xs
xsm
sm
md
lg

“มนตรี”กับผู้นำตลาดหุ้นคนที่ 11

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มนตรี ศรไพศาล
สมการการเมือง
โดย....พาณิชย์ ภูมิพระราม

18 มกราคม ที่ผ่านมา โสภาวดี เลิศมนัสชัย รองผู้จัดการสายการตลาด และงานบริการหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กลายเป็นเลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ภายใต้การควบคุมดูแลของประธาน กบข. - สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง

ระยะเวลา 4 ปี กับเก้าอี้ เลขาธิการ กบข. น่าจะทำให้ โสภาวดี อดทนอดกลั้นแรงเสียดทานทางการเมืองใน กบข. และภายนอก กบข. ภายใต้การสนับสนุนของ กรณ์ จาติกวณิช ได้ครบวาระ

อย่างน้อยที่สุด การบริหารการเมืองภายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จนทำให้มีการต่อสัญญาจ้างโสภาวดี มาครั้งหนึ่งแล้ว

โสภาวดีแสดงความมั่นใจกับการบริหาร “เงินข้าราชการ” ภายใต้ความเสี่ยงที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ควบคู่คุณธรรม และจริยธรรม นอกจากนี้กบข. ยังเตรียมโครงการแผนทางเลือกการลงทุนให้กับสมาชิก 

สำหรับโสภาวดี ถือว่า เป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในตำแหน่งเลขา กบข. หลังจากที่เคยพลาดหวังกับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

อย่างน้อยที่สุด การคัดเลือกกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งครบวาระการทำหน้าที่ 4 ปี ของ “ภัทรียา เบญจพลชัย”

“ขอยืนยันว่า จะไม่เข้าสมัคร และจะไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าวต่ออีก” ภัทรียา กล่าวย้ำ

ทั้งนี้ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการสรรหา” โดยมี "สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ" เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ซึ่งได้เปิดรับสมัครไประหว่าง 25 ธันวาคม 2552 ถึง 15 มกราคม 2553

ภัทรียา เรียนจบบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้บริหาร มหาวิทยาลัยมิชิแกน ก่อนขึ้นนั่งเก้าอี้เบอร์หนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ ภัทรียา นั่งเก้าอี้รองผู้จัดการ สายงานกิจกรรมองค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเป็นลูกหม้อตลาดหลักทรัพย์ เริ่มไต่เต้ามาตั้งแต่นักวิเคราะห์ ฝ่ายบริษัทจดทะเบียน หัวหน้าส่วนวิเคราะห์ ฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการ ฝ่ายจดทะเบียน ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนา และวางแผน ผู้ช่วยผู้จัดการรับผิดชอบด้านการบริหาร สำนักผู้จัดการและฝ่ายประชาสัมพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานกำกับตลาดและบริหารความเสี่ยง รองผู้จัดการ สายงานกำกับตลาดและสายงานการเงินและบริหาร

เรียกได้ว่า ผ่านทุกสายงานในตลาดหลักทรัพย์ก่อนจะทำหน้าที่ถือหางเสือองค์กรกำกับตลาดทุนด้วยซ้ำ

ที่สำคัญ ภัทรียา ถือเป็นนักบริหารที่ประนีประนอมมากคนหนึ่ง จนบางคนมองว่า ขาดความเด็ดขาด

ดังนั้น คนที่จะเข้ามาแทนที่ ภัทรียา จึงน่าจะชดเชย “ความเด็ดขาด” และ“ความเฉียบขาด”ที่ขาดหายไป ในช่วงที่ผ่านมาพอสมควร

ที่สำคัญที่สุด ตลาดหลักทรัพย์กำลังจะแปรรูป และเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จนกลายเป็นแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ และทรงอิทธิพลมากที่สุดในอนาคต

โดยเฉพาะ “คณะกรรมการกำกับตลาดทุน”

ปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ได้ปรากฎโฉมตามรายชื่อที่ กรณ์ จาติกวณิช แต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบด้วย สรสิทธิ์ สุนทรเกศ  ม.ล.ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กัมปนาท โลหเจริญวนิช  ดัยนา บุนนาค ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการก.ล.ต. เป็นประธานกรรมการ ประสงค์ วินัยแพทย์ รองเลขาธิการก.ล.ต. และ สาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กลายเป็น 7 อรหันต์ ที่กำกับตลาดทุน และมีอำนาจมากชุดหนึ่ง

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 โดยมีอำนาจหน้าที่ออกกฎเกณฑ์ในเรื่องการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์  การออก และเสนอขายหลักทรัพย์  ตลาดหลักทรัพย์  ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์  สำนักหักบัญชี  นายทะเบียนหลักทรัพย์  สมาคมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์  และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ  และรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. รวมทั้งปฏิบัติการตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ก.ล.ต.

