รายงาน
นับตั้งแต่ “ถนนสาย 48 “หรือทางหลวงสายที่ 48 จาก อ.เสาธง จ. เกาะกง เชื่อมถึง อ.นาเกลือ หรือสะแรอัมเปิล จ.เกาะกง ที่เชื่อมกับเส้นทางหลวงสายที่ 4 จากกรุงพนมเปญสู่เมืองสีหนุวิลล์ใน จ.กัมโปงโสม ก่อสร้างแล้วเสร็จและมีการเปิดอย่างเป็นทางการจากสมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาและนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนจากรัฐบาลไทย เมื่อเดือน พฤษภาคม ปี 2551
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อนุมัติเงินให้เปล่าและเงินกู้กว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนลาดยางและสะพานอีก 4 แห่ง ส่งผลให้ “จ.เกาะกง” ที่เคยเป็นเมืองปิด สามารถติดต่อกับจังหวัดต่าง ๆของกัมพูชาได้อย่างสะดวก มีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว มีการเดินทางเพื่อการค้าขายระหว่างเมืองและระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้ ถนนสาย 48 ยังเป็นถนนลูกรังบดอัดแน่นที่ทหารช่างของประเทศไทย ได้เคยก่อสร้างตั้งแต่รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ตั้งแต่ปี 2545 - 2546
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา มีการลงทุนทางธุรกิจเกิดขึ้นใน จ.เกาะกงจำนวนมาก ทั้งธุรกิจด้าน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจด้านการสื่อสาร ธุรกิจด้านการเงิน-การธนาคาร หรือธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด นักธุรกิจจากพนมเปญ และประชาชนในกัมพูชาอพยพมาทำงานใน จ.เกาะกงมากขึ้น รวมทั้งนักลงทุนจากประเทศไทย ทั้งนี้ มี “นายยุทธ ภูทอง” ผู้ว่าราชการ จ.เกาะกง ที่มีวิสัยทัศน์จับมือกับ นายพัด สุภาภา สมาชิกวุฒิสภา จ.เกาะกง และประธานกรรมการบริหาร แอล วาย บี กรุ๊ป จำกัดเจ้าของธุรกิจใน จ.เกาะกง ทั้งโรงแรมเกาะกงอินเตอร์เนชั่นแนลรีสอร์ท คลับ จำกัด บริษัท เกาะกง ซาฟารีเวิลด์ จำกัด บริษัท ฮีโร่คิง เอ็กซ์ปอร์ต & อิมปอร์ต จำกัด
นายพัด สุภาภา สะท้อนให้เห็นการพัฒนาเศรษฐกิจของ จ.เกาะกง ที่กำลังเติบโตในทุก ๆ ด้านตามเป้าหมายของรัฐบาลกัมพูชาที่ต้องการเห็น จ.เกาะกง เป็นประตูสู่กัมพูชา และศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวว่า รัฐบาลกัมพูชาต้องการเห็น จ.เกาะกง พัฒนาไปสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจพิเศษที่นักลงทุนสามารถเข้าไปลงทุนทำธุรกิจได้อย่างดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันทั้งในเรื่องสาธารณูปโภคและแรงงานถูก รวมทั้งการมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทุนอย่างมากมาย
แต่รัฐบาลกัมพูชา ไม่มีนโยบายให้ จ.เกาะกงเป็นจังหวัดพิเศษ ที่แยกตัวออกมาจากระบบเศรษฐกิจของประเทศ แต่ต้องการให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศที่จะสามารถพัฒนาให้ จ.เกาะกง เป็นแหล่งลงทุนทางเศรษฐกิจไม่ด้อยกว่าเมืองสีหนุวิลล์ที่เป็นเมืองท่า เมืองตากอากาศของประเทศ ที่ติดกับประเทศเวียดนาม แต่สำหรับ จ.เกาะกงติดกับประเทศไทย
“อีก 2 ปี ไฟฟ้าของประเทศกัมพูชาจะถูกลง หลังเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ในเกาะกง ที่เอกชนจีนได้ก่อสร้างภายใต้ความช่วยเหลือจากรัฐบาลจีน เสร็จและพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้แก่ภาคธุรกิจของกัมพูชาได้ พร้อมกันนี้ธุรกิจการขนส่งสินค้าจะหันมาสู่ จ.เกาะกง มากขึ้น ทั้งการที่เกาะกงจะมีการก่อสร้างสถานีขนส่งทางบกเพื่อรองรับการขนส่งโดยรถคอนเทนเนอร์ ที่ปัจจุบันมีการขนส่งทางบกเพิ่มมากขึ้น หลังจากมีถนนสาย 48 แต่มีปัญหาในเรื่องถนนที่สูงขึ้นทำให้การขนส่งทางรถคอนเทนเนอร์ไม่สะดวก จะต้องมีการแก้ไขบ้างในบางช่วง ส่วนการขนส่งโดยรถยนต์บรรทุกขนาดอื่นได้รับความนิยมสูงและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 2-3 เท่าตัวในปัจจุบัน”
