xs
xsm
sm
md
lg

ไม่มีรัฐมนตรีของพระเจ้าอยู่หัวในประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ใครไม่อยากอ่านบทความของผม ท่านมีสิทธิหยุดตรงนี้เลยนะครับ แต่ท่านที่หวังจะจับผิดว่าผมดีแต่ยกเมฆไม่เห็นยกตัวอย่าง ก็ขอเชิญอ่านต่อไป

ในบรรดานายกรัฐมนตรีไทย อย่างน้อยมีหนึ่งที่เข้าใจและพูดถึงพระราชอำนาจ คือนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งกล่าวว่า

“พระราชอำนาจซึ่งเป็นสิทธิของท่าน มีอำนาจที่จะได้รับการปรึกษา อำนาจในการที่จะเตือนสติ มีอำนาจที่จะให้กำลังใจ มี 3 พระราชอำนาจเท่านั้น ซึ่งคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญมาอย่างไรก็แล้วแต่”

บังเอิญนายอานันท์เป็นนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ต่างกับในประเทศที่นายอานันท์ไปเรียนมาคืออังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นตัวหนังสือ แต่มีธรรมเนียมที่นายกรัฐมนตรีมาจากสภาทั้งนั้น ยกเว้น Lord Home ซึ่งพระราชินีอลิซาเบธใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งโดยการปรึกษาและเห็นชอบของผู้นำการเมืองในปี 1963 เพื่อนำประเทศฝ่าวิกฤตไม่ให้ล่มจม

ในอังกฤษมีการประกาศ พูดถึง เขียนถึง Her Majesty’s Government, Her Majesty’s Prime Minister, Her Majesty’s Loyal Opposition, Her Majesty’s Minister แปลว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายกรัฐมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หัวหน้าฝ่ายค้านของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และรัฐมนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อยู่เสมอ พระเจ้าอยู่หัว คือ พระราชินีอลิซาเบธ

ระบบพฤติกรรมหรือการกระทำใดๆ ในคณะรัฐมนตรี ในสภา และในการบริหารประเทศก็เป็นจริงและสอดคล้องกับการเรียกขานดังกล่าว

ในประเทศไทย พรรคการเมืองอัปรีย์พรรคหนึ่ง ทั้งๆ ที่มีเสียงพอ แต่ไม่สามารถตั้งหัวหน้าฝ่ายค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้

และพรรคการเมืองอื่นๆ ก็ไม่สนใจหรือตั้งใจที่จะสร้างการเมืองระบบรัฐสภาให้เหมือนอังกฤษ มีแต่อ้าง คลั่งเลือกตั้ง และหวังเป็นรัฐบาลท่าเดียว

ตัวอย่างของการทำรัฐสภาและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้สมจริงของอังกฤษมีอยู่มาก แต่ขอยกมาเพียง 2 เรื่อง ที่นายอานันท์กล่าวถึงคือการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าฯ เป็นประจำ เพื่อเปิดโอกาสให้ใช้พระราชอำนาจหนึ่ง และการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องฟังพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องความเหมาะสม และคุณสมบัติผู้ที่จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีอีกหนึ่ง

เรื่องหลังนี้อย่าเข้าใจผิดมั่วๆ ว่า กษัตริย์อังกฤษจะฝักใฝ่ให้พรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่มีเลย ทรงเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและวินิจฉัยตามกรอบที่นายกทูลเกล้าฯ เท่านั้น

นายอานันท์ได้สร้างตัวอย่าง “ถ้าจะให้ท่านลงพระปรมาภิไธย เรื่องแต่ละเรื่องทั้งนั้น ท่านก็ต้องทราบที่มาที่ไป ก็เป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ เป็นหน้าที่ที่เรียกว่า ถวายงาน อย่างเช่น มีพระราชบัญญัติสำคัญก็ต้องไปกราบบังคมทูลท่านว่าจะมีเข้ามาเพราะอะไร มีเจตจำนงอย่างไร จะมีผลบังคับใช้ในทางใด”