โดยกรรมการผู้ทรงวุฒิ จะมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเมื่อพ้นตำแหน่งแล้ว อาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ

นั่นทำให้ กัมปนาท ในฐานะนายกสมาคมหลักทรัพย์ จึงต้องลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ถึง 7 ตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์

ทั้งนี้ เชื่อว่า “ภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จะก้าวเข้ามานั่งเก้าอี้ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์คนใหม่ เพื่อเดินหน้าสร้างความสมานฉันท์ ระหว่างโบรกเกอร์เกี่ยวกับ ค่าคอมมิชชั่น 0 % ของยอดซื้อขายตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่การสรรหา กรรมการผู้จัดการคนใหม่ พอจะทำให้เห็นเค้าลางหน้าตาผู้นำตลาดทุนคนใหม่ เมื่อ “มนตรี ศรไพศาล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ยื่นใบสมัคร

“ผมคิดมา 1-2 เดือน ก่อนจะยื่นใบสมัคร และหากได้ตำแหน่ง น่าจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม เพราะในเชิงคุณสมบัติมั่นใจว่า มีความพร้อม แต่ขึ้นกับคณะกรรมการสรรหาพิจารณา แต่หากไม่ได้ ก็กลับไปทำงานในหน้าที่เดิมกับบล.กิมเอ็ง” มนตรีกล่าว

คาดหมายกันว่า มนตรี อาจจะเบนเข็มเดินเข้าสู่ถนนการเมืองในอนาคต ไม่ว่าจะได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ก็ตาม

ที่สำคัญ มนตรี กลายเป็นตัวเต็งทันที ในฐานะ“อดีตลูกน้องคนสำคัญ” ของ กรณ์ จาติกวณิช ในช่วงที่ทำงานอยู่ที่ บล.เจ เอฟ ธนาคม จำกัด

โดยเฉพาะในช่วงที่การเสนอขายหุ้นครั้งแรก (ไอพีโอ) กำลังบูมสุดขีด

ที่สำคัญกว่านั้น เป็นที่รับรู้กันว่า ทัศนะคติทางการเมืองของ มนตรี นั้นเป็นเนื้อเดียวกับประชาธิปัตย์ และตรงกันข้ามกับอย่างสุดขั้วกับ ทักษิณ ชินวัตร

นั่นทำให้ โอกาสของ มนตรีเหนือกว่าเคนดิเดทคนอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็น ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการสายงานพัฒนาและวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีข่าวว่าสมัครเข้ารับเลือก

หรือแม้กระทั่ง วิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ที่ยื่นสมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งกรรมการ และผู้จัดการตลาดหลัก ทรัพย์คนใหม่

“จุดแข็งที่ใช้ประกอบในการยื่นใบสมัครครั้งนี้ คือปัจจุบันได้ทำงานในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว ซึ่งหากได้รับคัดเลือกก็จะไม่ต้องเสียเวลาเตรียมการ ทั้งในแง่ของผู้บริหาร และพนักงาน” วิเชฐ อธิบายข้อดีของตัวเขาเอง

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการคนที่ 11 จะมีวาระการทำหน้าที่ระหว่าง 1 มิ.ย. 53 ถึง 31 พ.ค. 57

โดยก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์อยู่ภายใต้การบริหารของกรรมการผู้จัดการไปแล้วทั้งหมด 10 คน ประกอบด้วย

1. นายศุกรีย์ แก้วเจริญ ดำรงตำแหน่ง : ธันวาคม 2517 - มิถุนายน 2521

2. นายณรงค์ จุลชาต ดำรงตำแหน่ง : กรกฎาคม 2521 - สิงหาคม 2533

3. นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ดำรงตำแหน่ง : กันยายน 2523 – มีนาคม 2525

4. นางสิริลักษณ์ รัตนากร ดำรงตำแหน่ง : สิงหาคม 2525 - สิงหาคม 2528

5. ดร. มารวย ผดุงสิทธิ์ ดำรงตำแหน่ง : กันยายน 2528 - มิถุนายน 2535

6. นายเสรี จินตนเสรี ดำรงตำแหน่ง : กรกฎาคม 2535 - มิถุนายน 2539

7. นายสิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่ง : กรกฎาคม 2539 - กรกฎาคม 2542

8. นายวิชรัตน์ วิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่ง : กันยายน 2542 - สิงหาคม 2544

9. นายกิติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่ง : กันยายน 2544 – สิงหาคม 2548

10. นางภัทรียา เบญจพลชัย ดำรงตำแหน่ง : มิถุนายน 2549 – พฤษภาคม 2553

อย่างไรก็ตาม เมษายน 2553 นี้ ตลาดหลักทรัพย์จะมีอายุครบ 35 ปี ซึ่งอยู่ในวัยกลาง ที่ผ่านประสบการณ์เลวร้าย และรุ่งโรจน์มาแล้วหลายครั้ง เช่น วิกฤตราชาเงินทุน ปี 2519 จันทร์ทมิฬ ปี 2530 สงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2533 ปี 2537 ดัชนีราคาหุ้นได้สร้างจุดสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ระดับ 1,789 จุด

ขณะที่ภาพรวมการซื้อขายหลักทรัพย์ของปี 2552 ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบปี 2551 ทั้งราคาและมูลค่าการซื้อขาย โดย ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันทำการสุดท้ายของปี 2552 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET Index) ปิดที่ 734 จุด เพิ่มขึ้นจากจุดปิด ณ สิ้นปี 2551 ถึง 63% โดยจุดสูงสุดของปีอยู่ที่ระดับ 751.86 และต่ำสุดที่ระดับ 411.27 สำหรับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 17,853 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5  เมื่อเทียบกับปี 2551

แต่กระนั้น ค่าคอมมิชชั่น ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญ จนลุกลามไปสู่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ซึ่งได้ยกเลิกมติเดิม ที่กำหนดให้ใช้อัตราเดียวกันคือ 0.2% แล้วอนุญาตให้ บลจ.ไปต่อรองกับโบรกเกอร์โดยเสรีแทน ตั้งวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา

วัย 35 ปี ของตลาดหุ้น ต้องการผู้นำที่เพรียบพร้อมทั้ง attribute, motivation, opportunity

กำลังโหลดความคิดเห็น