เชียงราย – สมาคมท่องเที่ยวเชียงรายเปิดประชุมสัญจรบนภูชี้ฟ้า เตรียมแบ่งเค้กกองทุนส่งเสริมท่องเที่ยว 400 ล้านบาท หนุนทัวร์เชียงราย พร้อมเปิดโปรแกรมนำเที่ยว 3 ภู จาก “ภูหลงถัง-ภูภาตั้ง-ภูชี้ฟ้า”
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้ (1 พ.ย.) สมาคมท่องเที่ยวเชียงราย ได้จัดการประชุมสัญจรครั้งที่ 3 ประจำปี 2552 ณ ห้องประชุมศูนย์บริการนักท่องเที่ยวภูชี้ฟ้า ตั้งอยู่ในเขตวนอุทยานแห่งชาติภูชี้ฟ้า หมู่บ้านร่มฟ้าทอง หมู่ 24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ โดยมี นายสมเกียรติ ชื่นธีระวงษ์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเชียงราย และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย เป็นประธาน และมีนายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย, นายอิศรา สถาปนาเศรษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย, นายเอกชัย หาญสุวรรณชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตับเต่า รวมทั้งกรรมการสมาคม ผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ทและร้านค้าบนภูชี้ฟ้าเข้าร่วม
ก่อนการจัดประชุมคณะทั้งหมดได้ร่วมกันเดินทางสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว 3 ภู คือ ภูหลงถังบนดอยพญาพิภักดิ์ อ.ขุนตาล, แก่งผาได ต.หล่ายงาว อ.เวียงแก่น และขึ้นสู่ภูผาตั้ง หรือ “ผาตั้ง” หมู่บ้านผาตั้ง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จากนั้นได้เดินทางไปพักที่รีสอร์ทภูชี้ฟ้าอินน์ และชมความงดงามของภูชี้ฟ้าในยามเช้า ณ หมู่บ้านร่มฟ้าทอง ก่อนเริ่มการประชุม
นายสมเกียรติ กล่าวว่า สมาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องการเชื่อมการท่องเที่ยวของสถานที่ต่างๆ เอาไว้ในเส้นทางเดียวกัน ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อบริโภค ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในภาพรวมได้
อย่างไรก็ตาม การจะทำได้ต้องอาศัยทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะทำให้เราสามารถนำความร่วมมือมารองรับฤดูกาลท่องเที่ยวปีนี้ได้และพัฒนาในปี 2553-2554 ต่อไป ส่วนการสัญจรภูชี้ฟ้า นอกจากจะประชุมทั่วไปในสมาคม ยังจะรับฟังความเห็นของผู้ประกอบการบนภูชี้ฟ้าเพื่อนำมาช่วยกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาอื่นๆ ร่วมกันต่อไป
“โดยเฉพาะในปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณกองทุนส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่ประมาณ 400 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ยังไม่ถูกนำออกมาใช้เพราะหน่วยงานต่างๆ ไม่รู้ว่าจะขอมาใช้อย่างไร หรือขอไปไม่ได้รับการอนุมัติ เพราะไม่ตรงเป้า ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะทำให้หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะได้สะท้อนปัญหาและหารือร่วมกันเพื่อดึงงบประมาณดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป”
นายเอกชน หาญสุวรรณชัย นายก อบต.ตับเต่า กล่าวว่า ภูชี้ฟ้ามีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดในปี 2544 กว่า 500,000 คน แต่ลดลงเรื่อยมา กระทั่งปีที่ผ่านมาเหลืออยู่ประมาณ 100,000 กว่าคน ส่วนปี 2552 ได้ตั้งเป้าว่าน่าจะได้ประมาณ 200,000 คน เพราะสถานการณ์การท่องเที่ยวน่าจะดีกว่าปีก่อน ซึ่ง อบต.ตับเต่า ได้ประสานกับ อบต.ปอ อ.เวียงแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเดินทางขึ้นสู่ภูชี้ฟ้าได้อีกทางหนึ่งเพื่อพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
ขณะเดียวกัน มีการจัดมัคคุเทศน์จิ๋วหรือไกด์นำเที่ยวที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีบนภูชี้ฟ้าเอาไว้รองรับ จัดระเบียบรถขึ้นลง ฯลฯ และในปีนี้ยังได้รวมกลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ทร้านค้าบนภูชี้ฟ้าเป็นชมรมรักษ์ภูชี้ฟ้าเพื่อร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืนอีกด้วย
จากนั้นผู้ประกอบการแจ้งถึงปัญหาในการให้บริการนักท่องเที่ยว ว่า ถนนจากผาตั้ง-ภูชี้ฟ้า ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร มีสะพานชำรุดถึง 3 จุดโดยไม่ได้ซ่อมแซมมานานกว่า 2 ปี ทำให้การเชื่อมจุดท่องเที่ยวระหว่างผาตั้ง-ภูชี้ฟ้า ทำได้ไม่เต็มที่ และถนนจากหมู่บ้านร่มฟ้าทองขึ้นไปยังจุดจอดรถก่อนเดินขึ้นภูชี้ฟ้าอีก 300 เมตร ก็ชำรุดเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ
ด้าน นายวรรณจักร วรรณะ เลขานุการชมรมรักษ์ภูชี้ฟ้า กล่าวว่า บนภูชี้ฟ้าพบปัญหาไกด์รุ่นจิ๋วและนักแสดงเด็กที่ตระเวนไปตามรีสอร์ทต่างๆ ช่วงกลางคืน ถูกเก็บค่าหัวคิวจากเด็กโต เป็นปัญหาทำให้ภาพลักษณ์เสียหายและเด็กก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ
นายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย กล่าวว่า ปีนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้ความร่วมมือและกระตือรือร้นในการรองรับการท่องเทียวในไฮซีซันอย่างมาก เพราะสถานการณ์เริ่มฟื้น แต่ก็ยังมีหลายๆ อย่างที่เราจะต้องร่วมกันปรับปรุง เช่น การสร้างกิจกรรมหรือจุดขายให้กับสถานที่ท่องเที่ยวแทนที่จะอาศัยสิ่งเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว ฯลฯ โดยเฉพาะของฝากของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นๆ
ส่วนการเชื่อมสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งก็ต้องอาศัยเวลาซึ่งคงไม่สำเร็จโดยเร็ว เพราะต้องมีเรื่องราวที่ทำให้สอดคล้องกันเพื่อชวนให้คนไปเยือน ไม่ใช่แค่ชื่อพ้องกันก็ทำให้เชื่อมกันได้เลย ส่วนไกด์เด็กที่มีอยู่แล้วก็จะมีการส่งเสริมให้ได้มาตรฐานมากขึ้นต่อไป
ด้าน นายอิศรา กล่าวว่า สถานการณ์ช่วงต้นฤดูหนาว พบว่า ดีมากขึ้น ดังนั้น ททท.จะได้เร่งประชาสัมพันธ์สถานที่ต่างๆ ไปสู่นักท่องเที่ยวให้มากขึ้น ขณะเดียวกัน จะได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานดูแลสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ ในการจัดหาที่พัก จุดอำนวยความสะดวกต่างๆ ฯลฯ ให้อย่างเต็มที่ เพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวแวะไปสอบถามข้อมูลที่สำนักงาน ททท.สำนักงานเชียงรายเป็นจำนวนมาก