เรื่องสำคัญเช่นการตั้งรัฐมนตรีทำไมถึงจะไม่เข้าเฝ้าฯ หรือจะบังคับพระองค์อย่างเดียว รัฐมนตรีอังกฤษแม้คัดเลือกตัวเองด้วยการพัฒนาความสามารถและภาวะผู้นำของตนจนเป็นที่ยอมรับในพรรค รู้ล่วงหน้าว่าใครจะได้ตำแหน่งอะไรแล้ว ยังมีหลักประกันขั้นสุดท้ายคือ พระราชอำนาจและบรมราชวินิจฉัยของกษัตริย์ ต่างกับแก๊งหัวหน้าตั้ง ต้องแล้วแต่หัวหน้าหรือสนนราคากันเอง

ผมเคยยกตัวอย่างเชิชชิลกับลอร์ดบีเวอร์บรูคมาแล้ว ยังมีอีก พระราชินีทรงใช้สิทธิวิจารณ์คุณสมบัติบุคคลที่ขอให้โปรดเกล้าฯ “In exercising her undoubted rights to be consulted, to encourage and to warn, the Queen does comment on proposed ministerial appointments” นายกฯ Harold Macmillan เล่าถึงปฏิกิริยาของพระราชินีต่อรายชื่อรัฐมนตรีปี 1957 ว่า “ทรงรู้รายละเอียดทุกเรื่องอย่างอัศจรรย์ She is astonishingly well informed on every detail. She particularly liked the decision about the Foreign Office and was interested in what I told her about Percy Mills” ถึงแม้ในที่สุดจะทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่นายกฯ เสนอ แต่พระองค์ “จะขอให้นายกฯ พิสูจน์ความเหมาะสมของผู้ที่ถูกเสนอ may require him to justify a nomination”

ตัวอย่างยังมีอีกเยอะครับ ไม่ต้องกลัวผมจะยกเมฆ มาช่วยกันคิดดีกว่าว่าทำไมเมืองไทยจึงปกปิดบิดเบือนความรู้เบื้องต้นเช่นนี้

ผมขออัญเชิญพระราชกระแสเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว

“ก็มีประเพณีเป็นที่ยอมรับกันในนานาประเทศแล้วมิใช่หรือว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้นน่ะสัมพันธ์กับรัฐบาลตามที่ได้ย่อไว้อย่างสั้นเป็นภาษาอังกฤษว่า “to advise and be advised” หมายความว่ารัฐบาลน่ะมีหน้าที่ต้องทูลเกล้าฯ ถวายรายงานเป็นประจำถึงสถานะโดยทั่วๆ ไปและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ในอังกฤษ นายกฯ ของเขาจะต้องเข้าเฝ้าฯ พระราชินีของเขาทุกวันศุกร์ เพื่อถวายรายงาน และไม่ว่าพระราชินีจะเสด็จฯ ไปไหน ในประเทศอังกฤษเองหรือต่างประเทศ ก็จะต้องมีที่เรียกว่า กระเป๋าดำตามไปตลอดเวลา ซึ่งรายงานสถานการณ์บ้านเมืองและรายงานข้อสำคัญๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลกราบบังคมทูล ขอพระราชทานคำปรึกษาหรือถ้าทรงเห็นว่าพระองค์ควรจะพระราชทานคำปรึกษาเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศชาติและทุกข์สุขของราษฎรไม่ว่าในเรื่องใด พระมหากษัตริย์ก็จำเป็นต้องพระราชทานคำปรึกษานั้นให้กับรัฐบาล”

ผมอยากถามว่า นายกฯ คนไหนบ้างได้ยินและทำตามพระราชกระแส และในปัจจุบันนี้ ขณะที่ความมั่นคงเป็นปัญหาอุกฤษฏ์ จนกระทั่งพระองค์ทรงห่วงว่า บ้านเมืองกำลังจะล่มจม นายกฯ ได้ทูล ขอพระราชทานคำปรึกษาหรือยัง

