xs
xsm
sm
md
lg

นอร์ธเวสต์ เที่ยวบิน 253 กับรูรั่วครั้งใหญ่ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวความพยายามของนักศึกษาหนุ่ม วัย 23 ปี ชาวไนจีเรีย ที่มีนามว่า อูมาร์ ฟารูก อับดุลมุตอลลับ ในการจุดระเบิดพลาสติกที่ซุกซ่อนมาเป็นอย่างดีในกางเกงชั้นในของตัวเอง บนเที่ยวบินที่ 253ของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ส ที่เดินทางจากนครอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ มุ่งหน้ายังเมืองดีทรอยต์ ในมลรัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคมปีที่แล้ว นับเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาและตกตะลึงไปทั่วโลก เพราะถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของพวกสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายที่มีแนวคิดอันสุดโต่งในการก่อวินาศกรรมสะเทือนขวัญ เพื่อสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกัน แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ เหตุสะเทือนขวัญรับวันคริสต์มาสในครั้งนี้ ถือเป็นความพยายามลอบโจมตีสหรัฐฯ “แบบจะจะ” หนแรกที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลเดโมแครต ภายใต้การนำของประธานาธิบดีผิวสีอย่างบารัค โอบามา
การกระทำอันอุกอาจของอับดุลมุตอลลับซึ่งมีมารดาเป็นชาวเยเมน และมีมหาเศรษฐีระดับแนวหน้าของทวีปแอฟริกาอย่าง อัลฮาจิ อูมารู มุตอลลับ อดีตประธานธนาคาร “เฟิร์สต์ แบงก์ ออฟ ไนจีเรีย” เป็นบิดาในครั้งนี้ เปรียบเสมือนกับเป็นการ “ตบหน้า” ประธานาธิบดีโอบามา รวมทั้งบรรดาหน่วยข่าวกรองต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ แบบฉาดใหญ่ นอกจากนั้น ความพยายามของหนุ่มน้อยจากไนจีเรียผู้นี้ยังแสดงให้เห็นว่า แท้ที่จริงแล้ว มาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของชาวอเมริกัน และประสิทธิภาพด้านข่าวกรองของทางการสหรัฐฯ หลังเหตุการณ์ก่อวินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 ยังคงมี “รูรั่วรูเบ้อเริ่ม”
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ ประธานาธิบดีโอบามา ผู้นำสหรัฐฯ วัย 48 กะรัต จะฉุนขาดและหมดความอดทน ถึงขั้นที่ต้องเรียกประชุมทีมงานด้านความมั่นคงและตัวแทนหน่วยสืบราชการลับต่างๆ เป็นกรณีพิเศษที่ทำเนียบขาว เมื่อวันอังคาร (5) ที่ผ่านมา พร้อมกับการกล่าวตำหนิอย่างรุนแรงต่อความล้มเหลวด้านการข่าว และการทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานข่าวกรองชื่อดังทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น สำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ), สภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ), และศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (เอ็นซีซี) ที่ปล่อยให้อับดุลมุตอลลับเล็ดลอดขึ้นสู่ เที่ยวบิน 253 ของนอร์ธเวสต์ได้โดยไม่ระแคะระคาย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานว่า บิดาของคนร้ายรายนี้เคยถ่อสังขารของตัวเองในวัย 70 ปีไปแจ้งถึงพฤติกรรมและแนวคิดหัวรุนแรงสุดขั้วของบุตรชายคนสุดท้องของตนต่อสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำไนจีเรียมาแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายนปีก่อน
ด้านจอห์น โอ. เบรนแนน อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการตะวันออกกลางของซีไอเอ ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยและที่ปรึกษาพิเศษด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและการต่อต้านการก่อการร้ายให้กับผู้นำสหรัฐฯ ระบุว่า มีหลักฐานมากมายที่ยืนยันถึงการทำหน้าที่แบบ “ไร้จิตสำนึก” ของหน่วยข่าวกรองต่างๆที่เกือบเป็นต้นเหตุให้เกิด “โศกนาฏกรรมกลางเวหา” เมื่อวันคริสต์มาสที่ผ่านมา ทั้งหลักฐานที่ว่า เจ้าหน้าที่ซีไอเอ แทบไม่ได้กระดิกตัวทำอะไรเลยเมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับอับดุลมุตอลลับจากสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงอาบูจาของไนจีเรีย โดยทางซีไอเอใช้ข้ออ้างว่า บิดาของคนร้ายรายนี้ยังไม่ได้บอกว่าลูกชายของตัวเองมีแผนการจะโจมตีสหรัฐฯ จึงยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น พร้อมกับโยนเรื่องต่อไปให้กับศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (เอ็นซีซี) แทน
นอกจากซีไอเอแล้ว เบรนแนน ยังเผยว่าสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เอ็นเอสเอ) เอง ก็ได้รับทราบข้อมูลจากการดักฟังโทรศัพท์ล่วงหน้านานถึง 4 เดือนแล้วว่าจะมีคนร้ายซึ่งเป็นชาวไนจีเรีย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มอัลกออิดะห์แห่งคาบสมุทรอาระเบีย (เอคิวเอพี) ลงมือก่อเหตุระเบิดโจมตีสหรัฐฯ ในวันคริสต์มาส แต่ทางเอ็นเอสเอกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อป้องกันเหตุร้ายครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า “คงมีหน่วยงานอื่นดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว”
และที่ “งามหน้าไม่แพ้กัน” คือ การออกมาแถลงของ เอียน เคลลี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ที่พูดแบบหน้าตาเฉยว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อเหตุสะเทือนขวัญที่เกือบจะกลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เนื่องจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงอาบูจา “มีหลักฐานไม่เพียงพอ” ที่จะระงับวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ของอับดุลมุตอลลับ แม้ว่าบิดาของเขาจะได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่สถานทูตถึงแนวคิดอันสุดโต่งของบุตรชาย ตั้งแต่พฤศจิกายนปีก่อนแล้วก็ตาม นอกจากนั้น ยัง “โยนบาป” ด้วยการระบุว่าจริงๆแล้ว หน่วยงานหลักที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเรื่องนี้ คือ ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ (เอ็นซีซี) เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศไม่มีอำนาจในการพิจารณาระงับหรือเพิกถอนวีซ่าของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายแต่อย่างใด
การทำงานอย่างไร้ประสิทธิภาพของหน่วยข่าวกรองอเมริกันที่มักโอ้อวดสรรพคุณตัวเองว่า “เก่งที่สุดในโลก” รวมทั้ง การขาดความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในคราวนี้เกือบทำให้ ชาวอเมริกันต้องเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดังนั้น หลายฝ่ายจึงพากันลงความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่บรรดาหน่วยข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ จะต้องถูกปฏิรูปครั้งใหญ่เสียที แม้นักวิเคราะห์จากหลายสำนักจะลงความเห็นว่า การยกเครื่องหน่วยข่าวกรองเพื่อ “อุดรูรั่ว” ด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจไม่ใช่งานง่ายสำหรับประธานาธิบดีโอบามาก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ก็ได้รับ “บทเรียนอันมีค่า” จากความพยายามที่ไม่ประสบผลสำเร็จของอับดุลมุตอลลับจากไนจีเรียคราวนี้ และคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า มะกันชนทั้งหลายควรหันมาท่องคำพูดประโยคที่ว่า “ ความประมาทเป็นหนทางไปสู่ความตาย” เสียให้ขึ้นใจ ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้กับชีวิตและทรัพย์สินของตัวเองซ้ำรอยเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น