ ก็เหนื่อยใจแทนประเทศชาติจริงๆ!!!

นอกจากนี้ ยังมีจุดอ่อน เรื่อง เกียร์ว่างของทหาร-ตำรวจ ที่คณะอนุกรรมการฯ ได้อ้างอิงบันทึกของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ตีพิมพ์ลงเดลินิวส์ 15 เมษายน 2552 ตำหนิการทำงานของทหารตำรวจในบริเวณโรงแรม ทำงานหย่อนยานมากเมื่อเทียบกับการประชุมระดับโลก โดยตำรวจเหล่านี้มักจะหยิบยกข้ออ้างในการใส่เกียร์ว่าง ไม่ควบคุมผู้ชุมนุมว่า เป็นเพราะไม่กล้าใช้ความรุนแรง กลัวจะซ้ำรอยกับเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ และกรณีของท่อก๊าซที่อ.จะนะ ทั้งที่ข้ออ้างดังกล่าว อนุกรรมการฯ ชี้ว่า ล้วนฟังไม่ขึ้น อันเนื่องมาจากความผิดพลาดในอดีตล้วนมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนที่ควรจะเป็นจากเจรจาต่อรองสู่การใช้โล่กระบอง น้ำฉีด และใช้แก๊สน้ำตาตามหลักสากล หาใช่จะเลือกยืนเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย

รายงานชุดนี้ ยังตั้งข้อสังเกตการไม่ดำเนินคดีกับผู้ที่ร่วมกระทำผิดนับพันในเหตุการณ์สงกรานต์เลือด หากแต่เลือกตั้งข้อหากับระดับแกนนำเพียง 19 คน รวมถึงผู้ก่อความรุนแรงเหล่านี้ สมควรจะต้องถูกตั้งข้อหาร้ายแรงเพื่อให้เหมาะสมกับการลงมือ ทั้งข้อกล่าวหา ปลุกระดมยุยงให้คนชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใช้กำลังบุกรุกสถานที่เพื่อจับกุมนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเข้าข่ายประทุษร้ายต่อเสรีภาพประมุขแห่งรัฐ ฯลฯ โดยรัฐบาลควรเอาผิดบุคคล และกลุ่มบุคคลผู้กระทำความผิดดังกล่าวทั้งทางวินัย และอาญาโดยเร่งด่วนต่อไป มิเช่นนั้นรัฐบาลจะถูกมองว่า ไม่มีความกล้าในการดำเนินการอย่างจริงจัง และเหตุการณ์ก็อาจจะเกิดซ้ำอีกในอนาคตได้

สุดท้ายที่ผู้เขียนติดใจที่สุดน่าจะเป็นข้อมูลบางส่วนของคณะอนุกรรมการฯ ที่พยายามจะชี้สิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ “รถนายกฯ ติดไฟแดงจนถูกทุบ” โดยผู้ช่วยผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยท่านหนึ่งให้การกับอนุกรรมการฯ ว่า ในวันเกิดเหตุ รองผู้กำกับการสถานีตำรวจเมืองพัทยาเป็นผู้นำขบวนรถนายกฯ และไปติดสัญญาณไฟแดงที่จุดเกิดเหตุ ทางศรภ.จึงได้ประสานไปยังตำรวจว่า ทำไมจึงไม่เปิดไฟเขียว ทางตำรวจแจ้งมาว่า ติดขบวนเสด็จฯ เมื่อตรวจสอบภายหลังกลับพบว่า ไม่มีขบวนเสด็จฯ ใดๆ ในเวลานั้นเลย

งานนี้บอกว่า ปัญหาเรื่องงานการข่าว, เจ้าหน้าที่เกียร์ว่าง, ไม่ตัดไฟแต่ต้นลมแล้ว ปัญหาเรื่องหนอนบ่อนไส้ ก็เป็นจุดอ่อนสำคัญอีกประการที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องหาทางรับมือให้ดีเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น