หรือว่ายัง เพราะเกรงว่าพระองค์จะไม่ทรงอยู่เหนือการเมือง โปรดอ่านความเห็นของม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ อดีตรองราชเลขาธิการ ซึ่งเคยเข้าเฝ้าฯ ขอพระบรมราชาธิบาย ดังนี้

“การที่พูดกันอยู่ทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองนั้น ผมว่าต้องเข้าใจคำว่าการเมืองให้ถ่องแท้กันเสียก่อนนะครับ ถ้าการเมืองหมายถึงระบบการปกครองโดยทั่วๆ ไปและการดำเนินการเพื่อการปกครองคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชน ก็จะพูดว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมืองไม่ได้ มิฉะนั้น ก็หมดความหมายครับ พระมหากษัตริย์จะทำอะไร จะมีไว้ทำไม”

พระเจ้าอยู่หัวมิได้มีไว้เฉยๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ตามนโยบายพรรคเสื้อแดง

พระบรมเดชานุภาพและปัญญาบารมียิ่งกว่าปราชญ์กษัตริย์ใดๆ ในโลกจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประเทศชาติและราษฎรเป็นอย่างดี หากเผด็จการและนักการเมืองไม่เบียดบังพระราชอำนาจไป ปีเศษมาแล้ว ผมนั่งกินข้าวติดกับอนาคตนายกรัฐมนตรี ผมจึงขอฝากไว้ 3 ข้อว่า 1. สร้างประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้สำเร็จ ด้วยการเข้าเฝ้าฯ เป็นประจำ 2. นำพรรคประชาธิปัตย์เข้า Conservative Union หรือสมาคมพรรคอนุรักษนิยมสากล ซึ่งมีพรรคในสังกัดหลายพรรคเป็นรัฐบาลอยู่ในสหภาพยุโรป ของอังกฤษก็จวนแล้ว ถึงเวลาอภิสิทธิ์จะได้เป็นเชษฐบุรุษอาวุโสในสมาคม และ 3. พัฒนาประชาธิปัตย์จากกึ่งพรรค-กึ่งแก๊งเลือกตั้งให้เป็นพรรคอย่างแท้จริงบริบูรณ์

พรรคการเมืองที่แท้จริงจะไม่มีปัญหาต้องตั้งรัฐมนตรีขี้เหล่ รัฐมนตรีพ่อ รัฐมนตรีเมีย รัฐมนตรีนอกสมรส รัฐมนตรีน้อง รัฐมนตรีน้องเขย รัฐมนตรีบริษัท ฯลฯ หรือต้องต่อรองวิ่งเต้นกันจนถึงนาทีสุดท้าย เพราะเชื่อว่าส่งไปอย่างไร ในหลวงก็ต้องเซ็น

สมัยโบราณ เราเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่าเจ้าชีวิต จนกระทั่งทุกวันนี้ ไทยยังไม่เคยมีรัฐมนตรีของเจ้าชีวิต

เรามีแต่รัฐมนตรีของเจ้าหล่อ รัฐมนตรีของเจ้าเหลี่ยม รัฐมนตรีของเจ้าห้อย และรัฐมนตรีของเจ้าเตี้ย

พวกหลังนี้แหละที่กระสันอยากจะแก้รัฐธรรมนูญอยู่จนน้ำลายหก

การชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 193 วันของพันธมิตรฯ ครั้งโน้น นำไปสู่การเข่นฆ่าสูญเสีย กว่าจะได้มาซึ่งชัยชนะครึ่งเดียว มีผู้เกรงว่าครั้งใหม่อาจรุนแรงถึงสงครามกลางเมือง

ยังมีทางผ่อนแรงที่น่าลอง คือการส่งสำเนาบัตรประชาชนไปที่คุณสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายแผ่นดิน ที่ผู้จัดการ พร้อมคำรับรองว่าขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชามติที่หมดเปลือง และอนุญาตให้ยื่นขอให้ลงโทษพรรคที่กระทำผิดกฎหมาย

รัฐมนตรีของพระเจ้าอยู่หัวอาจจะได้เห็นไม่นานเกินรอ!
กำลังโหลดความคิดเห็น