xs
xsm
sm
md
lg

“เจ๊วา”ตรึงสินค้ายาวถึงไตรมาส2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“พรทิวา”แย้มสั่งตรึงราคาสินค้าลากยาวถึงไตรมาส 2 หากต้นทุนการผลิต วัตถุดิบและน้ำมันไม่เพิ่ม สั่งเฉียบหากลดไชส์สินค้า ต้องลดราคาลงมาด้วย พร้อมอ้อนห้างกระจายสินค้าเกษตรสู่มือผู้บริโภคแก้ปัญหาราคาตกต่ำต่อ

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้า และสมาคมที่เกี่ยวข้อง วานนี้ (11 ก.พ.) ว่า ได้ขอความร่วมมือให้ตรึงราคาจำหน่ายสินค้าไปจนถึงเดือนมี.ค.2553 เพื่อบรรเทาภาระของผู้บริโภค เพราะเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปี 2552ทำให้ต้องดูแลไม่ให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อน และป้องกันไม่ให้กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อในปี 2553 มากจนเกินไป

“จะขอดูเป็นรายไตรมาส โดยไตรมาสแรกขอให้มีการตรึงราคาไปก่อนจนถึงเดือนมี.ค. ส่วนไตรมาสที่ 2 หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนการผลิตไม่เพิ่ม วัตถุดิบไม่เพิ่ม และราคาน้ำมันไม่เพิ่ม ก็คงไม่ให้ปรับขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่มาคุยวันนี้ก็รับได้”นางพรทิวากล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานทั่วไปออกจำหน่ายในปริมาณที่เพียงพอ โดยเฉพาะหมวดของใช้ประจำวันที่มักมีการปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต หรือหากมีการปรับลดขนาดบรรจุลงมา ก็ควรต้องปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกันด้วย และยังได้ขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าเป็นพิเศษ โดยขอให้เป็นแหล่งกระจายสินค้าเกษตรที่อาจจะมีปัญหาด้านราคา เช่น ผัก ผลไม้ ไข่ ไก่ และกุ้ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคา และผลผลิตล้นตลาด

นางพรทิวากล่าวว่า ได้ชี้แจงแนวทางในการดูแลราคาสินค้าให้กับผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และห้างสรรพสินค้าได้รับทราบ โดยเน้นการขอความร่วมมือเป็นหลัก หากผู้ประกอบการจะเปลี่ยนแปลงราคาจำหน่าย ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า และในการพิจารณาให้ปรับหรือไม่ให้ปรับราคา จะยึดหลัก 3 ข้อ คือ ราคาต้องสมเหตุสมผล เป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปซึ่งไม่ได้ปิดกั้นว่าจะไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาสินค้า หากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจริงก็เสนอเรื่องเข้ามาได้

อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าสินค้าหรือบริการใด มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาด้านราคาหรือเกิดการขาดแคลน ก็จะใช้อำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ในการเข้าไปกำกับดูแลด้วยการกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุม และใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามากำกับดูแล เช่น ต้องแจ้งก่อนปรับราคา การเปลี่ยนแปลงราคาต้องได้รับอนุญาตก่อน การแจ้งการขนย้าย และแจ้งสถานที่เก็บ โดยปัจจุบันมีสินค้าควบคุม 38 รายการ และบริการควบคุม 1 รายการ สินค้าที่ติดตามดูแล 202 รายการ

พร้อมกันนี้ หากพบว่ามีการผูกขาดและการแข่งขันไม่เป็นธรรมของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น การกำหนเงื่อนไขในการค้าไม่เป็นธรรม และการร่วมกันกำหนดราคาจำหน่าย ก็จะใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เข้าไปจัดการ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า วันนี้ (12 ก.พ.) กระทรวงฯ จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายภายในประเทศขาดแคลน หลังจากที่อุตสาหกรรมที่ใช้โควตาน้ำตาลส่งออก (โควตา ค) มาใช้โควตาน้ำตาลภายในประเทศ (โควตา ก) โดยจะเสนอให้ตัดสิทธิ์การใช้น้ำตาล ค เป็นระยะเวลา 5 ปี จากเดิมที่จะเสนอ 3 ปี หากพบว่ามีการใช้น้ำตาลโควตา ค ไม่ถึงปริมาณที่กำหนด หรือใช้น้อยกว่า 70% ต่อปี หรือไม่มีการใช้เลย

“ปัญหาน้ำตาล อยู่ที่การแย่งใช้โควตา ก ซึ่งไม่ถูกต้อง หากพบก็จะถูกตัดสิทธิ์ ตรงนี้ก็ต้องวัดกันไปเลย เพราะภายในระยะเวลา 5 ปี ที่ถูกตัดสิทธิ์ หากน้ำตาลตลาดโลกลดลงมา อุตสาหกรรมที่ถูกตัดสิทธิ์ก็ไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องใช้โควตาในส่วนนี้”นางสาวชุติมากล่าว

พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ จะขอให้กอน. จัดสรรน้ำตาลโควตา ก งวดสุดท้าย ปริมาณ 4-5 แสนตัน มาให้กระทรวงพาณิชย์เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน ในภาวะที่น้ำตาลทรายภายในประเทศตึงตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น