xs
xsm
sm
md
lg

"สามสี"วาดอนาคต 30 ปี ดึง"ธารินทร์-อุ๋ย"กุนซือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ไตรรงค์" โม้หลุดโลก วาดฝันแผนประเทศไทยในอีก30 ปีข้างหน้า ดึง"ธารินทร์-หม่อมอุ๋ย" เป็นที่ปรึกษาพร้อมทีมเศรษฐกิจทุกแขนง "มาร์ค"ย้ำรมต.เก่า-ใหม่ต้องถือกฎเหล็ก 9 ข้อ พร้อมยึดมั่นพระบรมราโชวาท เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต มอบอำนาจ"กอร์ปศักดิ์" นายกฯน้อย กลั่นกรองวาระก่อนเสนอ ครม. มีปลัด 20 กระทรวง เป็นคนให้ข้อมูล ส่วนเจ้ากระทรวงเป็นแค่ตรายาง

นายไตรรงค์ สุวรรณคิรี รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวก่อนการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกของการเป็นรองนายกรัฐมนตรีว่า ในเรื่องโครงการต่างๆ ก็ต้องดำเนินการต่อ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการฯชุดต่างๆ ที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เคยเป็น ก็คงต้องเข้ามาดำเนินการต่อ โดยเบื้องต้นได้คุยกับนายกรัฐมนตรีแล้ว และกำลังจะแบ่งกลุ่มของคณะที่ปรึกษาออกประมาณ 3-4 กลุ่ม

"ที่ผมได้พูดไปก่อนหน้านี้ เป็นการพูดเรื่องปัญหาที่เผชิญหน้าของประเทศไทย ปี 2553 แต่สิ่งที่ผมอยากจะทำมากคือ ต้องการจะทำในสิ่งที่ต้องการบอกพี่น้องประชาชนให้ทราบว่าในอีก 30-40 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยควรจะมีหน้าตาอย่างไรในทางเศรษฐกิจ ถ้าต้องการให้ประเทศไทยเป็นอย่างนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ และนี่คือสิ่งที่ผมจะทำ จึงต้องมีคณะที่ปรึกษา และแบ่งเพื่อยกร่าง เพื่อดีไซน์ประเทศไทยฉบับ 30-40 ปีข้างหน้าว่าจะให้ลูกหลานอยู่อย่างไร หากไม่วางแผนตอนนี้ลูกหลานจะลำบาก" นายไตรรงค์ กล่าว

**ดึง"ธารินทร์-หม่อมอุ๋ย"ที่ปรึกษา

สำหรับบรรดาที่ปรึกษาที่จะเข้ามา อาทิ กลุ่มเกษตรกรรม อุตสาหกรรม โลจิสติกส์ การค้า นโยบายการเงินการคลัง เป็นระดับแมคโคร ที่จะคลุมทั้งหมด ส่วนตัวบุคคลคาดว่าน่าจะประกาศชื่อได้ในสัปดาห์นี้

"กับนายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตรมว.คลัง ที่ผ่านมาก็มาช่วยผมพอสมควร เมื่อวานก็มีการประชุมกับกลุ่มคุณธารินทร์ไป ผมปรึกษาบางคนจะใช้ชื่อ บางคนเขาขอร้องไม่ใช้ชื่อ ขออยู่ข้างหลัง อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ก็เป็นที่ปรึกษาผมมาตลอดชีวิตเพราะเป็นรุ่นน้อง แต่ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่เกินไปที่จะใส่ชื่อลงไปในบัญชี ศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธาน ทีดีอาร์ไอ ศ.ดร.พลายพล คุ้มทรัพย์ ทุกคนเป็นที่ปรึกษาผมหมด คนเหล่านี้อาจไม่มีชื่อในบัญชี แต่ต้องมาประชุม และต้องไปทำงาน ทุกคนอยากมาช่วยผมเยอะ เพราะผมหน้าตาน่ารัก จะมีกลุ่มกรรมกร กลุ่มเอ็นจีโอ ผมมีทุกกลุ่ม ผมไปฟังความไม่ได้ฟังแต่นายทุน หรือฟังแต่เอ็นจีโอ ผมไม่ใช่คนอย่างนั้น ผมเช็คบาลานซ์ทั้งหมด เพราะทุกคนคือคนไทยหมด การประชุมครั้งแรกคงกำหนดไม่ได้ เพราะต้องประกาศก่อนให้เป็นที่ทราบว่าใคร อยู่กลุ่มไหนมีจำนวนเท่าไร ใครควรจะเป็นประธานเป็นเลขาฯ แล้วจะเรียกประชุมมอบนโยบายแบ่งกลุ่มให้ทำงานให้เสร็จจากนั้นก็จะมาดูว่าต้องทำงบประมาณ ต้องวางแผนว่าใน 30 ปี ต้องทำอะไรบ้าง นึกภาพอีก 30 ปีจะได้อยู่กันอย่างสบายหลังจากผมตายแล้ว ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น" นายไตรรงค์กล่าว

