xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมเชียงรายป่วนห้องพักใหม่เพิ่ม เริ่มโอเวอร์ซัปพลาย-ทุนใหญ่จ้องตีกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชียงราย – โรงแรมเมืองพ่อขุนฯป่วน ห้องพักเริ่มล้น หลังเกิดรีสอร์ต-เกสต์เฮาส์ใหม่ ตามจุดยุทธศาสตร์ชายแดนไทย-เพื่อนบ้านเพียบ แถมอยู่นอกสารบบ แต่ยอดนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ยังเพิ่มน้อย กระทบการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ท่องเที่ยว 290 ล้าน เตือนผู้ประกอบการท้องถิ่นรวมพลัง ก่อนถูกกลุ่มทุนใหญ่ตีกินในอนาคตอันใกล้

ในการเสวนาเรื่อง “แนวโน้มธุรกิจขนาดเล็กในเชียงราย” ที่คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.)จัดขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมือง จ.เชียงราย โดยเชิญภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กเข้าร่วม มี รศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรช.เป็นประธานเปิด และ รศ.ดร.ชูกลิ่น อุ่นวิจิตร เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา มีการถกถึงประเด็นปัญหาการเกิดขึ้นใหม่ของธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กหรือห้องพักรีสอร์ต เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ ฯลฯ เป็นจำนวนมาก จนภาวะไม่สมดุลกับจำนวนนักท่องเที่ยวและส่อว่า จะเกิดปัญหาการแข่งขันกันอย่างหนัก รวมทั้งทำให้การจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถทำได้เต็มที่ด้วย

รศ.ดร.มาณพ กล่าวว่า สภาพของธุรกิจโรงแรมในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปโดยหันมาเน้นจำนวนห้องพักที่ไม่มากนัก โดยในญี่ปุ่นพบว่านิยมสร้างห้องพักขนาดไม่เกิน 40 ห้อง แต่ไทยแม้จะมีลักษณะเดียวกันมากขึ้นแต่พบว่ามักจะไปกระจุกตัวตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เกิดห้องพักโรงแรมจำนวนมากและธุรกิจคึกคึกเพียงแค่ 4 เดือนในฤดูหนาวเท่านั้น สภาพเช่นนี้น่าศึกษาอย่างยิ่ง ดังนั้น มรช.จึงจัดเสวนาครั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ของสังคมเชียงรายต่อไป

ด้านนายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยการสำนักการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย กล่าวว่า ธุรกิจห้องพักโรงแรมในเชียงราย มีเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมากและยังพบว่ามีการซื้อขายกิจการกันอย่างคึกคัก สภาพคล้ายกับเมื่อครั้งที่ตนยังดำรงตำแหน่งอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งมีโรงแรมอยู่กว่า 746 แห่ง นักท่องเที่ยวปีละ 5.6 ล้านคน แต่เป็นกิจการของคนไทยประมาณ 30% ที่เหลือเป็นของกลุ่มทุนต่างชาติ

สำหรับเชียงราย พบว่ามีห้องพักโรงแรมรวมกันประมาณ 170 แห่ง ห้องพักประมาณ 18,000 ห้อง ซึ่งยังไม่รวมโรงแรมขนาดเล็ก รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ โฮมสเตย์ ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะ อ.เมือง เกิดใหม่ไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง หรือห้องพัก ที่ด้านล่างทำเป็นบาร์เบียร์ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายที่ชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ เพราะกลุ่มหลังนี้ไม่ได้มีการแจ้งจดทะเบียนเข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการ

ดังนั้นข้อมูลนักท่องเที่ยวของ จ.เชียงราย ที่ได้รับจึงมาจากห้องพักและโรงแรมแค่ 33% ของจำนวนทั้งหมดเท่านั้น และยังแจ้งล่าช้าถึงกว่า 6 เดือน สภาพเช่นนี้ทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาทำได้ไม่เต็มที่เพราะไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าจากฐานข้อมูลดังกล่าวได้ ตัวเลขที่พอเก็บได้คือ จ.เชียงราย มีนักท่องเที่ยวในปี 2552 ประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นคนไทย 1.45 ล้านคน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเพราะไม่ได้ข้อมูลจากโรงแรมเกิดใหม่

ส่วนการซื้อขายเปลี่ยนมือโรงแรม พบว่าเกิดขึ้นมากโดยเฉพาะริมฝั่งแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เชียงของ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมไปเยือนพบว่ามีมากถึง 15-17% ของทั้งหมด แต่จากการสอบถามไปยังธนาคารเอสเอ็มอี ก็ทราบว่าไม่ได้มีกลุ่มทุนท้องถิ่นเข้าไปกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนมากนัก ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่าการลงทุนคึกคักดังกล่าวเกิดจากกลุ่มทุนจากนอกพื้นที่ ซึ่งห้องพักขนาดเล็กเหล่านี้มีสนนราคาแสนถูกคืนละประมาณ 500-600 บาท

ผลเสียของการเกิดขึ้นมากดังกล่าว นอกจากจะตรวจสอบข้อมูลตัวเลขไม่ได้แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาตัวเลขห้องพักโรงแรมไม่สมดุลกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างรุนแรงตามมานั่นเอง

นายพรหมโชติ กล่าวอีกว่า จ.เชียงราย มีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในปีงบประมาณ 2554 โดยใช้งบประมาณ 290 ล้านบาท แต่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถเขียนแผน เพื่อกระจายงบประมาณลงไปสู่ภาคการท่องเที่ยวได้ครบทั้งหมด เพราะประสบปัญหาข้อมูลไม่ชัดเจนดังกล่าว จึงทำได้เพียงกระจายไปให้หน่วยงานที่มีความพร้อมกัน เช่น องค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตับเต่า ที่เสนอของบประมาณไปพัฒนาพื้นที่บริเวณภูชี้ฟ้าประมาณ 7 ล้านบาท เป็นต้น
ด้านนายสมเกียรติ ชื่นธีระวงศ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และนายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย กล่าวว่า สมาคมมีแผนจะรวบรวมผู้ประกอบการห้องพักขนาดเล็กทั้งหมดเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร ซึ่งอาจจะเป็นชมรมหรือสมาคมใหม่ก็ได้ เพราะจะได้ทำให้พวกเราสามารถร่วมกันรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างพลังในการเสนอของบประมาณเพื่อนำมาพัฒนาการท่องเที่ยวจากจังหวัด แต่หากธุรกิจห้องพักขนาดเล็กไม่รวมตัวกันหรือไม่ทำอะไรเลยหรือคอยจะแข่งขันกันเอง

อย่างไรก็ตาม ก็มีแนวโน้มว่าเมื่อสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ ดังกล่าวแล้วเสร็จในอีก 30 เดือนข้างหน้า ธุรกิจท่องเที่ยวขนาดใหญ่จากกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ หรือกลุ่มทุนจีนก็จะเข้ามารับผลประโยชน์ที่เกิดจากความคึกคักดังกล่าว โดยที่กลุ่มทุนท้องถิ่นอย่างพวกเราได้แต่มองเพราะเราไม่ได้มีแผนพัฒนาร่วมกัน พวกเราก็จะแข่งขันตัดราคากันเองจนล้มตายไปทีละราย
กำลังโหลดความคิดเห็น