xs
xsm
sm
md
lg

เทวดาสร้างพระทองคำ

เผยแพร่:   โดย: อัญชะลี ไพรีรัก

ก่อนวันคริสต์มาส 1 วัน...ข่าวจากหนังสือพิมพ์รายงานว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ พร้อมด้วย พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสวมพระเกตุมาลาพระพุทธสุวรรณปฏิมากร ในพิธีสมโภชพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เขตสัมพันธวงศ์

หลังวันคริสต์มาส...นึกอยากไปชมพระมหามณฑปฯ ดังกล่าว ที่วงการศิลปินลือลั่นกันว่า งดงามจับใจสมกับเป็นฝีมือการออกแบบของ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปสถาปัตยกรรม ผู้ฝากผลงานสถาปัตยกรรมไทยไว้กับแผ่นดินสยามมากมาย

สัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่...เลือกวันที่รถราติดน้อยที่สุด นัดแนะกับ “เจ๊เซี๊ยม-ร้านบ๊ะจ่างพรพรรณ สวนมะลิ 2” หนึ่งในหัวเรือใหญ่คณะร้อยบุปผาฯ ไปกราบไหว้ขอพรจากหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตร ที่สวยงามศักดิ์สิทธิ์ และชื่นชมความงามของพระมหามณฑปฯ ที่กำลังอยู่ในช่วง 9 วัน 9 คืน แห่งพิธีสมโภชยิ่งใหญ่ โดยมีเนวิน ชิดชอบ อาสาเป็นแม่งานใหญ่ จัดงานสมโภชอลังการเต็มไปด้วยเทคนิคทันสมัย แสง สี เสียง แพวพราว

เมื่อไปถึงได้พบกับพี่เล็ก และพี่แตน 2 สาวพันธมิตรฯ แนวร่วมผู้หญิงกับการเมืองจากคณะร้อยบุปผาฯ ซึ่งเป็นผู้กว้างขวางย่านวงเวียนโอเดียน เยาวราช ได้พาไปหาที่นั่ง และเข้าร่วมในพิธีประเคนจัตุปัจจัยฯ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่มาร่วมพิธีสวดพระปริตร ในพิธีสมโภชพระมหามณฑปฯ ด้วย

วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร อยู่แถววงเวียนโอเดียน เขตสัมพันธวงศ์ ตามประวัติที่อ่านจากหอประวัติศาสตร์ เยาวราช ซึ่งจัดแสดงในวัดไตรมิตรฯ บอกว่า วัดนี้เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่ครั้งอยุธยา เมื่อปี 2374 ถูกยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง ปี พ.ศ. 2499 วัดนี้เป็น 1 ในกลุ่มวัดสามจีน ซึ่งมีวัดสามจีน คลองบางอ้อ เทเวศร์ – วัดสามจีนเหนือ นนทบุรี (วัดโชติการาม) และวัดสามจีนใต้ (วัดไตรมิตรวิทยาราม)

เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน เพราะมิตรสหายชาวจีน 3 คนที่รักใคร่กันมาก ได้ร่วมแรงร่วมใจรวมศรัทธาสร้างศาสนสถานเพื่อบำเพ็ญกุศลและเพื่อเป็นพุทธบูชา แต่เมื่อเกิดการซ่อมแซมปรับปรุง วัดสามจีนทั้ง 3 แห่ง จึงมีชื่อเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ผันผ่าน

วัดสามจีนใต้ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม เมื่อปี พ.ศ. 2482 และยกเป็นอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหาร ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ปัจจุบันนี้วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร มีที่ดิน 14 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 1 ตารางวา 1 ตารางศอก เมื่อพระมหามณฑปฯ แล้วเสร็จ ทางคณะกรรมการวัดฯ จะดำเนินการปรับปรุงทัศนียภาพรอบๆ วัด โดยจำเป็นต้องขอคืนและรื้อถอนตึกแถวกว่า 10 ริมถนนใหญ่ เพื่อเปิดทางให้พระมหามณฑปฯ ได้อวดความงามต่อสายตาสาธารณชน