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่กับกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่มที่อาจจะมีปัญหา นายไตรรงค์ กล่าวว่า ตนก็จะเลือกเฉพาะที่ไม่ปัญหา ที่ฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่เชิญมา เพราะเอ็นจีโอบางคนก็ใจแคบ บางคนก็ใจกว้าง เราก็จะเลือกเอาคนที่ทำงานร่วมกับเราได้

นายไตรรงค์ กล่าวว่า นอกจากที่ปรึกษาแล้วหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็จะต้องมาช่วยกันทั้งหมด โดยตนจะไปพูดกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง และหัวหน้าพรรคต่างๆ เพราะทุกคนต้องช่วยกัน

ส่วนที่ฝ่ายค้านตั้งเป้าจะอภิปรายถึงการบริหารงานด้านเศรษฐกิจนั้น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนดูแล ก็ต้องช่วยชี้แจง ก็ต้องช่วยนายกฯ เพราะท่านต้องรับผิดชอบทุกเรื่อง

"มันคงมีการอภิปรายในเรื่องงานที่เกี่ยวข้องกับนายกอร์ปศักดิ์ ซึ่งตอนนั้นผมก็ต้องคุยกับท่านกอร์ปศักดิ์ว่าเรื่องจริงเป็นอย่างไร เป็นโฆษกตอบแทนท่าน เพราะท่านไม่ได้อยู่ในสภาฯ ก็ช่วยท่านนายกฯอีกที เพราะท่านนายกฯ ต้องรับผิดชอบในช่วงนั้น" นายไตรรงค์กล่าว

**ให้ยึดพระบรมราโชวาทในหลวง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการมอบแนวทางการทำงานให้กับรัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ว่า ได้ยืนยันไปแล้วว่า กฎเหล็ก 9 ข้อ ใช้ทั้งคนเก่าคนใหม่เท่าเทียมกัน และในการถวายสัตย์ปฏิญาณ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. พระบรมราโชวาทในเรื่องการยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต ก็เป็นสิ่งที่ตนได้เน้นย้ำกับรัฐมนตรีท่านอื่นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้กำชับเรื่องนี้เป็นพิเศษหรือไม่ เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเน้นย้ำเรื่องนี้ 5-6 ครั้ง สะท้อนว่ามีการไม่ปฏิบัติหรือไม่ดำเนินการตามที่พระองค์ได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พระองค์ได้เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ และได้ความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสคือ การไม่ปฏิบัติตามนี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดการตำหนิและความเสียหายแก่รัฐบาลโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะตัวคนที่ไม่ยึดถือ

เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าครม.จะปฏิบัติตามได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนมีหน้าที่ดูแลให้เป็นเช่นนั้น

**ให้"กอร์ปศักดิ์"กลั่นกรองวาระ ครม.

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงาน และขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม. (ปคค.) โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะเป็นนางอัญชลี เทพบุตร เป็นรองประธาน ขณะที่กรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผอ.สำนักงบประมาณ และเลขาธิการ กพร. ทั้งนี้ กรรมการคณะนี้ มีอำนาจหน้าที่ประสานงานขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม. นโยบายเร่งด่วน นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการดำเนินงานอื่น ๆในสถานการณ์พิเศษตามที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้ มีอำนาจในการพิจารณาเสนอความเห็น และแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการดำเนินงานตามมติ ครม.ต่อนายกรัฐมนตรี ทั้งยังสามารถแต่งตั้งคณะทำงาน คณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่ตามความจำเป็น และมีหน้าที่เรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือเอกสารหลักฐานจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการฯได้ และดำเนินการอื่น ๆตามที่นายกฯมอบหมาย ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 53 เป็นต้นไป

รายงานข่าวแจ้งว่า การตั้งคณะกรรมการประสานงาน และขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติ ครม. (ปคค.) ถือเป็นครั้งแรก ที่ควบรวมนำปลัดทุกกระทรวงมาประสานงาน โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ ตัดสินใจเพียงคนเดียว ก่อนเสนอเรื่องเข้าสู่ครม. โดยไม่มีรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง และรัฐมนตรีช่วยฯ เป็นกรรมการ

**"สามสี"นั่งปธ.-รองปธ.คกก.10 คณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าครม.อนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแต่งตั้ง รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ในคณะกรรมการระดับชาติชุดต่าง ๆ ดังนี้

1. แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการฯ จำนวน 5 คณะ ดังนี้ คณะกรรมการจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (กพอ.) คณะกรรมการบริหารจัดการเรื่องอาหารและพลังงาน เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงานของโลก

2. แต่งตั้งเป็นรองประธานกรรมการ ในคณะกรรมการฯ จำนวน 5 คณะ ดังนี้ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (กพต.) คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.)
กำลังโหลดความคิดเห็น