นอกจากนี้ การเติบโตทางธุรกิจของ จ.เกาะกงในปัจจุบัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ของเอกชนมาเปิดสาขาทำธุรกรรมทางการเงินใน จ.เกาะกงเมื่อช่วงต้นปี 2552 และมีตู้เอทีเอ็มให้บริกา มีการลงทุนก่อสร้างอาคารพาณิชย์หลายแห่งและขยายไปตามเส้นทางสายที่ 48 ทำให้ตัวเมืองเสาธงในเขตเทศบาล มีความหนาแน่นขึ้น มีการลงทุนโรงแรมระดับ 3 ดาว ริมแม่น้ำครางครืนกว่า 10 แห่ง มีห้องพักเพิ่มขึ้นกว่า 400-500 ห้อง
ทำให้นักท่องเที่ยวจาก จ.สีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางมาพักผ่อน จนทำให้การท่องเที่ยวของ จ.เกาะกงเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มันเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการเห็นเกาะกงเติบโตในธุรกิจด้านนี้ เพราะเกาะกงไม่ใช่มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีเกาะที่สวยงาม ชายหาดที่ยาว น้ำทะเลใส รวมทั้งยังมีป่าชายเลนที่มีขนาดใหญ่ระดับแถวหน้าของภูมิภาคและยังมีความงดงามอยู่ แต่ จ.เกาะกงจะต้องมีการพัฒนาในเรื่องนี้ต่อไป
“ผมเห็นว่าผู้ว่าราชการ จ.เกาะกง คนใหม่ คือ นายบุญเลิด พรหมณ์เกสร เป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลสามารถจะยกระดับและพัฒนาให้ จ.เกาะกงเติบโตตามเป้าหมายของรัฐบาลได้ ซึ่งในขณะนี้ผมและผู้ว่าฯเกาะกง ได้ร่วมกันประชุมเพื่อแก้ปัญหาการทำธุรกิจใน จ.เกาะกงในหลายด้าน โดยเฉพาะการทำไม้แปรรูปหรือการทำประมงในน่านน้ำกัมพูชา เพื่อนำรายได้เหล่านี้มาพัฒนา จ.เกาะกงให้เติบโตเป็นเมืองหลักทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต และจะสามารถเติบโตได้ไม่ยากนักเพราะ จ.เกาะกงมีหมดทุกอย่างพร้อมหมด ขาดเพียงบุคลากรและการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้น”
สิ่งที่จะเห็นในอนาคตของ จ.เกาะกงก็คือ แหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หากสามารถเจรจากับรัฐบาลไทยได้ก็จะสามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาประเทศได้ จ.เกาะกงก็จะเป็นเป้าหมายแห่งหนึ่งในการพัฒนาจนกลายเป็นเมืองเพื่ออุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวควบคู่กันไป แต่ขณะนี้ยังเจรจาไม่ได้เพราะ 2 รัฐบาลยังขัดแย้งกันอยู่อาจจะทำให้การนำก๊าซและน้ำมันในทะเลยังต้องรอต่อไป อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าทั้ง 2 ประเทศจะเจรจาหาข้อยุติได้ในอนาคต
สำหรับ ธุรกิจส่วนตัวในเครือแอล วาย บี กรุ๊ป จ.เกาะกง และในจังหวัดอื่น ๆ ของกัมพูชา คงจะลดบทบาทในเรื่องของกาสิโน เพื่อไปลงทุนธุรกิจอื่น ๆ เช่น การลงทุนในเรื่องโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ในพนมเปญและจังหวัดอื่น ๆ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ หรือ การลงทุนร่วมกับกลุ่มผลิตน้ำตาลทราย (วังขนาย) ของ จ.ขอนแก่น สร้างโรงงานผลิตน้ำตาลทรายในประเทศปัจจุบันได้เริ่มหีบอ้อยอย่างเป็นทางการแล้ว และจะเปิดโรงงานในเดือนมกราคม 2553 ซึ่งจะมีกำลังการผลิตมากกว่า 1,000 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ จะร่วมทุนกับนักธุรกิจต่างประเทศ ลงทุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยวในอีกหลายธุรกิจและการส่งออก-นำเข้าสินค้า เนื่องจากปัจจุบันโลกได้เปลี่ยนแปลงไปต้องมีการปรับการทำธุรกิจใหม่ให้เข้ากับยุคสมัย
อนึ่ง นาย พัด สุภาภา ปัจจุบัน อายุ 53 ปี เป็นคน อ.เสาธง จ.เกาะกง แล้วอพยพเข้ามาอยู่ใน จ.ตราด ยุคที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กระทั่งเมื่อสงครามยุติได้กลับเข้าไปกัมพูชาและทำงานกับ นายก๊ก อาน จนกระทั่งสามารถก้าวมาเป็นนักธุรกิจระดับหมื่นล้านบาท และปัจจุบันได้รับการผลักดันจากสมเด็จฯฮุนเซนให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ เป็นสมาชิกวุฒิสภา จ.เกาะกง เคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสูงสุดเท่าที่ประชาชนจะได้รับ คือ บรรดาศักดิ์ระดับออกญา
ปัจจุบัน นายพัด สุภาภา จะใช้ชื่อในกัมพูชาว่า “ลี ยง พัด” (Lee Yoon Patra) เป็นเจ้าของธุรกิจในเครือของบริษัท แอลวายบี กรุ๊ป จำกัด (LYB GROUP) ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจหมายเลข 2 ของประเทศกัมพูชา