พระมหามณฑปฯ ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ถูกดำริสร้างขึ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยระดมทุนจากประชาชนจำนวนกว่า 1 พันล้านบาทในระยะเวลาอันสั้น และใช้เวลาเพียงปีเศษพระมหามณฑปฯ สูง 4 ชั้นก็แล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อเป็นสถานที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อทองคำ” ที่ชาวไทยและต่างประเทศเคารพสักการะมาเนิ่นนาน

หลวงพ่อทองคำ หรือพระพุทธทศพลญาณ ที่ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าพระราชทานนาม “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” คือ ประกายบุญที่ทอแสงรัศมี ฉาบวัดเก่าแก่แห่งนี้ให้เปล่งปลั่งระยิบระยับจับใจพุทธศาสนิกชนมาโดยตลอด จนได้รับการบันทึกใน The Guinness Book of World Record 1991 ว่า เป็นพระพุทธรูปทองคำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยองค์พระมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 5 นิ้ว หรือมากกว่า 2.50 เมตร ความสูงจากพระเกตุมาลาถึงฐานทับเกษตร (ฐานที่รองรับพระพุทธรูป) กว้าง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว หรือ 3. 04 เมตร 10 ฟุต น้ำหนัก 5.5 ตัน สร้างด้วยทองคำแท้มูลค่าประมาณ 28.5 ล้านปอนด์ (มูลค่านี้บันทึกในปี1991 หรือ 2533)

โดยองค์พระสามารถถอดได้ 9 องค์ จากฐานพระขึ้นไปเป็นทองคำบริสุทธิ์ 44 % พระพักตร์มีเนื้อทองคำ 80% ส่วนพระเกตุเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99%ด้วยความงดงามอย่างพระสุโขทัย ปางมารวิชัย จนเลื่องลือไปทั่วโลกนี้ ทำให้เกิดการสืบค้นและสันนิษฐานกันว่า พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดมหาธาตุ สุโขทัย ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า “วัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม”

ซึ่งนักประวัติศาสตร์พิจารณาตามหลักฐานอื่นๆ แล้วเห็นว่า “พระพุทธรูปทอง”นั้นน่าจะได้แก่ หลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตรฯ เป็นแน่แท้ และน่าจะเป็นของเจ้าของนายด้วย เพราะมูลค่าทองคำมากมายเกินกว่าสามัญชนพึงจะสร้างเป็นสมบัติส่วนตัว

ตำนานหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรฯ น่าสนใจใคร่ศึกษาและเผยแพร่ เพราะเขาเล่าต่อๆ กันมาว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ไปอัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเหนือ เพื่อนำมาประดิษฐานยังวัดสำคัญๆ ในยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์

คราวนั้นพระพุทธรูปที่ถูกอัญเชิญมามีมากมาย ทำให้เกิดความโกลาหลและดูแลไม่ทั่วถึง ขุนนางผู้หนึ่งจึงแอบเอาปูนไล้พระพุทธรูปทองคำด้วยเห็นว่างามนัก และขนไปประดิษฐานยังวัดที่ตนเองสร้างขึ้น

ด้วยความรีบร้อนหรือป้องกันภัย ก็มิทราบได้ พระทองคำแห่งสุโขทัยจึงซ่อนองค์ใน “ปูนปิดทอง” กลายเป็นพระประธานปูนธรรมดาๆ ที่ถูกโยนไปวัดโน้นทีวัดนี้ที จนกระทั่งมาประดิษฐานยังวัดพระยาไกร ซึ่งต่อมากลายเป็นวัดร้าง ต่อมาบริษัท อี๊สท์เอเชียติ๊กมาขอเช่าที่วัด เพื่อประกอบกิจการโรงเลื่อย เพราะทำเลดีใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาเหมาะแก่การขึ้น-ลงไม้
เมื่อวัดร้างกลายเป็นโรงเลื่อย ทางการจึงแจ้งให้วัดสามจีนเหนือ (วัดโชติการาม) และวัดสามจีนใต้ (วัดไตรมิตรวิทยาราม) มารับเอาพระประธานที่มี 2 องค์ในวัดพระยาไกรไปดูแลต่อไป

วันนั้นคณะกรรมการฯ จากวัดสามจีนเหนือ โชติการาม มาถึงก่อน จึงเลือกพระประธานองค์ดั้งเดิมที่สวยกว่าไป เหลือทิ้งไว้แต่พระประธานองค์ปูนปั้น ที่วัดไหนไม่ปรากฏมาฝากไว้ที่วัดพระยาไกรเมื่อหลายปีมาแล้ว

แน่นอนวัดสามจีนใต้ (วัดไตรมิตรวิทยาราม) มาถึงทีหลังจึงได้ “พระปูนปั้น” กลับวัดไป วันนั้นองค์พระพุทธรูปที่แสนจะใหญ่โตเทอะทะ จึงเดินทางไกลอีกหนมาถึงวัดสามจีนใต้ถิ่นคนไทยเชื้อสายจีน

เจ้าอาวาสวัดสามจีนใต้ในสมัยนั้น กับชาวบ้านชาวช่องที่เห็นแล้วอดสงสารพระปูนองค์นี้ยิ่งนัก จึงอัญเชิญองค์พระมาประดิษฐานข้างพระเจดีย์ แล้วช่วยกันปลูกเพิงหยาบๆ มุงหลังคาสังกะสีเก่าๆ กั้นไว้เพียงมิให้ต้องแดด-ตากฝน ด้วยว่าทางวัดเองก็มีพระประธานอยู่แล้ว 1 องค์ในอุโบสถ

จากวันนั้นพระประธานปูนปั้นใน “วิหารสังกะสี” ประดิษฐานด้วยความสงบในวัดสามจีนใต้ที่ภายหลังได้ชื่อว่า วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร ไม่ต้องเคลื่อนย้ายไปไหนต่อไหนอีกต่อไปเป็นเวลามากกว่า 20 ปี โดยมีชาวบ้านมากราบไหว้ และเริ่มปิดทองบนปูนหยาบกระจัดกระจายจนหนาแน่นไปทั่วไม่มัวและไม่หมองอีกต่อไป จนเลื่องลือไปทั่วว่า พระประธานอีกองค์ของวัดสามจีนมีลักษณะสวยงามแปลกตา จนพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จฯ มาทอดพระเนตรและรับสั่งว่า “ช่างงามสมคำร่ำลือนัก”

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวัดสามจีนใต้มีการสร้างพระอุโบสถ และพระวิหารหลังใหม่ จึงอัญเชิญพระประธานเข้าพระอุโบสถ และอัญเชิญพระปูนปิดทองอร่ามองค์ขึ้นประดิษฐานในวิหารหลังงาม

ใครจะรู้นอกจากสวรรค์... เพราะขณะที่ปั้นจั่นกำลังทำงานยกพระปูนทั้งองค์ขึ้นจากวิหารเก่าเพื่อเข้าประดิษฐานยังวิหารใหม่นั้น เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อปั้นจั่นไม่สามารถทานกับน้ำหนักขององค์พระได้ เชือกเกิดขาดผึงและหลุดกลางอากาศ ทำให้พระพุทธรูปองค์มหึมาตกลงมากลางวัดต่อหน้าต่อตาพระสงฆ์ และประชาชนนับร้อยๆ

เสียงพระตกลงมาสนั่นหวั่นไหว ยังไม่เท่าเสียงกรีดร้องตกอกตกใจของพุทธศาสนิกชนที่เห็นพระประธานหล่นลงมาตรงหน้า เมื่อฝูงชนปรี่เข้าไปดูเหตุการณ์ก็ผงะหงาย สีหน้าตกใจแปรเปลี่ยนเป็นประหลาดใจ ความที่พระปูนตกลงมาจากที่สูงและแรง ทำให้พระอุระแตกเป็นเสี่ยงๆ ปูนแยกออกมาเป็นชิ้นๆ มองเห็นเนื้อในสีทองเปล่งปลั่ง

เมื่อคณะกรรมการวัดเห็นเหตุการณ์ดังนั้น จึงให้ช่างปูนช่วยกันกระเทาะปูนออก วินาทีนั้นความลับจึงจบสิ้นไปกับเศษปูน เมื่อ “พระพุทธรูปทองคำ” ค่อยๆ เผยโฉมออกมาให้พุทธศาสนิกชนได้ตื่นตะลึงกับความงามล้ำค่า และล้ำเลิศสุดบรรยายของพระพุทธรูปทองคำแห่งราชอาณาจักรสุโขทัย ที่ถูกซุกซ่อนไว้ในปูนปิดทองอยู่นานแสนนาน

วิหารใหม่วัดสามจีนใต้ ที่ภายหลังคือ ไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร จึงได้เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อทองคำ” หรือพระทศพลญาณ ในเวลาต่อมา ความงามและล้ำค่าของพระพุทธรูปองค์นี้ขจรขจายไปทั่วจนกระทั่ง “อังคาร กัลยาณพงศ์” กวีซีไรต์ และ ศิลปินแห่งชาติ ถึงกับขับขานความงามของพระพุทธรูป 2 องค์ว่า “งดงามราวเทวดาปั้น” นั่นคือ พระพุทธชินราช วัดใหญ่ พิษณุโลก และหลวงพ่อทองคำ วัดไตรมิตรฯ

ศรัทธาที่มาพร้อมกับการเดินทางของเวลา ทำให้วิหารหลวงพ่อทองคำคับแคบไปถนัดตา พุทธศาสนิกชนจึงระดมพลังบุญสร้างพระมหามณฑปทองคำยิ่งใหญ่ตระการตาขึ้นมาใหม่ และหลวงพ่อทองคำก็ถึงเวลาต้องเดินทางอีกหน แต่คราวนี้เป็นการเดินทางใกล้ไม่ไกลเหมือนคราวก่อนๆ

เมื่อพระมหามณฑปฯ แล้วเสร็จ จึงเคลื่อนย้ายหลวงพ่อทองคำ คราวนี้ใช้ระบบไฮดรอลิก และรางเหล็กเคลื่อนย้าย ส่วนองค์พระถูกหุ้มด้วยพลาสติกก่อนพันด้วยผ้าดิบและพอกทับด้วยปูนพลาสเตอร์จากนั้นใส่โฟมเม็ดกันกระแทกอีกชั้นหนึ่ง แล้วทุบผนังพิหารด้านหน้าออก 2 จุด เปิดทางให้เคลื่อนองค์พระออกจากวิหารด้วยรางเหล็กและใช้รถเครนขนาด 100 ตันยกท่านวางบนรางอีกหน เพื่อเคลื่อนองค์ไปทางทิศเหนือของพระมหามณฑป แล้วใช้รถเครนอีกคันขนาด 200 ตัน ยกท่านวางขึ้นบนแท่นไฮดรอลิกยกไปถึงชั้น 4 แล้ววางลงรางเหล็กเคลื่อนเข้าสู่กลางมหามณฑป เป็นอันเสร็จ

รวมแล้วหลวงพ่อทองคำถูกย้าย 4 ครั้ง ครั้งแรกจากสุโขทัยมากรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาย้ายจากวัดพระยาไกรมาสู่วัดสามจีนใต้ แล้วย้ายจากเพิงสังกะสีมาสู่วิหารใหม่ ครั้งนี้เกิดอุบัติเหตุเปิดเผยองค์ทองคำ สุดท้ายท่านถูกย้ายขึ้น “พระมหามณฑป” และมีการจัดงานสมโภชถวายพระเกียรติยิ่งใหญ่ สมบูรณ์ด้วยโบราณประเพณี 9 วัน 9 คืน กับบทสวดพระปริตร และบทสวดถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เชื่อกันว่า วาระนี้เป็นการสิ้นสุดการเดินทางแสนไกลและยาวนานของ “หลวงพ่อทองคำ” พระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย อายุกว่า 700 ปี ที่มีคุณค่าต่อจิตใจและสวยงามสมดังคำกล่าวที่ว่า

เทวดาสร้างพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากรให้กับโลกใบนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น